รฟม.แจงยิบ! ค่าตั๋วรถไฟฟ้าแพง

วันจันทร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2564

รฟม.แจงยิบ! ค่าตั๋วรถไฟฟ้าแพง


ตามที่สื่อมวลชนได้มีการนำเสนอข่าวในประเด็น ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 25 บาท โดยได้มีการกล่าวถึงโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) และโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ว่าเป็นโครงการที่รัฐบาลได้ลงทุนค่าก่อสร้างให้ทั้งหมด เหตุใดถึงไม่ลดค่าโดยสารเหลือ 10-25 บาท นั้น

 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าโดยสาร โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนตามสัญญาสัมปทานของ รฟม. ดังนี้

1.รฟม. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ตามกฎหมาย โดยปัจจุบันมี 4 โครงการที่ลงนามในสัญญาสัมปทานแล้ว ได้แก่ 1. โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว 2.โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว 3. โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง) 4.โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง)

2.โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทั้ง 4 สายทางดังกล่าว รฟม. (ภาครัฐ) รับภาระค่าลงทุนงานโครงสร้างพื้นฐานทางโยธา ในขณะที่ภาคเอกชนรับภาระค่าลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า ทั้งนี้ ในโครงการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน เนื่องจากเป็นโครงการก่อสร้างที่มีแนวเส้นทางเป็นโครงสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินกว่าร้อยละ 50 อีกทั้งยังมีแนวเส้นทางที่ต้องผ่านพื้นที่ชั้นในเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ ลอดผ่านใต้แม่น้ำเจ้าพระยา มีความยากในการก่อสร้างและมีความเสี่ยงในการดำเนินการหลายแห่ง จึงทำให้มูลค่าลงทุนโครงการสูงกว่าโครงการรถไฟฟ้ายกระดับ (โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว) ถึง 3 เท่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าที่ผู้รับสัมปทานต้องแบกรับด้วย ในทางกลับกันปริมาณผู้โดยสารของโครงการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน กลับน้อยกว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวกว่ากึ่งหนึ่ง จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ภาคเอกชนลงทุนโครงการทั้งหมด ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ รฟม. (ภาครัฐ) ต้องเป็นผู้รับภาระค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางโยธา เพื่อจูงใจให้เอกชนสนใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุนโครงการ

3.หลักเกณฑ์การคิดอัตราค่าโดยสารในโครงการรถไฟฟ้ามหานครของ รฟม. เป็นการคิดตามมาตรฐาน MRT Assessment Standardization ประกอบกับ รฟม. ได้มีการกำหนดเพดานค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 12 สถานีด้วย ซึ่งหากพิจารณาโครงการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ซึ่งมีระยะทางรวม 48 กิโลเมตร จะเห็นว่าประชาชนมีภาระค่าโดยสารเฉลี่ยเพียง 0.88 บาท/กิโลเมตร เท่านั้น ซึ่งเป็นอัตราค่าโดยสารที่เป็นธรรม มีความเหมาะสมและประชาชนยอมรับได้ นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม และ รฟม. ได้พยายามลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน โดย รฟม. ได้กำหนดให้ประชาชนไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนเมื่อเดินทางข้ามสายในโครงข่ายรถไฟฟ้าของ รฟม. ในกรณีที่มีการเดินทางเชื่อมต่อระหว่าง MRT สายสีน้ำเงินและ MRT สายสีม่วง รวมไปถึงการเชื่อมต่อไปยังสายสีเหลืองและสายสีชมพูที่จะเปิดให้บริการในปี 2565 ต่อไปด้วย นอกจากนี้ สำหรับโครงการ MRT สายสีม่วง รฟม. ยังได้เคยปรับลดค่าโดยสารโดยเก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาทอีกด้วย (ตั้งแต่ปลายปี 2562 ถึงต้นปี 2564)

ล่าสุด มีข่าวเผยแพร่บนสื่อสาธารณะ เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2564 อ้างอิงถึงข้อความใน Facebook  ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ที่ระบุหัวข้อว่า “ดูกันชัดๆ อีกที ค่าโดยสารรถไฟฟ้า กทม. หรือ รฟม. ถูกกว่า?” ทาง รฟม. ได้เผยแพร่ข่าวชี้แจงข้อเท็จจริง เรื่อง การกำหนดอัตราค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนตามสัญญาสัมปทานของ รฟม. ฉบับที่ 2 ทันที

โดย รฟม.ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) และโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ดังนี้

1.การเดินทางที่ไกลที่สุดจาก MRT สายสีม่วงไปยัง MRT สายสีน้ำเงินอยู่ที่ประมาณ 59 กิโลเมตร โดยมีอัตราค่าโดยสาร 70 บาท ซึ่งหากพิจารณาแล้วจะเห็นว่า ประชาชนมีภาระค่าโดยสารเฉลี่ยเพียง 1.18 บาท/กิโลเมตร เท่านั้น ซึ่งถูกกว่าภาระค่าโดยสารเฉลี่ยของ กทม. และไม่ได้เป็นไปตามที่ถูกกล่าวอ้าง

2.เนื่องจากโครงการ MRT สายสีน้ำเงิน เป็นโครงการก่อสร้างที่มีแนวเส้นทางเป็นโครงสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินกว่าร้อยละ 50 อีกทั้งยังมีแนวเส้นทางที่ต้องผ่านพื้นที่ชั้นในเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ ลอดผ่านใต้แม่น้ำเจ้าพระยา มีความยากในการก่อสร้างและมีความเสี่ยงในการดำเนินการหลายแห่ง จึงทำให้มูลค่าลงทุนโครงการสูงกว่าโครงการรถไฟฟ้ายกระดับ (โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว) ถึง 3 เท่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าที่ผู้รับสัมปทานต้องแบกรับด้วย ในทางกลับกันปริมาณผู้โดยสารของโครงการ MRT สายสีน้ำเงิน กลับน้อยกว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวกว่ากึ่งหนึ่ง จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ รฟม. (ภาครัฐ) ต้องเป็นผู้รับภาระค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางโยธา เพื่อจูงใจให้เอกชนสนใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการ เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ภาคเอกชนลงทุนโครงการทั้งหมด

3.การพิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม มีปัจจัยสำคัญประกอบการพิจารณา ได้แก่ พฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสาร ระยะเดินทางเฉลี่ยของผู้โดยสาร ความเต็มใจในการจ่ายค่าโดยสารของประชาชน (Willingness to pay) เป็นต้นดังนั้น หากเปรียบเทียบการเดินทางเฉลี่ยของประชากรใน กทม. บนโครงข่ายรถไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 8 สถานีต่อเที่ยว จะเห็นได้ว่า การเดินทางใน MRT สายสีม่วง จะมีค่าโดยสารอยู่ที่ 33 บาท และ MRT สายสีน้ำเงินอยู่ที่ 31 บาท ในขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีค่าโดยสารเมื่อเดินทาง 8 สถานี ในโครงสร้างอัตราค่าโดยสารปัจจุบันอยู่ที่40 บาท ซึ่งจะพบว่าอัตราค่าโดยสารของ MRT สายสีม่วงและสายสีน้ำเงิน จะต่ำกว่าประมาณร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทั้งนี้ แนวทางการกำหนดอัตราค่าโดยสารของ รฟม. เป็นไปตามผลการคัดเลือกเอกชนที่กำหนดภาระของรัฐและประชาชนที่ต่ำที่สุดมาโดยตลอดและมิอาจเปรียบเทียบกับแนวทางอื่นๆ ตามที่นักวิชาการดังกล่าวกล่าวอ้างโดยปราศจากข้อมูลที่ รฟม. อ้างอิง



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ