เอกชนหัวใสเลี่ยงภาษี... จี้รัฐต้องจริงจังบังคับใช้กฎหมาย..

วันพุธที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2564

เอกชนหัวใสเลี่ยงภาษี... จี้รัฐต้องจริงจังบังคับใช้กฎหมาย..


ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังปั่นป่วนจากโควิด ฐานะทางการเงินของแต่ละประเทศจำเป็นที่จะต้องได้รับการเยียวยาและแก้ไขอย่างเป็นระบบและเป็นธรรม และนี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลควรที่จะศึกษาหาทางปรับปรุงแนวทางการเก็บภาษีให้ถูกต้องและกระจายภาระความรับผิดทางภาษีให้ทั่วถึง เช่น คนรวยควรที่จะต้องรับภาระภาษีให้มากกว่าคนที่มีฐานะปานกลาง แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างที่ควรจะเป็น

จากกรณีมีข่าวเผยแพร่ผ่านสื่อ เรื่องการใช้”แหล่งเลี่ยงภาษีเงินได้นิติบุคคล” ซึ่งเป็นหัวข้อที่น่าสนใจเนื่องจากเปิดประเด็นเรื่อง 15 แหล่งเลี่ยงภาษีที่ใหญ่สุดของโลกนั้น

นางสาวปรางค์ทิพย์ อนันตวิภาต กรรมการบริษัท ลอว์อัลลายแอนซ์ จำกัด ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงการใช้ดินแดนปลอดภาษีในทางปฏิบัติว่า หากไปดูรายชื่อผู้ถือหุ้นในบริษัทที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย จะพบว่าบริษัทเหล่านี้มีผู้ถือหุ้นที่มีสถานะเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นในดินแดนปลอดภาษีจำนวนมาก หรือหากย้อนหลังกลับไปดูการเปิดเผยข้อมูลเอกสารลับ "ปานามา เปเปอร์ส" (Panama Papers) เมื่อช่วงปี 2559 เผยพฤติกรรมการปกปิดซุกซ่อนทรัพย์สินของผู้มีอิทธิพลทั่วโลกรวมทั้งบุคคลในประเทศไทยจำนวนหนึ่ง ซึ่งจัดตั้งบริษัทเพื่อทำธุรกรรมที่ "เกาะบริติช เวอร์จิน" หน่วยงานจัดเก็บภาษีของไทยรับรู้ถึงการใช้ดินแดนปลอดภาษีเหล่านี้มาตลอด แต่ไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์หรือเข้าไปตรวจสอบธุรกรรมการบริษัทที่จัดตั้งขึ้นในดินแดนปลอดภาษีเหล่านั้นอย่างจริงจังว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีหรือเป็นธุรกรรมที่แท้จริงอย่างไรหรือไม่ 

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องภาษีเงินได้เช่น กรมสรรพากร หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่กำกับดูแลบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะต้องจัดการเรื่องนี้ให้จริงจัง
 
ตัวอย่างดินแดนปลอดภาษีตามที่ปรากฎในข่าว เช่น BVI, Cayman นั้น มักจะปรากฏชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทไทย หรือเป็นคู่ค้าที่เข้ามาทำธุรกรรมกับบริษัทไทย โดยพบบ่อยครั้งว่ามักจะมีวัตถุประสงค์ที่แท้จริงเป็นการใช้ประโยชน์จากการยกเว้นภาษีในเงินได้ประเภทต่างๆ โดยรายละเอียดและเทคนิคในการวางโครงสร้างการใช้ดินแดนปลอดภาษีในแต่ละกรณีนั้น อาจกระทบกับบุคคลที่ร่ำรวยและใช้โครงสร้างนี้เป็นปกติอย่างสม่ำเสมอ

คำถามที่เกิดขึ้นคือกรมสรรพากรไทยยังควรยินยอมให้โครงสร้างนี้เกิดขึ้นต่อไปหรือไม่ หรือจำเป็นแล้วหรือไม่ที่จะต้องกำหนดกฎเกณฑ์อะไรที่จะมาควบคุมดูแลธุรกรรมที่ใช้ดินแดนปลอดภาษี ที่มีวัตถุประสงค์ที่จะหลีกเลี่ยงภาษีหรือหนีภาษีเท่านั้น (Tax evasion หรือ Tax Avoidance) และควรมีการตรวจสอบอย่างไรหรือไม่ หรือการกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนว่าธุรกรรมใดที่ทำขึ้นและตีความได้ว่าเป็นการวางแผนภาษีที่กรมสรรพากรไทยยอมรับได้ (Tax Planning) 

กรรมการบริษัทลอว์อัลลายแอนซ์  ยังกล่าวด้วยว่า นอกจากการใช้ดินแดนปลอดภาษีเพื่อประโยชน์ทางภาษีแล้ว ยังมีวิธีการวางแผนภาษีในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงที่จะถูกประเมินภาษีได้ เช่น การขายหุ้นทอดแรกให้แก่นอมินีในราคาถูกๆ เพื่อขายต่อให้แก่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ในราคาแพงๆ โดยนอมินีเหล่านั้นจะให้ข้อมูลว่าตนไม่มีกำไรจากการขายหุ้น เพื่อบริษัทผู้ซื้อจะไม่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในกำไรที่เกิดขึ้น การสร้างธุรกรรมที่ก่อให้เกิดผลขาดทุนทางภาษีเพื่อลดภาระภาษีนิติบุคคล หรือการกระจายหุ้นให้แก่บุคคลในครอบครัวก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โดยเลี่ยงภาษีการรับการให้ 

ซึ่งปัจจุบันประมวลรัษฎากรมีมาตรการตามมาตรา 37 ตรี (ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2560) กรณีที่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงค่าภาษีโดยทำเป็นกระบวนการ ที่อาจเข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงิน โดยที่กรมสรรพากรจะได้ร่วมตรวจสอบกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) 

ทั้งนี้ มาตรา 37 ตรีนี้เป็นกฎหมายที่สร้างขึ้นมาเพื่อปราบปรามการหลีกเลี่ยงภาษีหรือฉ้อโกงที่มีบทกำหนดโทษที่สูงกว่าการหลีกเลี่ยงภาษีในกรณีทั่ว ๆ ไป



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ