"สมนึก" แนะปลูกพืชผสมยาสูบเพิ่มรายได้ (จบ)

วันจันทร์ที่ 01 เมษายน พ.ศ. 2556



จบไปแล้วหนึ่งตอนสำหรับการสนทนากับ "คุณสมนึก ยิ้มปิ่น" ผู้จัดการสมาคมชาวไร่ยาสูบเบอร์เล่ย์ ซึ่งฉบับที่แล้ว เราได้พาผู้อ่านไปรู้จักกับข้อมูลพื้นฐานของเกษตรกรตำบลทับผึ้ง อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย ที่เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่เคยได้ยินได้ฟังจากที่ไหนมาก่อนแน่นอน โดยเฉพาะการปลูกต้นยาสูบทำให้ชีวิตของเกษตรกรดีขึ้นมาก ซึ่งเขาได้ถ่ายทอดเรื่องราวได้น่าสนใจมาก โดยเขาได้บอกว่าพื้นที่ของตำบลทับผึ้งมักจะถูกน้ำท่วมบ่อยครั้งทำให้บ้านเรือนรวมถึงข้าวของเครื่องมือเครื่องใช้ถูกน้ำท่วมเสียหาย ซึ่งเกษตรกรคนหนึ่งปลูกยาสูบเนื้อที่ 5-6 ไร่เท่านั้น ก็สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำทำให้ชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้ที่เหนือสิ่งอื่นใดเป็น อาชีพที่ตกทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น และนอกจาก นี้ เขาได้บอกถึงวิธีการเพาะกล้าที่เกษตรกร นิยมทำกัน 2 แบบ คือ แบบเพาะยกร่อง และ แบบเพาะในตะกร้า
ฉบับนี้เรากลับมาสนทนาต่อรับรองว่ายังมีสาระที่น่าสนใจเช่นเดิม โดยเฉพาะการปลูกและดูแลรักษาต้นยาสูบ ซึ่งเขาได้เล่าต่อว่า "ขั้นตอนการปลูกยาสูบนั้นเกษตรกร จะรอจนกว่าต้นกล้าแข็งแรงระดับหนึ่ง หรือ มีอายุประมาณ 20-25 วัน จากนั้นก็จะเริ่มทำการย้ายต้นกล้ามาลงปลูกในแปลงดินที่เตรียมไว้ ซึ่งในช่วงย้ายต้นกล้านี้ถ้ามาดูที่แปลงปลูกจะเห็นเลยต่างคนต่างถือคนละถาดเดินเข้าไปปลูกกันเป็นแถวๆ ขั้นตอนนี้ถ้าหากแรงงานในบ้านมีน้อยหรือไม่พอก็จะจ้างคนมาช่วยกันปลูก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งการกระจายรายได้ในชุมชนเหมือนกัน ทั้งนี้ ช่วงที่ปลูกส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงปลายเดือน พฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม เป็นช่วงที่ มีสภาพอากาศเย็นและมีความชื้นพอเหมาะ สำหรับการปลูกยาสูบ โดยพื้นที่ 1 ไร่ใช้ต้นกล้าลงปลูกประมาณ 2,800-3,500 ต้น"
"หลังจากเอาต้นกล้าลงแปลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เกษตรกรก็จะเริ่มดูแลต้นกล้า ด้วยการรดน้ำเมื่อปลูกยาสูบลงแปลงทันที โดยการรดน้ำช่วงแรกจะรดน้ำวันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 3-5 วัน ต่อจากนั้นก็จะทิ้งระยะห่างในการรด 3-5 วันต่อครั้ง พอปลูกได้ประมาณ 20-25 วัน ก็จะเปลี่ยนการ รดน้ำเป็นวิธีการปล่อยน้ำเข้าตามร่องแปลง แทน โดยจะให้น้ำไม่เกิน 6 ครั้งแต่ละครั้งห่างกันไม่เกิน 7 วัน"
มาถึงตรงนี้ "คุณสมนึก" ได้บอกถึงการใส่ปุ๋ยเพื่อให้เขาโตสมบูรณ์เต็มที่ใบหนา ได้คุณภาพว่า "ปุ๋ยที่ใส่ให้ต้นยาสูบนั้นจะเป็นปุ๋ยเคมีสูตร 14-9-20 และสูตร 27-0-0 โดยจะใส่ไร่ละ 5 ถุง ถุงละ 50 กิโลกรัม ซึ่งการใส่จะใช้วิธีการหว่านไปตามร่อง และวิธีฝังโดยจะฝังให้ห่างจากต้นยาสูบประมาณ 10 เซนติเมตร ทั้งนี้ การใส่ปุ๋ยจะใส่ประมาณ 3 ครั้ง หลังการปลูกลงดิน และนอกจากนี้ก็ต้องหมั่นดูแลเรื่องโรคและแมลงศัตรูพืชด้วย ซึ่งปัญหาของโรคในต้นยาสูบนั้นจะเป็น โรคใบแก้วและโรคใบด่าง สำหรับแมลงศัตรู ก็จะเป็นพวกแมลงหวี่ขาวและหนอนที่รบกวน การใช้สารป้องกันศัตรูพืชจะใช้ชนิดที่ทางโรงงานยาสูบและผู้ส่งออกควบคุมเท่านั้น เราจะไม่ใช้ยาชนิดอื่นเพราะจะทำให้ขายไม่ได้ราคา"
"หลังจากนำต้นยาสูบลงปลูกไปแล้วประมาณ 60-70 วันก็จะเริ่มเก็บใบได้ ซึ่งการเก็บใบเราจะเริ่มเก็บจากโคนต้นขึ้นมาหายอด โดยครั้งที่ 1 จะเก็บประมาณ 5-6 ใบ จากนั้นจะเว้นประมาณ 10-15 วัน จึงจะ เก็บครั้งที่ 2 ซึ่งก็จะเก็บใบจากโคนต้นขึ้นมา อีกเหมือนกัน เก็บประมาณ 5-6 ใบเหมือนกัน และเว้นประมาณ 10-15 วัน จึงจะเก็บ ครั้งที่ 3 ซึ่งก็จะเก็บวิธีเดิมแต่จะเป็นการเก็บใบที่เหลือทั้งหมดเลย ทั้งนี้ ต้นยาสูบจะสามารถเติบโตได้อีกแต่ขนาดใบจะเล็กไม่ได้ตามที่ต้องการ ซึ่งถ้าเราปล่อยให้แตกยอดออกไปเรื่อยๆ เมื่อต้นสูงประมาณเอว เราก็จะหักยอดแล้วไม่ให้แตกยอดต่อเพื่อให้ใบที่แตกออกมาแล้วใบใหญ่และหนา ส่วนต้นก็จะเอาไว้เก็บเมล็ดต้นยาสูบไว้สำหรับเพาะพันธุ์ต้นยาสูบในปีต่อไป"
"คุณสมนึก" ได้เล่าต่อว่า "สำหรับขั้นตอนการตากใบยาสูบนั้น เมื่อเราเก็บใบยาสูบมาแล้วเราจะนำใบยาสูบที่ได้ มาเสียบ ใส่ไม้ โดยจะเสียบไม้ละ 10-11 ใบ เสร็จแล้วก็นำขึ้นแขวนผึ่งลมในโรงบ่ม เพราะว่า ใบยาสูบสายพันธุ์เบอร์เล่ย์จะใช้การบ่มแบบ ตากลม โดยจะใช้เวลาในการตากลมประมาณ 1 เดือน ใบยาจะแห้งตลอดทั้งใบ หลังจากนั้นเกษตรกรก็จะนำใบยามาทำความชื้นให้พอดี และนำใบยามามัดเป็นกำ พร้อมบรรจุ เป็นห่อ ห่อละไม่เกิน 70 กิโลกรัม และนำไป ขายให้กับสถานีรับซื้อใบยา หรือผู้ส่งออกใบยาต่อไป ทั้งนี้ ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มเพาะต้นกล้าจนกระทั่งปลูกและเก็บเกี่ยวใบยาเสร็จใช้เวลาประมาณ 4 เดือน"
"รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นบาทต่อไร่ โดยส่งผลผลิตใบยาแห้งให้โรงงานยาสูบซึ่งเขาการันตีไว้ที่เราต้องปลูกได้ 400 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ปกติแล้วพวก เราปลูกได้ใบยาสูบมากกว่า 500 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วราคาปีนี้ (2556) เขาประกันไว้ที่ 67 บาทต่อใบยาสูบ 1 กิโลกรัม ส่วนปีที่แล้ว 60 บาทต่อใบยาสูบ 1 กิโลกรัม ถ้าเฉลี่ยแล้วเราขายให้โรงงานยาสูบได้ประมาณ 65 บาทต่อใบยาสูบ 1 กิโลกรัม"
เขาได้บอกถึงสาเหตุที่ปลูกยาสูบปีละครั้งว่า "ส่วนที่บอกว่าเราปลูกได้ครั้งเดียวต่อปี แม้รายได้จะดีมากก็เพราะว่าในฤดูน้ำหลากนั้นน้ำจะท่วมทั้งหมดทุกแปลง ไม่สามารถปลูกอะไรได้เลย ซึ่งที่เราเห็นว่าเป็นแปลงปลูกต้นยาสูบพอเก็บใบยาสูบเสร็จ แล้ว เกษตรกรก็จะลงมือปลูกข้าวพอปลูกข้าวเสร็จก็จะตรงกับช่วงฤดูน้ำหลากพอดี ทั้งนี้ จึงเห็นได้ว่าในพื้นที่เพาะปลูกต้นยาสูบ จะมีพืชชนิดอื่นปลูกผสมอยู่ด้วย เราไม่ได้ปลูกต้นยาสูบอย่างเดียวแต่จะปลูกพืช หมุนเวียนเพื่อให้มีรายได้พอเลี้ยงชีพ ซึ่งต้นยาสูบสร้างรายได้ให้กับเรามาก"
ก่อนจะจบการสนทนา "คุณสมนึก" ได้ฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงการแก้กฎหมายว่า "การที่กระทรวงสาธารณสุข มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาสูบ โดยจะออกกฎหมายตัวใหม่ใช้ชื่อว่า พระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคยาสูบ ซึ่งตนอยากจะถามคนที่เขาออก พ.ร.บ. ตัวนี้ว่า แล้วรายได้ที่พวกเราทำมาหากินกันอย่างสุจริตจะหาจากที่ไหนมาทดแทนได้ ในเมื่อมีทั้งจำกัดการติดต่อพูดคุยระหว่างชาวไร่ยาสูบและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องถามว่าเจ้าหน้าที่ของโรงงานยาสูบคือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ แล้วห้ามแบบนี้เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือเปล่า เรารู้สึกว่าเราเหมือนโดนสังคมมองว่าเป็นผู้ร้าย ทำให้คนเป็นมะเร็ง แต่ลองดูกันตามจริงคนไม่สูบบุหรี่ก็เป็นมะเร็งเหมือนกัน ตรงนี้ตนอยากฝากให้คิดกันบ้าง อย่างพวกผมปลูก ต้นยาสูบกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษแล้ว และเป็นรายได้หลักที่ทำให้เรามีเงินส่งลูกหลานไปเรียนจนสำเร็จการศึกษา ทำให้เรามีโอกาสดูแลบ้านของเราให้แข็งแรงหลังจาก ผ่านพ้นฤดูน้ำหลาก จะให้พวกเราไปปลูกอย่างอื่นแล้วรายได้จะมีได้เท่านี้หรือ"


บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ