จัดตั้งจังหวัดบัวใหญ่ ระวังกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว

วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2557

จัดตั้งจังหวัดบัวใหญ่ ระวังกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว


ปมปัญหาการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดตั้งจังหวัดบัวใหญ่ ซึ่งแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ตามข้อกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งจังหวัดใหม่ และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 ให้ อปท. รายงานผลดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกสภาท้องถิ่น ว่ามีเหตุความจำเป็น ผลดี ผลเสีย สมควรให้คำรับรองหรือไม่

โดยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา ซึ่งเป็นเพียง 1 อปท. จากจำนวนอปท.รวมทั้งสิ้น 334 แห่ง ได้มีมติเห็นควรจัดตั้งจังหวัดบัวใหญ่ 32 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง ต่อมาได้มีกระแสในโลกออนไลน์เครือข่ายเฟซบุ๊ก ส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นไม่ต้องการให้จังหวัดนคร-ราชสีมา ถูกแบ่งแยก โดยใช้อัตลักษณ์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) จุดชนวนความขัดแย้ง

ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของการขัดแย้งในพื้นที่ และอาจกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว

นายธงชัย ลืออดุลย์ ผวจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ขอเคารพความคิดเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการจัดตั้งจังหวัดใหม่ รวมทั้งบรรดาผู้ที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขชาวโคราช การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทุกคนมีอิสระในความคิดไม่สามารถไปปิดกั้นได้ จึงมีความเห็นต่างๆ นานา อาจไม่ถูกใจบางคนได้ การจัดตั้งจังหวัดบัวใหญ่ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนเกี่ยวข้องกับความรู้สึกของชาวโคราชกว่า 2.5 ล้านคน ที่เป็นลูกหลานย่าโม โดยมีความผูกพันด้านวัฒนธรรมขนบธรรม-เนียมประเพณีนานนับร้อยปี

“มีการนำเสนอข่าวด้านเดียวในโลกออนไลน์ อาจเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวให้ชาวโคราชขัดแย้งกัน ข้อเท็จจริงกระบวนการที่ให้ อปท.แต่ละแห่ง ดำเนินการลงมติเห็นควรการตั้งจังหวัดบัวใหญ่ เป็นเพียงขั้นตอนแรกเท่านั้น การตั้งจังหวัดบัวใหญ่ โดยแยกจากจังหวัดนครราชสีมา ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลเป็นสำคัญ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร เนื่องจากใช้งบประมาณเกือบ 1 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะการขยายอัตรากำลังข้าราชการที่เพิ่มขึ้นผวจ.นครราชสีมา กล่าว

ด้านนายสมพงษ์ วิริยะจารุ วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา ให้ความเห็นว่า การยุบรวม 8 อำเภอ ประกอบด้วย อ.บัวใหญ่, อ.คง, อ.ประทาย, อ.โนนแดง, อ.บ้านเหลื่อม, อ.แก้งสนามนาง, อ.สีดา และ อ.บัวลาย เพื่อตั้งเป็นจังหวัดที่ 78 ของประเทศไทย การศึกษา เก็บรวบรวมข้อมูลด้านขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวโคราช รวมทั้งชาติพันธุ์ทั้ง 32 อำเภอ พบสิ่งบ่งบอกความเป็นพี่เป็นน้อง ที่ผูกพันกันค่อนข้างชัดเจน ต่างจากบางจังหวัดที่มีภาษาพูด ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างกัน สิ่งสำคัญคือวีรกรรมของท้าวสุรนารี หรือย่าโม สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้าน คู่เมืองทุกคนให้ความเคารพนับถือ หล่อหลอมให้ชาวเมืองนครราชสีมา ซึ่งมักแสดงตนเป็นลูกหลานย่าโม ได้รู้รักสามัคคีมาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อถึงช่วงกลางเดือนมีนาคมของทุกปี ชาวบ้านในพื้นที่ 8 อำเภอ จะเหมารถโดยสารชักชวนเดินทางมาร่วมกิจกรรมงานฉลองวันแห่งชัยชนะท้าวสุรนารี ที่จัดขึ้นในเขตตัวเมืองนครราชสีมา อย่างสม่ำเสมอทุกปี

“ชาวบัวใหญ่ มีสำเนียงภาษาพูดลักษณะไทยโคราช หรือไทยเบิ้ง ไทยเดิ้ง ซึ่งมีลักษณะภาษาไทยปนภาษาลาวเล็กน้อย สามารถสื่อสารกับคนในอำเภออื่นๆ ได้รู้เรื่อง แบบไม่ต้องถามซ้ำ จากเอกสารประวัติศาสตร์ ไทยโคราชเป็นชุมชนไทยที่อยู่อาศัยมานานอย่างน้อยตั้งแต่ครั้งสมัยอยุธยาราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 มีเอกลักษณ์ในประเพณีความเชื่อ ภูมิปัญญา สังคม สถาปัตยกรรมและผลงานทางวัฒนธรรม ตามเอกลักษณ์เฉพาะชุมชน ในลักษณะผสมผสานกัน เพราะฉะนั้นชาวบ้านทั้ง 8 อำเภอ จะมีโครงสร้างทางวัฒนธรรมเหมือนกับคนอำเภออื่นค่อนข้างชัดเจน” นายสมพงษ์ กล่าว

ขณะที่นายประเทศ อุตตมบูรณ อดีตข้าราชการบำนาญ โดยรับราชการในตำแหน่งฝ่ายปกครองนาน 36 ปี กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ประสบการณ์ที่รับราชการในตำแหน่งปลัดอำเภอ และนายอำเภอต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มากกว่า 7 แห่ง และเคยปฏิบัติหน้าที่ปลัดอำเภอบัวใหญ่ ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม แต่ละพื้นที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกันมากจนแยกไม่ออก ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวโคราช ที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร

“การตั้งจังหวัดใหม่ โดยมีศาลากลางจังหวัดเพิ่มขึ้น ใครได้ผลประโยชน์ ชาวบ้านได้อะไร มีแต่พ่อค้า แม่ขาย นายทุน และผู้รับเหมา มีโอกาสได้ใกล้ชิดพ่อเมือง หรือมีตำแหน่งทางราชการเพิ่มขึ้น การแยกอำเภอให้มากขึ้น จะได้ประโยชน์เฉพาะการแจ้งเกิด ทำบัตรประจำตัวประชาชน จดทะเบียนสมรส แจ้งหย่าร้าง จนกระทั่งแจ้งขอมรณบัตร รวมทั้งทำธุรกรรมอื่นๆ จึงขอให้ทบทวนถึงการแยกจังหวัดด้วย” อดีตข้าราชการบำนาญกล่าว

ปัญหาความขัดแย้งของชาวจังหวัดนครราชสีมา ที่มีความเห็นต่างกรณีการแบ่งแยกจังหวัดบัวใหญ่ ซึ่งมี 8 อำเภอ ผนวกเข้าด้วยกันลุกลามบานปลายขึ้นเรื่อยๆ ตามที่เสนอข่าวมาเป็นลำดับ

ส่วนฝ่ายที่สนับสนุน ได้แสดงพลังที่ลานอุนสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) ประจำอำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายคำพันธ์ บุญยืด อดีตหัวหน้าการประถมศึกษา อ.บัวใหญ่ ซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญ เป็นแกนนำ พร้อมชูป้ายต่างๆ เช่น “เราขอสนับสนุนจัดตั้งจังหวัดบัวใหญ่” “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ช่วยจัดตั้งจังหวัดบัวใหญ่ด้วย” “ย่าโมเข้าใจ บัวใหญ่เป็นจังหวัด”

โดยนายคำพันธ์ แกนนำขอแยกจังหวัด เปิดเผยว่า ชาวบ้าน 8 อำเภอ ไม่ได้ยึดติดกับชื่อจังหวัดต้องเป็นบัวใหญ่ ยินดีที่จะใช้ชื่อจังหวัดสุรนารี หรือชื่อใดก็ได้ตามความเหมาะสม ย่าโมเป็นของทุกคนที่อาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินไทย ไม่ใช่ผูกมัดเฉพาะชาวเมืองโคราช การกล่าวอ้างอัตลักษณ์จึงไม่ถูกต้อง พวกเราให้ความเคารพศรัทธาย่าโม เหมือนกับชาวโคราช และคนไทยทุกคน คำขวัญของอำเภอบัวใหญ่ ได้บอกเล่าคุณงามความดีของย่าโมด้วย ที่สำคัญทุกปีได้จัดกิจกรรมวันฉลองชัยชนะท้าวสุรนารีอย่างยิ่งใหญ่

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม การจัดตั้งจังหวัดบัวใหญ่ ถือเป็นความแตกแยกที่เกิดขึ้นในชุมชน ทั้งผู้ที่เห็นด้วย และคัดค้าน ได้ยกเหตุผลต่างๆ นานา เพื่อให้ตัวเองชอบธรรม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเจ้าของพื้นที่จะตกลงหรือเห็นชอบ หรือคัดค้านอย่างไร คนในพื้นที่สำคัญที่สุด

หากแยกตัวไปแล้ว เกิดประโยชน์ ไม่ทำให้เกิดความแตกแยก ก็ไม่มีอะไรที่จะไม่ดำเนินการ แต่หากทำให้เกิดความปั่นป่วน การพูดคุยและหาทางออกร่วมกันเท่านั้น จึงจะเป็นเห็นทางสุดท้าย ก็ให้ทุกฝ่ายอยู่ด้วยกันอย่างสันติสุข


บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ