“ผับ บาร์” แสนล้าน..สะดุด!! วัคซีนกระอัก! ผลิตไม่ทันขาย

วันจันทร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2564

“ผับ บาร์” แสนล้าน..สะดุด!!  วัคซีนกระอัก! ผลิตไม่ทันขาย


สถานบันเทิงราตรีเดี้ยงระนาว เจอมาตรการเข้มสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด หลังคลัสเตอร์ทองหล่อลุกลามกระจายเป็นวงกว้าง พบติดเชื้อที่ไหนสั่งปิดทันที 2 อาทิตย์ ขณะที่ไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์อังกฤษแพร่เร็วทวีคูณ 170 เท่า ด้านสมาคมภัตตาคารไทยขอความเป็นธรรมแก้เป็นจุด อย่าเหมารวมปิดร้านอาหาร 3 ทุ่ม รัฐบาลยืนยันไม่ผูกขาดจัดซื้อวัคซีนโควิด ไม่ปิดกั้นเอกชนนำเข้า แต่ปัญหาคือผู้ผลิตทำไม่ทันกับความต้องการ "หมอธีระ" แนะท้องถิ่นทำ 3 ข้อ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจสถานบันเทิงยามราตรีที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนจำนวนมหาศาลเฉียด 2 แสนล้านบาทต่อปี โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทั้งกรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ เป็นต้น ซี่งในปีที่ผ่านมาต้องสะดุดไปตามๆกันเนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้นักร้อง นักดนตรี หรือผู้ที่ทำงานในสถานบันเทิงดังกล่าวต้องหาอาชีพเสริมประทังชีวิต กระทั่งเปิดศักราชใหม่สถานการณ์ดูท่าจะดีขึ้น แต่กลับต้องมาสะดุดอีกรอบเมื่อการระบาดของโควิดรอบใหม่ก่อให้เกิดคลัสเตอร์ขยายวงกว้างจากย่านทองหล่อลุกลามเร็วราวกับไฟไหม้ทุ่งจนครอบคลุมไปทั่วประเทศ และหลายจังหวัดเริ่มออกมาตรการควบคุมสถานบันเทิงยามราตรีรอบใหม่

จาก 70 รายทะลักสู่หลักพัน

สถานการณ์การติดเชื้อในสถานบันเทิงในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบติดเชื้อเริ่มต้น 70 ราย โดยกลุ่มที่ติดเชื้อมีความเชื่อมโยงกันจาก จ.ปทุมธานี มาสู่คลับทองหล่อ ลามไปย่านเอกมัย ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ เนื่องจากนักเที่ยวนำเชื้อมาติดพนักงานและติดไปยังนักเที่ยวคนอื่น ซึ่งนักเที่ยวมักไปเที่ยวหลายร้าน และพนักงาน นักร้อง นักดนตรีก็ไปทำงานหลายร้าน ทำให้แพร่กระจายเชื้อไปร้านอื่นต่อ และนำไปติดคนในครอบครัว ปัจจัยที่ทำให้ติดเชื้อมากมาจากสถานที่เสี่ยง คือ ความแออัด การระบายอากาศไม่ดี ไม่มีการเว้นระยะห่าง และพฤติกรรมเสี่ยง คือ ไม่สวมหน้ากาก ตะโกนเสียงดัง ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ขาดสติ อาจใช้แก้วร่วมกัน เป็นต้น เหล่าดารา นักร้อง เซเลบ คนดังจำนวนมากต่างทยอยออกมาประกาศแจ้งว่าได้ตรงพบเชื้อไวรัสโควิด-19 สร้างความหวาดผวาว่าหากไม่มีมาตรการควบคุมเด็ดขาด อาจทำให้สถานการณ์รุนแรงจนยากจะควบคุม ขณะที่ กทม. คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร มีมติสั่งปิดสถานบันเทิงใน 3 เขตทันที ได้แก่ เขตวัฒนา เขตคลองเตย และเขตบางแค หลังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยมีผลตั้งแต่ 6-19 เม.ย. 64 ส่วนสถานบันเทิงในเขตอื่น ๆ หากพบผู้ติดเชื้อจะพิจารณาปิดเป็นกรณีไป

สายพันธุ์อังกฤษแพร่ทวีคูณ 170 เท่า

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สาเหตุที่เกิดการระบาดในสถานบันเทิงจำนวนมาก หรือซูเปอร์ สเปรดเดอร์ (super spreader) เพราะสถานบันเทิงเป็นที่อับ โดยระยะหลัง การศึกษาพบว่าหากอยู่ในสถานที่ปิด โรคจะแพร่ได้แม้กระทั่งทางอากาศ หรือการหายใจ อีกข้อสังเกตคือการพบผู้ติดเชื้อจากสถานบันเทิงรอบนี้ ตรวจพบปริมาณไวรัสที่คอของผู้ป่วยค่อนข้างมาก ถึงแม้ไม่มีอาการ โดยเมื่อตรวจจำเพาะหาสายพันธุ์ว่าเชื้อที่พบเป็นสายพันธุ์พื้นบ้านที่ระบาดใน จ.สมุทรสาคร หรือสายพันธุ์อังกฤษ พบว่า ผลออกมาค่อนข้างตกใจมาก เพราะผู้ติดเชื้อ 24 ราย ในสถานบันเทิงทองหล่อ เป็นสายพันธุ์อังกฤษเหมือนกันทั้งหมด ซึ่งสายพันธุ์นี้แพร่ระบาดเร็วมาก ติดต่อง่ายกว่าสายพันธุ์ธรรมดาประมาณ 1.7 เท่า ขณะที่มาตรการของเรา หากเทียบกับปีที่แล้วที่เรามี ล็อกดาวน์ เคอร์ฟิว ห้ามขายแอลกอฮอล์ ปิดโรงเรียน ปิดสถานประกอบการ เลื่อนสงกรานต์ ดังนั้นมาตรการปีที่แล้วกับปีนี้ห่างกัน 10 เท่าเช่นกัน เชื้อแพร่เร็วมากกว่าเดิม 10 เท่า แต่มาตรการลดหย่อน 10 เท่า ดังนั้นเชื้อจึงจะแพร่กระจายเป็น 100 เท่า และเมื่อเจอเป็นสายพันธุ์อังกฤษอีกที่แพร่กระจายได้ง่าย 1.7 เท่า ก็จะเป็น 170 เท่า ยิ่งทวีคูณเข้าไปใหญ่

นายกฯสั่งเข้มพบผู้ติดเชื้อปิดทันที

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานบริการต่างๆ รัฐบาลจึงเน้นมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ โดยเริ่มแล้วตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย.64 เป็นต้นไป โดยมีรายละเอียดคือ 1.กรณีพบผู้ติดเชื้อในสถานประกอบการแห่งใดแห่งหนึ่ง ให้ปิดสถานประกอบการนั้นๆเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ 2.กรณีพบผู้ติดเชื้อในสถานประกอบการหลายแห่งให้พื้นที่ใกล้เคียงกัน ให้ปิดสถานประกอบการในพื้นที่นั้นๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ 3.กรณีมีการแพร่ระบาดในสถานประกอบการหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดใด ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. พิจารณาปิดสถานประกอบการในพื้นที่ทั้งจังหวัด/กทม. เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์

ผับ-บาร์ 2 แสนล้านสะดุด

รายงานของ Nikkei Asian Review “Pandemic dims lights on Thailand’s $5bn nightlife sector” เมื่อต้นปี 2563 ประมาณการว่า ธุรกิจบริการภาคกลางคืนของไทยมีมูลค่ารายได้สูงถึง 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯหรือราว 1.8 แสนล้านบาท ขณะที่มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ (Empower Foundation) องค์กรด้านสิทธิของผู้ขายบริการทางเพศรวมถึงแรงงานในสถานบันเทิงยามค่ำคืน ระบุว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจของธุรกิจสถานบันเทิงยามค่ำคืนสูงถึง 6.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 2.1 แสนล้านบาทต่อปี ขณะที่รายงานของสำนักข่าว CNN สหรัฐฯ เรื่อง “Best party cities around the world” เกี่ยวกับ 10 เมืองโดดเด่นด้านท่องเที่ยวยามราตรี ช่วงปี 2562 ปรากฏว่าหนึ่งในนั้นมี “กรุงเทพฯ” ติดโผอยู่ด้วย เช่นเดียวกับเมืองลาสเวกัส ไมอามี และนิวยอร์ก ของสหรัฐฯ, เมืองบาร์เซโลนา ของสเปน, กรุงเบอร์ลิน ของเยอรมนี, กรุงโซล ของเกาหลีใต้ เป็นต้น ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ต่างได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

วัคซีนผลิตไม่ทันรัฐยืนยันไม่ผูกขาด

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากกรณีที่ยังมีการเผยแพร่ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนให้ประชาชนเกิดความสับสนโดยต่อเนื่องว่า รัฐบาลผูกขาดการนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อยู่ที่ผู้ผลิตเพียงไม่กี่บริษัท และยังแสดงข้อความที่ทำให้เข้าใจว่ารัฐบาลปิดกั้นไม่ให้เอกชนนำเข้าวัคซีนนั้น รัฐบาลขอย้ำอีกครั้ง แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ชี้แจงกรณีนี้ในหลายโอกาสแล้วว่า รัฐบาลไม่ได้ผูกขาดการจัดซื้อวัคซีนเพียงบางบริษัท และไม่ได้ปิดกั้นที่เอกชนจะนำเข้าวัคซีนแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ประเด็นที่ทุกฝ่ายต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนคือ เวลานี้ความต้องการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากทุกประเทศทั่วโลกมีสูงกว่าความสามารถในการผลิตของผู้ผลิตทุกราย หรือเรียกว่าดีมานมากกว่าซัพพลาย ตลาดเป็นของผู้ขายไม่ใช่ผู้ซื้อ และผู้ผลิตทุกรายซึ่งผลิตวัคซีนด้วยมาตรฐานสากล ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก(WHO) เวลานี้ก็ผลิตเพื่อส่งให้ประเทศต่างๆ ที่ทำการสั่งซื้อไว้แล้วเป็นหลักเท่านั้น

โดยข้อมูลของของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่รวบรวมจากแหล่งต่างๆ พบว่า ณ วันที่ 5 เม.ย. 2564 ทุกประเทศทั่วโลกมียอดจองวัคซีนโควิด-19 รวมสูงถึง 9,600 ล้านโดส เพราะหลายประเทศมีคำสั่งซื้อสูงกว่าจำนวนประชากร 2-3 เท่าตัว ขณะยอดวัคซีนที่มีการฉีดแล้วอยู่ที่ 658 ล้านโดส แสดงให้เห็นว่าผู้ผลิตยังต้องผลิตตามยอดคำสั่งซื้อของรัฐบาลประเทศต่างๆ อีกจำนวนมาก

ดังนั้น แม้ขณะนี้รัฐบาลจะนำเข้าวัคซีนจากบริษัทคือซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า แต่ก็มีความพยายามจัดหาวัคซีนจากบริษัทอื่นเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอกับประชาชนในประเทศ แต่ยังมีข้อจำกัดการผลิตของบริษัทรายอื่นที่ยังไม่เพียงพอตามข้อมูลข้างต้น

น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อว่า ยังมีอีกประเด็นสำคัญที่ยังไม่มีการกล่าวถึงกันมากนักคือ วัคซีนจากผู้ผลิตทุกรายในเวลานี้เป็นการใช้แบบกรณีฉุกเฉิน (Emergency Use) นั่นคือหากเกิดอะไรขึ้นจากการใช้วัคซีนกับประชาชน รัฐบาลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบไม่ใช่บริษัทผู้ผลิต จึงทำให้ขณะนี้เกือบทุกประเทศทั่วโลกรัฐบาลจะเป็นผู้จัดหาและนำเข้าวัคซีน โดยถือว่าวัคซีนเป็นสินค้าสาธารณะ (Public Goods) ยังไม่มีประเทศใดที่ให้ซื้อวัคซีนโควิด-19ได้เองแบบเชิงพาณิชย์ (Commercial) และยังมีประเด็นที่รัฐบาลต้องระมัดระวังอีกคือ เมื่อกระจายการสั่งซื้อไปยังเอกชนแล้วอาจจะต้องบริหารจัดการอย่างรัดกุมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาว่าประชาชนได้รีบวัคซีนปลอม

“ขณะนี้ยังคงมีความพยายามสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเรื่องวัคซีนโควิด-19 โดยเฉพาะประเด็นการนำเข้าโดยเอกชน ซึ่งในประเด็นนี้รัฐบาลไม่ขัดข้องที่เอกชนจะนำเข้า แต่ปัญหาอยู่ที่ความต้องการวัคซีนทั่วโลกมีสูงกว่าความสามารถในการผลิต ทำให้เอกชนเองก็หาวัคซีนไม่ได้ ขณะเดียวกันผู้ผลิตวัคซีนหลายรายก็ไม่ขายให้รายย่อย เช่น จอห์นสันแอนด์จอห์นสันก็บอกชัดเจนว่าในระยะแรกจะขายให้หน่วยงานของรัฐเท่านั้น ของจีนก็ต้องมีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้สั่ง สถานการณ์วัคซีนทั่วโลกเวลานี้เป็นแบบนี้ แต่แนวทางของรัฐบาลเองชัดเจนว่าหากเอกชนรายใดหาวัคซีนได้ องค์การอาหารและยา(อย.)ก็พร้อมออกใบอนุญาตให้อยู่แล้ว” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ได้รับการรับรองจาก อย. และขึ้นทะเบียนในประเทศไทยแล้ว 3 บริษัท คือ ซิโนแวค แอซตร้าเซนเนกา และ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ส่วนที่อยู่ในขั้นตอนยื่นเอกสารแบบต่อเนื่อง หรือ rolling submission คือวัคซีนของบริษัท บารัต ไบโอเทค เทคโนโลยี ประเทศอินเดีย นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด นอกจากนี้ ยังมีส่วนที่อยู่ในขั้นตอนการหารือกับ อย. เพื่อเตรียมการยื่นคำขอขึ้นทะเบียน คือวัคซีนโมเดอร์นา จากสหรัฐฯ วัคซีนสปุตนิก ไฟว์ จากรัสเซีย และวัคซีน ซิโนฟาร์ม จากจีน

"หมอธีระ" แนะท้องถิ่นทำ 3 ข้อ

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความตอนหนึ่งว่า...สิ่งที่หน่วยงานในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในแต่ละจังหวัดจะทำได้ เพื่อปกป้องถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเองไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคคือ 1. ตัดสินใจประกาศงดกิจกรรมงานประเพณี และกิจกรรมเฉลิมฉลองต่างๆ ในพื้นที่ของตนเอง และรณรงค์ให้สรงน้ำพระที่บ้าน 2. ร่วมแรงร่วมใจกันคัดกรองคนเดินทางเข้าพื้นที่ และช่วยกันสังเกตอาการผิดปกติ หากมีใครไม่สบาย ให้รีบนำเข้าสู่ระบบตรวจและรักษา ทำทะเบียนประวัติและรายละเอียดการติดต่อของคนเดินทางเข้าออกพื้นที่ เพื่อจะได้ใช้ในการตรวจสอบหรือติดตามเวลาเกิดปัญหาในภายหลัง 3. จัดระเบียบและเฝ้าระวังสถานที่สาธารณะ เช่น ตลาดสด ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า สนามเด็กเล่น ร้านอาหารและเครื่องดื่ม สถานบันเทิง งานแต่ง งานศพ งานบวช งานวัด การจัดกิจกรรมกลุ่มในสถานที่ต่างๆ ขนส่งสาธารณะ โรงงาน โรงหนัง โรงพยาบาล



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ