หนุนปลูกพืชแหนแดง ลดต้นทุนผลิตอาหารสัตว์

วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2563

หนุนปลูกพืชแหนแดง ลดต้นทุนผลิตอาหารสัตว์


นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรไทยยังคงประสบปัญหาด้านราคาวัตถุดิบอาหารที่มีราคาสูง ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย ดังนั้น นโยบายการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงสัตว์ ในโครงการภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ และกิจการที่เกี่ยวเนื่องฯ จึงมุ่งหาอาชีพให้กับเกษตรกรได้สร้างรายได้ ซึ่งการปลูกพืชอาหารสัตว์ อาทิ แหนแดง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หญ้าเนเปียร์ ถือเป็นอาชีพทางเลือกที่เป็นทางออกให้กับเกษตรกร

ทั้งนี้แหนแดง เป็นพืชที่ใช้เวลาปลูกระยะสั้นเติบโตเร็ว 15-30 วัน สามารถขายได้ เป็นที่ต้องการของตลาด โปรตีนสูง และมีไนโตรเจนสูงถึง 5 % ในขณะที่ปุ๋ยพืชสดตระกูลถั่วมีธาตุอาหารไนโตรเจนประมาณ 2.5 - 3 % ขณะที่ราคาอาหารสัตว์ท้องตลาดราคา 12 บาท/กก. แต่หากเป็นอาหารที่ผสมเองราคา 4 บาท/กก. เป็นการลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร

สำหรับแหนแดง เป็นเฟิร์นชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็ก พบอยู่ตามบริเวณน้ำนิ่ง เช่น บ่อ หรือคูน้ำ สำหรับแหนแดงพันธุ์กรมวิชาการเกษตรให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พื้นเมืองถึง 10 เท่า เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่บนผิวน้ำในนาข้าว 1 ไร่ จะให้ผลผลิตสดถึง 3 ตัน (150 กิโลกรัมแห้ง) ซึ่งเป็นปริมาณไนโตเจนได้ประมาณ 6 - 7 กิโลกรัม ประโยชน์คือ ทดแทนหรือลดการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจน เพิ่มอินทรีย์วัตถุให้แก่ดิน ใช้เป็นปุ๋นอินทรีย์สำหรับพืชผัก และไม้ผล ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเคมี ใช้เป็นแหล่งโปรตีนสำหรับเลี้ยงสัตว์ และมีต้นทุนต่ำ

แหนแดง มีประวัติการใช้เป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าว ในประเทศสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐประชาชนจีนมานานหลายศตวรรษแล้ว

“กรมวิชาการเกษตร ได้ทำการวิจัยค้นคว้า เรื่องแหนแดง มาตั้งแต่ ปี 2520 ช่วงเวลาดังกล่าวกรมได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) ส่งเสริมให้มีการใช้แหนแดงเป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าวทั่วไปในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งความจริงประเทศจีนได้มีการใช้แหนแดงในนาข้าวก่อนประเทศอื่นๆ เป็นเวลาเกือบ 100 ปีแล้ว” นางสาวศิริลักษณ์ แก้วสุรลิขิต นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดิน กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กล่าว

หลังจากที่ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงแม่พันธุ์แหนแดงให้กรมการข้าวไปดำเนินการเองก็มีเกษตรกรเริ่มรู้จักแหนแดงและมาขอจากกลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดินกันมากขึ้น โดยทางกลุ่มงานวิจัยจะสนับสนุนแม่พันธุ์ให้ไปเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์เอง โดยยินดีจะถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงให้ ซึ่งไม่ยาก

เริ่มต้นด้วยการใส่ดินนา ประมาณ 10 เซนติเมตร เติมปุ๋ยคอก 1 กิโลกรัม เติมน้ำ ให้สูงจากระดับดิน ประมาณ 10 เซนติเมตร ใส่แหนแดงลงในบ่อแม่พันธุ์แหนแดง 50 กรัม เมื่อเพาะเลี้ยงแหนแดงจนเจริญเติบโตเต็มบ่อจนแน่น จากนั้นปล่อยน้ำออกจากบ่อ หรือนำไปขยายต่อในที่ต้องการ กระชังขยายพันธุ์ เพื่อเพิ่มปริมาณแหนแดง

“การเพาะเลี้ยง เกษตรกรจะต้องทำบ่อแม่พันธุ์แหนแดงไว้ เนื่องจากแหนแดงมีไนโตรเจนสูง เนื้อเยื่อของแหนแดงค่อนข้างอ่อน แมลงจะลงทำลายได้ง่าย เพราะฉะนั้นเกษตรกรจะต้องมีบ่อเพาะเลี้ยงแม่พันธุ์ไว้ เมื่อเราใส่แหนแดงลงไปในแปลงนา และถูกแมลงทำลายเสียหายหมด เราก็ยังมีแม่พันธุ์แหนแดงที่เลี้ยงไว้ในบ่อ โดยไม่ต้องมาขอรับแม่พันธุ์แหนแดงจากกรมวิชาการเกษตรอีก”

การขุดบ่อ เนื่องจากแหนแดงไม่ต้องการน้ำลึก เกษตรกรขุดบ่อให้มีลักษณะเหมือนท้องนาขังน้ำให้ลึก ประมาณ 4-5 เซนติเมตร เรียกว่าเป็นบ่อน้ำตื้น ควรจะมีร่มไม้รำไร ถ้าพื้นที่บ่อ ประมาณ 5 ตารางเมตร ปล่อยแหนแดงลงไป ประมาณ 10 กิโลกรัม 10-15 วัน แม่พันธุ์แหนแดงจะเจริญเติบโตเต็มบ่อ ซึ่งควรจะปล่อยแหนแดงลงบ่อก่อนฤดูฝน ถ้าปล่อยลงบ่อในหน้าแล้ง ความชื้นในอากาศน้อย อาจจะใช้เวลานานถึง 3 สัปดาห์ แหนแดงจึงจะเต็มบ่อ

ถ้าเกษตรกรมีแม่พันธุ์ 10 กิโลกรัม ก็จะเพียงพอสำหรับนา 1 ไร่ หลังจากนำไปปล่อยในนา ประมาณ 3-4 สัปดาห์ ก็จะขยายแหนแดงได้ถึง 3,000 กิโลกรัม/ไร่ ถ้าหว่านแหนแดงลงไปในปริมาณมากจะขยายพันธุ์ได้เร็ว เพราะระบบขยายพันธุ์ของแหนแดงขยายให้น้ำหนักสดเป็น 2 เท่าตัว ทุก 3-5 วัน



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ