กทพ.ลดค่าไฟทางด่วน 51 ล้าน/ปี ดันรายได้ทะลุ 1.8 หมื่นล. กำไร 5 พันล้าน

วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2563

กทพ.ลดค่าไฟทางด่วน 51 ล้าน/ปี ดันรายได้ทะลุ 1.8 หมื่นล. กำไร 5 พันล้าน


การทางพิเศษฯ MOU กฟภ. ร่วมศึกษาโครงการจัดการพลังงานในองค์กรโดยระบบดิจิทัล หวังลดค่าไฟ “ทางด่วน-ด่านเก็บเงิน-ศูนย์ควบคุม” ปีละ 51 ล้านบาท คาดใช้งบลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท คืนทุนภายใน 6-7 ปี ฝันปีนี้รายได้ทะลุ 1.8 หมื่นล้านบาท พร้อมโกยกำไร 5,000 ล้านบาท

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ ประธานกรรมการ(บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการจัดการพลังงานในองค์กรด้วยระบบดิจิทัล (Digital Platform) ระหว่าง กทพ. กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ว่า ปัจจุบัน กทพ. มีต้นทุนค่าไฟฟ้าส่องสว่างทางพิเศษ อาคารด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ และศูนย์ควบคุมทางพิเศษประมาณ 168 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น กทพ. จึงสนใจ “โครงการจัดการพลังงานในองค์กรโดยระบบดิจิทัล” ที่ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้นำเสนอ เพื่อที่จะร่วมกันดำเนินโครงการบริหารจัดการพลังงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และการบริหารจัดการพลังงานด้วยระบบดิจิทัล (Digital Platform) อย่างไรก็ดี การดำเนินโครงการนี้จะทำให้มีค่าใช้จ่ายลดลงเหลือแค่ 117 ล้านบาทต่อปี หรือลดลงปีละประมาณ  51 ล้านบาท

ด้าน นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า กทพ. มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาการบริหารจัดการด้วยนวัตกรรมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งรวมถึงการบริหารจัดการด้านพลังงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด เพื่อประโยชน์ด้านการใช้พลังงานสะอาดและการบริหารจัดการพลังงานภายใน กทพ. และพื้นที่โดยรอบ

สำหรับการ MOU ร่วมกันกับ กฟภ. จะเป็นการร่วมกันศึกษาการพัฒนาด้านธุรกิจพลังงาน และสนับสนุน การใช้พลังงานสะอาดทั้งในด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้าและด้านการบริหารจัดการพลังงานเพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มั่นคง และปลอดภัย รวมถึงจะให้ความร่วมมือกันในการศึกษาแนวทางในการประหยัดพลังงาน โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้ให้มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับการใช้พลังงานของ กทพ. และ จะให้การสนับสนุนเพื่อให้เกิดการลงทุนและการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงนวัตกรรมอื่นร่วมกันสำหรับการบริหารจัดการพลังงานและพลังงานทดแทนต่อไป

“หลังจากนี้จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่าง 2 หน่วยงาน เพื่อศึกษารายละเอียดการดำเนินโครงการ ทั้งการติดตั้งระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) และการเปลี่ยนหลอดไฟส่องสว่างทางพิเศษจากหลอดไฟธรรมดา เป็นหลอดไฟแอลอีดี เบื้องต้นจะดำเนินการบนทางพิเศษของ กทพ. ทั้งหมด ซึ่งมีระยะทางกว่า 200 กม. คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 บาท โดยจะเริ่มดำเนินการได้ภายใน 2 ปีนี้ ตั้งเป้าว่าในระยะแรกจะสามารถช่วยลดต้นทุนด้านไฟฟ้าได้ 30% และในระยะยาวจะลดลงได้ประมาณ 50% และสามารถคืนทุนได้ภายใน 6-7 ปี”

ผู้ว่าการ กทพ. ยังกล่าวถึงรายได้ปี 2563 ว่า ตั้งเป้าว่าปีนี้จะมีรายได้ 1.8 หมื่นล้าน หรือมีกำไรประมาณ 5 พันล้านบาท เนื่องจากว่า กทพ. มีนโยบายเรื่องการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายขององค์กรเป็นหลัก ถึงแม้ว่าจะมีผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ก็ทำให้รายได้ของ กทพ. ลดลงไม่มาก

ขณะที่ นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการ กฟภ. กล่าวว่า ในส่วนของ Solar Rooftop มีต้นทุนการติดตั้งเมกกะวัตต์ละ 30 ล้านบาท ซึ่งทาง กฟภ. จะใช้เวลาการศึกษาประมาณ 3 เดือน โดยจะทำให้ได้ข้อสรุปว่าจะเริ่มดำเนินการในพื้นที่ใดก่อน และดำเนินการในรูปแบบใด ที่สำคัญจะต้องลงไปศึกษาคุณสมบัติในการส่องสว่างของแสงว่าเพียงพอต่อความปลอดภัยในการขับขี่บนทางพิเศษหรือไม่ เพราะถ้าเสาสูงเกินไป อาจจะไม่สว่างครอบคลุมพื้นทางทั้งหมด อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนหลอดไฟเป็นแอลอีดี จะช่วยประหยัดค่าไฟได้ 50% โดยขณะนี้ได้ดำเนินการเปลี่ยนหลอดไฟส่องสว่างเป็นแอลอีดีบนถนนของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) และเตรียมแผนที่จะร่วมมือดำเนินโครงการดังกล่าวกับกรมทางหลวง(ทล.) ด้วย



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ