นักวิจัยธนาคารโลก ชี้ COVID-19 กระทบเด็กไทยเสียโอกาสการเรียนรู้

วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2563

นักวิจัยธนาคารโลก ชี้ COVID-19 กระทบเด็กไทยเสียโอกาสการเรียนรู้


นักวิจัยธนาคารโลก เผยงานวิจัยพบ COVID-19 ส่งผลกระทบทำเด็กไทยเสียโอกาสการเรียนรู้ เด็กชนบทขาดแคลนคอมพิวเตอร์ ซ้ำยังถูก bully ในโรงเรียน ย้ำประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงมากกว่ากลุ่มประเทศอาเซียน

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จัดประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 3 จาก 11 ประเทศ ในอาเซียนและติมอร์-เลสเต ด้วยระบบออนไลน์ โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กองทุนเพื่อความเสมอภาคภาคทางการศึกษา (กสศ.) กรมประชาสัมพันธ์ และหน่วยภาครัฐและเอกชน

      ที่ผ่านมา ได้มีการอภิปรายในหัวข้อ โควิด-19 กับโรงเรียนของฉัน (My School and COVID-19) ซึ่งเป็นเวทีสะท้อนความคิดเห็นของเยาวชนในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกี่ยวกับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาด อีกหนึ่งหัวข้อที่น่าสนใจ ได้แก่ การอภิปรายพิเศษ เปิดผลวิจัย ผลกระทบต่อการเรียนรู้ของนักเรียนไทยในยุคโควิค-19 (Possible Impact of COVID-19 Pandemic on Thai Students’ Achievement) โดย ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านพัฒนามนุษย์ กลุ่มงานการศึกษา ประจำธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย

ดร.ดิลกะ เปิดเผยว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาจะเกิดขึ้นได้ย่อมมาจากหลายปัจจัย อาทิ ทรัพยากร คุณภาพครู คุณภาพโรงเรียน นอกจากนี้ผลการวิจัยพบอีกว่า ค่าใช้จ่ายของเด็กนักเรียนในระดับชั้น ป.1- ม.3 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่กลับไม่ส่งผลให้การเรียนของเด็กดีขึ้นแต่อย่างใด โดยเฉพาะผลสอบ PISA ที่ตกต่ำอย่างมาก, การจัดสรรและการกระจายทรัพยากรเพื่อแก้ไขปัญหาโรงเรียนขาดแคลนบุคลากรครู ยังไม่เป็นไปตามความคาดหวัง อีกทั้งยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมระหว่างนักเรียนในเขตเมืองกับเขตชนบทค่อนข้างสูง และ ประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์

“ความไม่เท่าเทียมนั้นมีอยู่ในทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าประเทศใดก็ตาม แต่ในประเทศไทยเราพบว่ามีความเหลื่อมล้ำในระดับสูงมากเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียน” ดร.ดิลกะ กล่าว

ดร.ดิลกะ ยังเผยผลการสำรวจพฤติกรรมการกลั่นแกล้งรังแก (bully) ในโรงเรียน พบว่า เด็กนักเรียนไทยมีอัตราการถูกกลั่นแกล้งรังแกสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD ทำให้เด็กไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน ไม่มีความสุขในการไปโรงเรียน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงความสามารถในการอ่านที่ลดต่ำลงตามไปด้วย

ดร.ดิลกะ กล่าวว่า แม้ขณะนี้จะยังไม่มีการประเมินความเสียหายในภาพรวมจากผลกระทบของโรคโควิด-19 แต่สิ่งที่สามารถบ่งบอกได้ ณ วันนี้คือ วิกฤตโรคระบาดทำให้เด็กไทยจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะเด็กในชนบทต้องสูญเสียเวลาเรียน ขาดโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านการศึกษาจำเป็นต้องเร่งหาทางช่วยเหลือและแก้ปัญหาต่อไป

ดร.กฤษณพงศ์  กีรติกร  ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า เวทีครั้งนี้ได้เห็นครูแต่ละที่พยายามบอกเล่าปัญหาและแนวทางแก้ปัญหายุคที่โควิด-19 ระบาดกระทบการศึกษา และไม่รู้ว่าโควิดจะอยู่อีกนานแค่ไหน หลังจากที่โรงเรียนถูกปิด เด็กเรียนหนังสือน้อยลง มันส่งผลต่อพัฒนาการและการศึกษาของเด็ก เป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ การไปโรงเรียนมันไม่ใช่แค่อ่านออกเขียนได้ แต่มันมีพัฒนาการทางสังคม สมอง เด็กต้องมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนเล่นกับเพื่อน ยิ่งเด็กกลุ่มเปราะบาง เด็กยากจนจะยิ่งกระทบอย่างมาก

ขณะที่ ดร.อุดม  วงษ์สิงห์  ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูนักศึกษา และสถานศึกษา กสศ. กล่าวว่า การประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ จัดขึ้นผ่านระบบออนไลน์ มีครูจากเครือข่ายทั่วโลกรับชมกว่าแสนคน ซึ่งมีความสำคัญกับการทำงานของ กสศ.อย่างมาก เช่น บทบาทครูต่อการเรียนการสอนในช่วงโควิด-19 เพราะไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียวที่ต้องเผชิญ เราได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายครู11 ประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ ประเทศที่มีเด็กจำนวนมาก เขาดูแลเด็กได้อย่างไร แนวคิดโมบายที่เขาใช้เข้าถึงตัวเด็กเป็นอย่างไร ถ้าเด็กมาโรงเรียนไม่ได้ต้องแก้ปัญหาให้การเรียนส่งถึงบ้านอย่างไร รวมถึงประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่ทันสมัย เขาดูแลเด็กพิเศษของเขาอย่างไร ถือว่าเป็นมิติแลกเปลี่ยน เกิดประโยชน์กับครูไทยอย่างมาก โดยทางกสศ.จะได้นำไปถอดบทเรียนและต่อยอดการพัฒนาครู เพราะ กสศ.มีแผนที่จะพัฒนาครู พัฒนาโรงเรียน พัฒนาเด็กนักเรียนในทุกมิติ และเวที2วันนี้เราจะได้เห็นว่า ครูพยายามหาทางออก ปรับรูปแบบการเรียนรู้ เกิดมุมมองใหม่ๆในแต่ละพื้นที่แต่ละโรงเรียน



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ