"มิว สเปซ" เปิดแผนสร้างเทคโนโลยีดันไทย สู่ "อุตสาหกรรมอวกาศ”

วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2563



"มิวสเปซ" เผยแผนพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศหลังจากทำการส่งวัตถุและอุปกรณ์การทดลอง (payload) ขึ้นไปยังอวกาศเป็นครั้งที่ 4 ร่วมกับ Blue Origin บนจรวด New Shepard (NS-13)

นายเจมส์ วรายุทธ เย็นบำรุง วิศวกรไทยและประธานกรรมการบริหาร บริษัทด้านอุตสาหกรรมดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศ กล่าวว่า ส่วนประกอบต่างๆของดาวเทียม HTS (high throughput satellite) กว่า 40% ผลิตโดยมิวสเปซและผู้ผลิตภายในประเทศด้วยเทคโนโลยีของคนไทยที่ได้มาตรฐานสากลโดยคาดว่าจะสามารถปล่อยดาวเทียมสู่วงโคจรภายในปี 2024 เพื่อให้มิวสเปซเป็นผู้ให้บริการดาวเทียมต่างชาติแห่งแรกของไทยเมื่อมีการเปิดเสรีดาวเทียม ดาวเทียมวงโคจรต่ำหรือ LEO Satellite จะเป็นประโยชน์และมีความสำคัญอย่างมากต่อระบบการสื่อสารในอนาคต

อีกทั้ง ยังเป็นการยกระดับเทคโนโลยีทางด้านการสื่อสารของไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อให้มีศักยภาพทัดเทียมกับนานาชาติ รวมไปถึงการรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆอาทิ 5G, Cloud storage, Online Transaction และความปลอดภัยในการทำธุรกิจต่างๆให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ มั่นใจว่ามิวสเปซคือทางเลือกใหม่ของคนไทยที่จะสามารถพัฒนารูปแบบการให้บริการในทิศทางใหม่ๆได้อย่างตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าอย่างทั่วถึงพร้อมช่วยทำให้การรับส่งสัญญาณมีประสิทธิภาพและเข้าถึงพื้นที่ต่างๆได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

สำหรับเป้าหมายหลักของมิวเปซคือการพัฒนาเทคโนโลยีและอุปกรณ์ต่างๆเพื่อนำประเทศไทยมุ่งสู่ธุรกิจทางด้านอุตสาหกรรมอวกาศอย่างเช่น โครงการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติ (Autonomous Robot) เพื่อใช้ในภารกิจทางด้านอวกาศในอนาคตอันใกล้มิวสเปซจึงมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะสามารถสนับสนุนการค้นหาทรัพยากร ประกอบกับการนำไปพัฒนาต่อยอดด้านการสื่อสารดาวเทียมให้มีคุณภาพสูงแต่มีค่าใช้จ่ายต่ำเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าทุกรูปแบบและสอดคล้องกับความต้องการในตลาดอย่างลงตัวรวมทั้งเป็นการ สร้างงาน สร้างโอกาส ขยายตลาดแรงงานทักษะสูงตลอดจนถึงบุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถในการยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศของไทยสู่นานาชาติ

ดังนั้นไฮไลท์ในการเปิดตัวนี้คือแผนการสร้าง Spaceship หรือพาหนะทางอวกาศขนาดเล็กลำแรกของไทยโดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ สร้าง Data Center นอกชั้นบรรยากาศของโลกซึ่งสามารถลดปัญหาสำคัญของการสร้างศูนย์เก็บข้อมูล เช่น การควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมต่อการปฏิบัติการของระบบภายใต้สภาวะอุณหภูมิต่ำซึ่งใช้ปริมาณมากถึง 40% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด การนำ Data Center ออกไปยังสภาวะอวกาศที่เย็นกว่า -270°C ทำให้สามารถกำจัดเรื่องของอุณหภูมิไปได้อย่างมากใช้พลังงานบริสุทธิ์อย่างแท้จริงไม่พึ่งพาพลังงานจากโลกโดย Spaceship จะโคจรค้างฟ้าและรับพลังงานจากแสงอาทิตย์บริเวณใต้ท้องตลอดเวลาจึงสามารถปฏิบัติงานด้วยตนเองไม่ต้องพึ่งพลังงานจากโลก

ความปลอดภัยโดยทำให้ spaceship  ที่ลอยค้างฟ้าและเชื่อมต่อกันเป็นโครงข่าย constellation มีความปลอดภัยจากอุบัติเหตุต่างๆที่มักเกิดขึ้นบนโลก เช่น ไฟไหม้ หรือ น้ำท่วม ยิ่งไปกว่านั้นการเชื่อมต่อกันเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ครอบคลุมทั้งโลกจะทำให้การเชื่อมต่อมีความลื่นไหลเข้าถึงได้ทุกมุมโลก

ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมิวสเปซได้มีการทดสอบวัสดุที่เหมาะสมต่อการนำมาสร้างโดยทดสอบความแข็งแรงของวัสดุจากการจำลองกระสุนปืนชนิดพิเศษที่มีความเร็วเทียบเท่ากับความเร็วของเศษขยะอวกาศอยู่ที่ความเร็วมากกว่า 1,100 m/s ทั้งนี้ผลทดสอบพบว่าผ่านมาตราฐานการป้องกันกระสุนในระดับ 3 และมิวสเปซได้เตรียมสร้างโรงงานขนาดกลางภายในปลายปีนี้เพื่อให้สามารถเริ่มผลิต Spaceship อย่างเต็มรูปแบบในปี 2021 

มิวสเปซมีจุดเริ่มต้นมาจาก นายเจมส์ วรายุทธ เย็นบำรุง กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิว สเปซ แอนแอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด โดยปัจจุบัน เป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านอุตสาหกรรมการบินและอากาศยาน จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมการบินและอากาศยานและปริญญาโทสาขาวิศวกรรมเครื่องกล จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA) เคยทำงานในตำแหน่งวิศวกรระบบดาวเทียมในโครงการของ นอร์ทธรอป กรัมแมน (Northrop Grumman) บริษัทด้านอวกาศและเทคโนโลยีการป้องกันจนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าทีมโครงการระบบพาหนะไร้คนขับในขณะที่กำลังรุ่งโรจน์ในหน้าที่ในอุตสาหกรรมการบินระดับท็อปของโลกได้ตัดสินใจเดินทางกลับสู่ประเทศไทยโดยมีความตั้งใจที่จะนำความรู้ความสามารถกลับมาพัฒนาประเทศอีกทั้งยังมุ่งมั่นที่พัฒนาธุรกิจด้านดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศของไทยอีกด้วย 

นายเจมส์ วรายุทธ เย็นบำรุง ยังมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการก้าวสู่ธุรกิจด้านดาวเทียมโดยมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ธุรกิจดาวเทียมและอวกาศให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วการนำส่ง payload ในครั้งที่ 4 ของมิว สเปซ แสดงให้เห็นว่านี่คือสัญญานที่ดีในความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมอวกาศ ที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดให้กับคนไทยทุกๆคนในอนาคต

ส่งผลให้ บริษัท มิว สเปซ แอนแอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด กลายเป็นองค์กรผู้ดำเนินกิจการดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศรายเดียวของประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายโดยเติบโตอย่างรวดเร็วอย่างมีศักยภาพสูงภายใต้พันธกิจที่จะนำพาธุรกิจและอุตสาหกรรมอวกาศของไทยให้มีศักยภาพในสามารถในการแข่งขันได้ทัดเทียมกับนานาประเทศนั่นเอง

สำหรับผู้สนใจติดตามชม Highlight การ Unveil ผ่านช่อง Youtube ของ muSpacetech สามารถรับชมได้ที่ https://youtu.be/C-5XJY-giqk



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ