พูดอย่าง..แต่ทำอีกอย่าง ปรองดอง-สมานฉันท์ก็ริบหรี่..!?!

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

พูดอย่าง..แต่ทำอีกอย่าง  ปรองดอง-สมานฉันท์ก็ริบหรี่..!?!


“ต้นแบบประชาธิปไตย” ก็วุ่นวายไม่แพ้ประเทศไทย กับปรากฏการณ์การไม่ยอมรับในความพ่ายแพ้การเลือกตั้งของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ที่นอกจากจะยังไม่แสดงความยินดีกับ “โจ ไบเดน” ผู้สมัครประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตแล้ว ยังปรากฏว่ามีม็อบในหลายเมืองของสหรัฐอเมริกา ที่ชาวอเมริกันประท้วงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ “โจ ไบเดน” จากค่ายเดโมแครต ลอยลำได้เป็นผู้นำคนใหม่แดนพญาอินทรี

ขณะที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า คณะทำงานด้านการถ่ายโอนอำนาจของโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กำลังพิจารณาที่จะดำเนินการทางกฎหมาย เพื่อให้ “สำนักบริหารงานบริการทั่วไป” หรือ “จีเอสเอ (GSA : General Service Administration) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาลกลาง ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ปรากฏว่านายไบเดน มีชัยชนะเหนือประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรครีพับลิกัน ในการเลือกตั้งที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ผ่านมาตามปกติแล้ว ทางสำนัก “จีเอสเอ” จะประกาศรับรองผู้ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อผลคะแนนเลือกตั้งมีความชัดเจนว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดเป็นฝ่ายได้ชัยชนะ อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายของสหรัฐฯ มิได้กำหนดระยะเวลาแน่ชัดของการประกาศของ “จีเอสเอ” แต่ทางคณะทำงานฯ ของนายไบเดน มีความเห็นว่า การชะลอการประกาศข้างต้น ถือเป็นสิ่งไม่เป็นธรรมต่อนายไบเดน

ขณะเดียวกัน นายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ออกมาตำหนิประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งว่า เป็นการกระทำที่น่าอับอาย ทั้งยังไม่ให้ความสำคัญกับกระแสความวิตกกังวลที่ว่าพฤติกรรมของประธานาธิบดีทรัมป์อาจทำให้การเปลี่ยนผ่านตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนม.ค.ไม่ราบรื่น

ขณะที่การเมืองบ้านเรายังทะลุองศาเดือด อารมณ์ฮึกเหิมของวัยโจ๋ขึ้นแล้วลงยาก ต้องไปต่อให้สุดซอย ตามอีเวนต์ “เบิ้มๆ” การชุมนุมใหญ่ของม็อบราษฎร เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยภายใต้จุดยืนเดิม 3 ข้อ “นายกฯลาออก–แก้รัฐธรรมนูญ–ปฏิรูปสถาบัน”

ปฏิเสธการเจรจาเวที คณะกรรมการสมานฉันท์ ที่ “นายชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา เดินสายเชิญประธานองคมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตประธานสภาฯ ร่วมหาทางออกสลายวิกฤติ หากแต่ม็อบราษฎรไม่เชื่อในบริบทเดิมๆ มองว่าเป็นแค่การ “ซื้อเวลา” นำความเห็นไปใส่รูปเล่มแล้วเก็บเข้าลิ้นชัก ไม่มีการ “ถอดบทเรียน” แก้ปัญหากันจริงจัง

แค่เริ่มเวทีสมานฉันท์ ก็ดูเหมือนว่าจะ “ฟาวล์” ตั้งแต่ยังไม่ตั้งโต๊ะเจรจา เพราะแค่รายชื่ออดีตนายกฯที่ถูกเสนอชื่อมา ไล่เรียงดูมีตั้งแต่ นายอานันท์ ปันยารชุน, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หรือ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ให้ร่วม “ทีมปรองดอง” แม้นายชวนจะบอกว่าได้พูดคุยกับอดีตนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น นั่นหมายความว่าอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร และอดีตนายกฯปู-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ได้ถูกเชิญเข้ามาร่วมวงสมานฉันท์ครั้งนี้

กระนั้นก็ตามถูกกระหน่ำจากหลายฝ่ายไม่เว้นกระทั่งฝั่งเดียวกันเอง อย่างที่นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ไล่ถอนหงอกปรมาจารย์อย่างนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็น พวกตกยุค ให้จับดองเกลือจะเหมาะกว่า ออกอาการตีกัน “อานันท์” จากวงสมานฉันท์

เพราะรู้ดีว่า ถ้าอดีตนายกฯ “อานันท์” ได้นั่งหัวโต๊ะคุมเกมปรองดอง มีโอกาสยื่นออปชันให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ไขก๊อกเหมือนที่เคยส่งสัญญาณก่อนหน้านี้ว่า “ลุงตู่” ได้ยินเสียงเด็ก ๆ หรือไม่

ซึ่งหาก “ผู้นำ” อำนาจปลิวจากมือ พวกลิ่วล้อก็จะลำบากไปด้วย ทำให้ต้องออกมาหนุนลูกพี่ให้สู้ต่อ ห้ามยอมแพ้สวนทางกับข้อเรียกร้องม็อบราษฎรที่ต้องการโค่นอำนาจ “ลุงตู่” สถานเดียว

               โอกาสสงบศึก หาทางสมานฉันท์ ปองดรองคงริบหรี่  “ทางออก” ขณะนี้คงทำได้แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการยอมประนีประนอมในเรื่องที่พอรอมชอมกันได้ เท่าที่เห็นในเวลานี้ก็คือการแก้รัฐธรรมนูญที่ “บิ๊กตู่” เตรียมเร่งสปีดแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลและภาคประชาชนให้เสร็จทั้งสาม วาระภายในเดือน ธ.ค.นี้
               โดยขั้นตอนลงมติรับหลักการวันที่ 17 พ.ย.นี้ ก็ตั้งท่าจะโหวตกันข้ามวันข้ามคืน ม้วนเดียวจบ ไม่มีหยุดพัก รัฐบาลเร่งสร้างความชัดเจน พิสูจน์ความจริงใจด่านแรก พร้อมตอบสนองข้อเรียกร้องที่พอเป็นไปได้ เพื่อ ถอดสลัก” ขัดแย้งสำคัญ ไม่ให้เด็กรุ่นใหม่ใช้ข้ออ้างรัฐธรรมนูญเป็นข้อต่อรองขยายการชุมนุม ผลักแรงกดดันกลับไปฝั่งผู้ชุมนุม เมื่อข้อบาดหมางหลักได้รับการตอบสนอง ต้องลดเพดานบินลงบ้าง

แต่แล้วจู่ ๆ ก็มี “ลูกกะโล่ลุงตู่” ที่ประกอบด้วย ส.ว.47 คนร่วมกับส.ส.พรรคพลังประชารัฐ 25 คน ร่วมลงชื่อยื่นเรื่องต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ว่าด้วยการแก้ไข ม.256

แม้ว่า จะเป็นสิทธิของส.ส.และส.ว.ที่จะดำเนินการเมื่อเห็นว่าอาจมีเรื่องที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ แต่การดำเนิน

การเรื่องนี้ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองกำลังมีปัญหาความขัดแย้งของคนที่เห็นต่างกันในสังคม จนกำลังมีความพยายามที่จะหากลไกต่าง ๆ ที่เหมาะสมมาช่วยกัน “หาทางออกให้ประเทศ” ด้วยการให้มีคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อเป็นเวทีให้ฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้พูดคุยปรึกษาหารือสานเสวนาเพื่อหาทางออกร่วมกันอาจมีอุปสรรคมากขึ้น

ในมุมมองของนักวิชาการ และแม้กระทั่งพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การกระทำของส.ส.และส.ว.ดังกล่าวนั้นอาจนำไปสู่การทำให้สถานการณ์การเมืองมี “เงื่อนปม” ที่เพิ่มมากขึ้น เพราะว่ากระบวนการในการแก้ไขถือว่าเป็นเงื่อนไขที่จะช่วยทำให้ลดอุณหภูมิทางการเมืองในปัจจุบัน แต่ถ้ามีการยื่นก็จะทำให้เกิดสถานการณ์ซ้ำเติมจากสภาวะที่เรียกว่า “การเมืองนอกสภาก้าวหน้า แต่การเมืองในสภาล้าหลัง” เป็นการเพิ่มบรรยากาศของความไม่ไว้วางใจกันมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่ขณะนี้เราควรช่วยกันหาทางสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เพื่อผลักดันให้ปัญหาต่าง ๆ ทุเลาเบาบางลง

               ภาพหนึ่ง “ลุงตู่” ออกมาบอกกับสาธารณะชนว่าจะพยายามหาทางปลดล็อก เร่งสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับผู้ชุมนุม เปิดทางไปสู่การตั้งวงพูดคุยหาทางออกร่วมกัน ห้ามเท ห้ามแกงกันเหมือนที่ผ่านมา

หากแต่อีกด้านหนึ่ง ส.ว.ที่คลอดมาจากน้ำมือของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อครั้งเป็นหัวหน้าคณะยึดอำนาจ รวมทั้งบรรดาส.ส.พรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีกลับทำในสิ่งที่ตรงข้ามบอกสาธารณะชน

               คำถามที่ว่าถามว่า... ผมผิดอะไร? จึงเสมอแค่การผายลม...!!

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ