กรมเจ้าท่า ผนึกพลัง “รัฐ-เอกชน” กำหนดมาตรการความปลอดภัย “วันลอยกระทง”

วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2563

กรมเจ้าท่า ผนึกพลัง “รัฐ-เอกชน” กำหนดมาตรการความปลอดภัย “วันลอยกระทง”


กระทรวงคมนาคม โดยกรมเจ้าท่า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือการเตรียมความพร้อมในวันคืนวันลอยกระทง พ.ศ. 2563 พร้อมร่วมสาธิตการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ โดยมี นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมหารือฯ ในวันที่ 27 ตุลาคม 2563 ณ ห้องประชุมบุญเลื่อน และท่าเทียบเรือกรมเจ้าท่า

กรมเจ้าท่า บูรณาการเตรียมความพร้อมในคืนวันลอยกระทง โดยกำหนดแผนปฏิบัติการตามมาตรการเพื่อความปลอดภัย จัดชุดเฉพาะกิจออกตรวจสอบความปลอดภัยท่าเทียบเรือและเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังบริเวณพื้นที่ที่มีประชาชนใช้บริการหนาแน่น และเตรียมพร้อมวัสดุอุปกรณ์ พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย เพื่อร่วมสืบสานประเพณีไทยและดูแลความปลอดภัยให้ประชาชนลอยกระทงอย่างมีความสุข

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม  กล่าวว่า วันลอยกระทง ถือเป็นประเพณีที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาแต่โบราณ ซึ่งเป็นวันที่มีประชาชนและนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติออกมาลอยกระทงและใช้บริการการคมนาคมทางน้ำกันอย่างคับคั่ง ส่งผลให้บริเวณท่าเทียบเรือและการสัญจรทางน้ำมีความหนาแน่นเป็นอย่างมาก กรมเจ้าท่า ในฐานะหน่วยงานหลักในการตรวจตรา ควบคุม และดูแลการเดินเรือและการสัญจรทางน้ำให้มีความปลอดภัย จึงได้กำหนดมาตรการความปลอดภัยในช่วงเทศกาล วันลอยกระทง ประจำปี 2563 พร้อมออกประกาศเตือนให้ใช้ความระมัดระวังในการเดินเรือ และมีคำสั่ง ให้เข้มงวดกวดขัน ในการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการเพื่อความปลอดภัยในช่วงเทศกาลวันลอยกระทง พร้อมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมปฏิบัติการตามแผนรักษาการณ์ทางน้ำ มาตรการความปลอดภัยในคืนวันลอยกระทง และ มาตรการป้องกันโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ร่วมกัน

ด้าน นายวิทยา  ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมเจ้าท่า ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางน้ำ ณ ศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) กรมเจ้าท่า ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดตั้งจุดอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยทางน้ำ บริเวณท่าเทียบเรือ ที่มีประชาชน และนักท่องเที่ยวใช้บริการหนาแน่นในส่วนกลาง จำนวน 5 จุด ได้แก่ ท่าเรือพระราม 8 , ท่าเรือตลาดยอดพิมาน , ท่าเรือริเวอร์ซิตี้, ท่าเรือไอคอนสยาม และท่าเรือเอเชียทีค พร้อมจัดเรือตรวจการณ์ จำนวน 10 ลำ ประกอบด้วย เรือตรวจการณ์ทั่วไป จำนวน 2 ลำ เรือรักษาการณ์ประจำพื้นที่ จำนวน 8 ลำ เจ้าหน้าที่ประจำท่าเทียบเรือกำลังพล 171 คน ท่าเรือ 62 ท่า แยกเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา 55 ท่าเรือ คลองแสนแสบ 7 ท่าเรือ เรือ 10 ลำ ส่วนภูมิภาค กำลังพล 720 เรือ 48 ลำ รวมกำลังพลทั้งสิ้น 891 คน เรือ 58 ลำ 

สำหรับในส่วนภูมิภาค ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกฯ ณสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 1-7 และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางน้ำ ณ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา จำนวน 41 ศูนย์ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับกองทัพเรือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารภัย กองบังคับการตำรวจน้ำ สถานีตำรวจท้องที่ ตำรวจท่องเที่ยว คณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล เครือข่ายอาสาวารี มูลนิธิ สมาคม จิตอาสาและเจ้าหน้าที่จากภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ออกมาท่องเที่ยวและใช้การสัญจรทางน้ำในคืนวันลอยกระทง

นอกจากนี้ กรมเจ้าท่า ได้เข้มงวดกวดขันให้ผู้ประกอบกิจการ ผู้ครอบครอง โป๊ะเทียบเรือ เจ้าของเรือและผู้ควบคุมเรือ ปฏิบัติตามประกาศกรมเจ้าท่าโดยเคร่งครัด พร้อมจัดชุดเฉพาะกิจออกตรวจสอบสภาพโป๊ะเทียบเรือและเรือโดยสารเป็นการล่วงหน้า ซึ่งได้มอบหมายและประสานงานทุกหน่วย รายงานเหตุการณ์ช่วงเทศกาลลอยกระทงให้กับกองอำนวยการรักษาความปลอดภัย ทางน้ำ และศูนย์ควบคุมปฏิบัติการโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) กรมเจ้าท่า และสายด่วนความปลอดภัยกรมเจ้าท่า หมายเลข 1199

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ