นายพอลล์ กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี กล่าวว่า สถานการณ์ภาพรวมถึงปัจจุบัน ตลาดเอ็กซิบิชั่น สำหรับ อิมแพ็ค กลับมามีงาน 80-90% มีงานใหม่ๆ ของภาครัฐ ที่ช่วยเหลือ sme หรือเกษตรกรจัดงานเพิ่ม เช่น งานโอทอป แต่ที่ยังขาดหายไปเป็นลูกค้าตลาดจัดเลี้ยงหรือเคเทอริ่ง และเทรดเอ็กซิบิชั่นจากต่างประเทศ ซึ่งเรายอมรับว่าปีนี้ต้องปรับตัวอย่างมากรับมือปัญหาโดยเฉพาะโควิดและยังคงต่อเนื่องในปีหน้าด้วย ทำให้ยอดจองพื้นที่จัดงานปี 2563 นี้มีเพียง 608 งาน ซึ่งลดลงไปมากถึง 41% หรือหายไปประมาณ 417 งาน จากปีที่แล้วมีมากถึง 1,025 งาน โดยแบ่งสัดส่วนประเภทของงานคือ ประชุม/สัมนา 244 งาน, เอ็กซิบิชั่นภาคเอกชน 54 งาน, เอ็กซิบิชั่น ภาครัฐ 3 งาน, ปาร์ตี้ 46 งาน, งานแต่งงาน 58 งาน, คอนเสิร์ตและแฟมิลีโชว์ 16 งาน และจัดเลี้ยง ภายนอกอิมแพ็ค 124 งาน
ทั้งนี้ ในส่วนของผลประกอบการ รอบปีงบประมาณ 2563 (1 เมษายน 2562-31 มีนาคม 2563) จาก อิมแพ็ค โกรท รีท พบว่า มี รายได้จากการลงทุนรวม 2,294 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายรวม 1,073 ล้านบาท มีพื้นที่ฮอลล์ 122,165 ตารางเมตร อัตราการใช้พื้นที่เฉลี่ย 46% อย่างไรก็ตาม ยอดจองพื้นที่ปีหน้า (2564) ขณะนี้มีจำนวนพอสมควรแล้ว ทั้งที่เป็นงานเก่าที่เลื่อนไปจากปีนี้และงานที่เกิดใหม่ โดยรวมมี 340 งาน แยกเป็น ประชุมสัมมนา 107 งาน, เอ็กซ์ซิบิชัน ภาคเอกชน 76 งาน, เอ็กซ์ซิบิชั่น ภาครัฐ 14 งาน, ปาร์ตี้ 24 งาน, งานแต่งงาน 41 งาน, คอนเสิร์ต 51 งาน และอื่นๆ 27 งาน ซึ่งงานใหญ่ๆ เด่นๆ จัดปี 2564 เช่น วิฟ เอเชีย (VIV ASIA 2021), งานโยเน็กซ์ ไทยแลนด์ โอเพ่น วันที่ 12-17 มกราคม, งานโตโยต้า ไทยแลนด์ โอเพ่น 2020 วันที่ 19-24 มกราคม และ เอชเอสบีซี บีดับเบิ้ลยูเอฟ เวิลด์ทัวร์ ไฟนอล 2020 วันที่ 27-31 มกราคม 2564
ผู้บริหาร กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการดำเนินงานของอิมแพ็ค ในปี 2564 นั้นรายได้หลักของ อิมแพ็ค ก็ยังมาจากการเช่าพื้นที่จัดงาน 80% อื่นๆ ในส่วนของธุรกิจร้านอาหาร และลีเชอร์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จะยังเป็นรายได้เสริมที่มีการเขยิบสูงขึ้น จากการเปิดร้านอาหารเพิ่มทั้งในและนอกพื้นที่เมืองทองธานี รวมถึงบริการเคเทอริ่งที่มีตอบโจทย์ลูกค้าทั้งระดับกลางและไฮเอนด์ด้วย อีกทั้งใน ปี 2564 นั้นทาง อิมแพ็ค และบางกอกแลนด์ (บริษัทแม่) วางแผนการลงทุนเรื่องหลักๆ ในช่วง 3 ปีจากนี้ ได้แก่
1.ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพู หวังว่าทางรัฐบาลจะได้ข้อสรุปอนุมัติเรียบร้อย ให้ทางบีทีเอสเข้ามาลงทุนร่วม 2 สถานี ติดกับชาเลนเจอร์ และทะเลสาบ โดยการลงทุนของบีแลนด์บริษัทแม่ มูลค่า 1250 ล้าน
2.เป็นการลงทุนต่อเนื่อง รถไฟฟ้าสายสีชมพู โดยอิมแพ็ค โกรท รีท สร้างล็อบบี้ และสะพานเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าชาเลนเจอร์ 1 รองรับผู้เข้าชมงาน มูลค่าราว 200 ล้านบาท
3.การก่อตั้งสถาบันสอนทำอาหาร ภายใต้แบรนด์เลอโนท (LENOTRE) ซึ่งเป็นเชนของฝรั่งเศส และสร้างโรงแรมที่พัก ซึ่งจะเป็นแห่งที่สามของอิมแพ็ค เพื่อรองรับนักเรียนจากนานาชาติที่เดินทางมาเรียน เช่น จีน เกาหลี และประเทศในภูมิภาคเอเชียใกล้ๆ โดยใช้การรีโนเวตอาคารโรงแรมอีสตินเดิม ที่อยู่ริมทะเลสาบเมืองทองธานี มูลค่าลงทุนรวม 1 พันล้านบาท และ
4. ส่วนพื้นที่ทะเลสาบที่จะเป็นสถานีรถไฟฟ้า บิ๊กเลคยังมีพื้นที่ว่างรอการพัฒนากว่า 300 ไร่ โดยมองไว้จะลงทุน เช่น ช้อปปิ้งมอล์ หรือ ไมซ์ เอ็กซิบิชั่น โดยหานักลงทุน พันธมิตรคู่ค้า อาจจะเป็นรีเทลรายใหญ่ๆ มาลงทุนซึ่งเราจะไม่ลงทุนทำเอง เป็นต้น
“อิมแพ็ค คาดว่าปีหน้าภาพรวมตลาดไมซ์ช่วงโควิดยังคงไปได้ มีการปรับตัวตามสถานการณ์ในส่วนของการจัดประชุม สัมมนา ที่เป็นไฮบริด มีตติ้ง แต่ตลาดเอ็กซิชั่นออนไลน์ ยังไม่ได้รับความนิยม ด้วยลูกค้ายังอยากที่จะสัมผัสกับสินค้าจริงอยู่ ตลาดต่างประเทศกลับมาใกล้เคียงปี 62 (ก่อนโควิด) อย่างไรต้องต้องติดตามปัจจัยเรื่องวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่จะมีผลให้การเดินทางติดต่อธุรกิจเป็นไปตามปกติ ในปี 64 ช่วง 6 เดือนแรกต่างประเทศจะยังคงเดินทางไม่ได้ แต่คาดหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเรื่อยๆ และปี 65 ธุรกิจน่าจะกลับมาเติบโตได้ 10% เทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19”