ไทยขึ้นแท่น ‘ท็อปเทน’ เกษตรโลก ผุด ‘เซลส์แมนจังหวัด’ ปลุก ‘เคาน์เตอร์เทรด’

วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2563

ไทยขึ้นแท่น ‘ท็อปเทน’ เกษตรโลก ผุด ‘เซลส์แมนจังหวัด’ ปลุก ‘เคาน์เตอร์เทรด’


พาณิชย์จับมือเกษตรเดินหน้านโยบาย ‘เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด’ ปั้น ‘พาณิชย์-เกษตรจังหวัด’ รับบทเซลส์แมน หาตลาดระบายผลผลิตสินค้าเกษตรของจังหวัด 5 เดือนปั้มยอดขาย 2.5 พันล้าน ชู ‘เคาน์เตอรเทรด’ สินค้าแลกสินค้าปลุกกระแสการค้าในประเทศฝ่าวิกฤติโควิด-19 นำร่อง 4 สหกรณ์จับคู่ ‘ข้าวโพดแลกไข่’ และ ‘ข้าวแลกมังคุด’ เปิดโมเดล ‘เกษตรโอลิมปิก’ เพิ่มรายได้ 3 เท่าขึ้นแท่นท็อปเทนเกษตรโลก

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเปิดงาน "เซลส์แมนจังหวัด จัดซื้อขายแลกเปลี่ยน COUNTER TRADE" ณ ห้องประชุม คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ โรงแรมรามาการ์เด็นท์ ว่า รัฐบาลชุดนี้มีวิสัยทัศน์ชัดเจนในเรื่องของ ”เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” โดยมีพาณิชย์จังหวัด เกษตรจังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในภูมิภาคแต่ละจังหวัด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ และการเดินหน้าไปสู่เป้าหมายรวมของวิสัยทัศน์ในการสร้างไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก โดยพาณิชย์จังหวัดต้องจับมือกับเกษตรกร ผู้ประกอบธุรกิจ ภาคเอกชน และภาคส่วนราชการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อขยายตลาดและหาช่องทางการจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ภายใต้ความรับผิดชอบของตนเอง เพื่อให้สามารถทำหน้าที่เซลล์แมนจังหวัดได้อย่างเป็นรูปธรรมและบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ ผ่าน 4 ช่องทางคือ

1.ตลาดออฟไลน์ ที่จะขยายให้มีการความเติบโตขึ้นในสถานการณ์โควิดและเศรษฐกิจที่ประสบปัญหาในโลกและประเทศของเราที่ได้รับผลกระทบ ด้วยการเปิดพื้นที่ช่องทางการจำหน่ายในทุกรูปแบบทั้งตลาดนัด ตลาดสด ตลาดมุมเมือง โมเดิร์นเทรด สมาร์ทโชวห่วยในทุกรูปแบบ

2.ตลาดออนไลน์ เป็นรูปแบบที่สองที่พาณิชย์จังหวัดจะต้องช่วยประสานดำเนินการผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจะกลายเป็น New Normal ทางการค้าของประเทศและการค้าของโลก

3.คอนแทรคฟาร์มมิ่ง คือการทำเกษตรพันธสัญญาที่มีพระราชบัญญัติกำหนดไว้แล้ว ได้ดำเนินการที่อมก๋อยจังหวัดเชียงใหม่ หรือ “อมก๋อยโมเดล” จึงเป็นหนึ่งตัวอย่างที่พวกเราจะต้องช่วยกันขยายให้เกิดขึ้น

4.เคาน์เตอร์เทรด มีความจำเป็นอย่างยิ่งในภาวะวิกฤตโควิดที่เราต้องให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะรูปแบบการแลกเปลี่ยนสินค้าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการขาดเงินสด ขาดสภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ เอาสินค้ากับสินค้ากับผลิตภัณฑ์บริการมาแลกกัน ถ้าแลกแล้วมูลค่าไม่เท่ากันส่วนเหลื่อมก็จ่ายเป็นเงิน หรือเอาสินค้าชนิดอื่นเติมเข้ามาจนเท่ากันแล้วแลกเปลี่ยน

“นโยบายดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญของวิสัยทัศน์เกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด โดยเฉพาะการจัดซื้อขายแลกเปลี่ยนในรูปแบบเคาน์เตอร์เทรด” รมว.พาณิชย์ กล่าว

โดยการจัดงาน "เซลส์แมนจังหวัด จัดซื้อขายแลกเปลี่ยน COUNTER TRADE" นอกจากจะมีบริษัทใหญ่ๆ เช่น บริษัท บิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด บริษัท เอกชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ดรีเทล จำกัด บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) และโรงงานต่างๆจับคู่ซื้อสินค้ากับสหกรณ์ เทรดเดอร์ หรือ บิสคลับของแต่ละจังหวัดจำนวน 12 คู่แล้ว ในส่วนของเคาน์เตอร์เทรดมีสหกรณ์ 2 คู่นำสินค้ามาแลกเปลี่ยนกันคือสหกรณ์นิคมแม่ระมาด จำกัด จังหวัดตาก แลกเปลี่ยนข้าวโพด กับ ไข่ไก่ของสกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด

จังหวัดฉะเชิงเทรา มูลค่า 80,900,000 บาท และ สหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด จังหวัดร้อยเอ็ด แลกเปลี่ยนข้าวกับมังคุดของสหกรณ์การเกษตรพรหมคีรี จำกัด จังหวัดนครศรีธรรมราช 23,000,000 บาท โดยมีพาณิชย์จังหวัดทำหน้าที่เป็นเซลส์แมนของจังหวัด

“ต้องขอชื่นชมพาณิชย์จังหวัด ในฐานะเซลส์แมนจังหวัดที่ได้รับนโยบายเคาน์เตอร์เทรดไปปฏิบัติ จนปรากฏผลงานในครั้งนี้ ถือว่าทำหน้าที่ได้บรรลุเป้าหมายตั้งแต่เดือน เม.ย.-ส.ค. รวม 5 เดือนเต็ม คาดว่าจะเกิดยอดสั่งซื้อเกินกว่า 2,500 ล้านบาท ซึ่งถือว่าได้ช่วยเหลือกระจายผลผลิตของเกษตรกรที่ประสบปัญหาในช่วงที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี”

รุกพัฒนาเกษตรกรครบวงจร

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ภาคเกษตรถือเป็นรากฐานของประเทศและมีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเกษตรกรและภาคเกษตรอย่างเป็นระบบ โดยได้มีการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา เพื่อเพิ่มศักยภาพของเกษตรกรไทยสู่การเป็นเกษตรกรมืออาชีพที่สามารถบริหารจัดการสินค้าเกษตรได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป และการตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่หลากหลายได้อย่างเหมาะสม มีการผลิตสินค้าเกษตรที่ได้คุณภาพมาตรฐาน มีความปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ อีกทั้งยังคำนึงถึงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

เปิดโมเดล ‘เกษตรโอลิมปิก’ เพิ่มรายได้ 3 เท่า

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯจะไม่ใช้นโยบายแบบเดิมอีกต่อไป แต่ต้องวางแนวคิดอย่างเป็นระบบ ภายใต้เป้าหมายสำคัญคือการยกระดับพัฒนาภาคเกษตรและเพิ่มรายได้เกษตรกรที่เป็นฐานรากสำคัญของประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ด้วยเป้าหมายการปฏิรูปภาคเกษตรไทยให้เป็นแชมป์โอลิมปิกเกษตรให้ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารไทยเป็นอันดับ 11 ของโลก แซงหน้าอินเดีย และใน 20 ประเทศมีเพียงไทยและเม็กซิโกที่กระโดดขึ้น 2 อันดับ เป็นอันดับที่ 2 ของเอเชียรองจากจีน ดังนั้นจะต้องแซงหน้าอีก 10 ประเทศที่อยู่เหนือเราให้ได้ และรายได้เกษตรกรต้องสูงขึ้น จากที่เคยตกต่ำ ทั้งที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญของโลก

ซึ่งการจะไปสู่มิติใหม่หรือยุคดิจิทัลได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงแนวความคิดครั้งใหญ่ของภาคเกษตร โดยจะใช้โมเดล ”เกษตรโอลิมปิก” ที่จะมี 5 นโยบายหลักในการขับเคลื่อน ประกอบด้วย

1.นโยบายเทคโนโลยีเกษตร จะช่วยยกระดับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ภายใน 6 เดือน ด้วยการสร้างบิ๊กดาต้า ฐานข้อมูลที่สร้างขึ้นจะต้องนำไปใช้ภาคเกษตรกรได้จริง

2.ตลาดนำการผลิต ต้องดูว่าตลาดมีขนาดใหญ่แค่ไหน สินค้าและราคาค้าปลีกในแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร การขนส่งเป็นอย่างไร ต้นทุนเท่าไหร่ ต้องมีข้อมูลและเลือกตลาดที่ถูกกับผลิตภัณฑ์

3.การประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งไม่ใช่นโยบายประชานิยม แต่เป็นหลักคิดที่ดีในภาวะเศรษฐกิจผันผวน ที่ผ่านมา เกษตรกรยังเป็นหนี้จากราคาพืชผลตกต่ำ แต่ถ้ามีการประกันรายได้พืชเกษตร 5 ชนิด จะทำให้เกษตรกรมีกำไรจากการขายผลผลิต และจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรด้วย

4.เกษตรปลอดภัย จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคเกษตรของไทย ที่สำคัญคือการทำเกษตรอย่างยั่งยืน โดยยึดหลักธรรมชาติและเศรษฐกิจพอเพียง

5.เศรษฐกิจการเกษตร ภาคเกษตรจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยมีการบริหารจัดการภายในฟาร์มต่าง ๆ ที่ทันสมัย อาทิ สมาร์ทฟาร์มเมอร์ เพื่อช่วยยกระดับภาคเกษตรไทยให้ยั่งยืน

“ปัจจุบันเกษตรกรไทยมีรายได้เพียง 6,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ซึ่งถือเป็นรายได้ที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับการเป็นประเทศผู้นำด้านการเกษตร จึงจำเป็นต้องสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรอย่างน้อย 3 เท่า โดยรายได้ต้องไปถึง 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 450,000 บาทต่อคนต่อปี ภายในไม่เกิน 20 ปี แต่ในยุคดิสรัปชันสามารถทำให้เกิดขึ้นเร็วกว่านั้นได้” ที่ปรึกษา รม.เกษตรและสหกรณ์ กล่าว

สำหรับนโยบาย "เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด" คือแพลตฟอร์มกลางจากความร่วมมือของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ร่วมกันสร้าง Single Big Data โดยใช้ข้อมูลจากฐานเดียวกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้วยคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัยและการตรวจสอบย้อนกลับ ภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนําการผลิต ตั้งเป้าให้ไทยเป็น “ศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก”

ขณะที่ภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรปี 2562 ที่ผ่านมา ในช่วง 7 เดือนแรกไทยขยับติด "ท็อปเท็น" ส่งออกสินค้าเกษตรมากที่สุดในโลกจากปีก่อนหน้าที่อยู่อันดับที่ 11 โดยมีตลาดส่งออกสำคัญได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และฮ่องกง คู่ค้าสำคัญ 3 อันดับแรกคือ อาเซียน จีน และญี่ปุ่น



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ