“ทช. - เชฟรอน – จุฬาฯ” นำร่องวางปะการังเทียมจากขาแท่นปิโตรเลียมครั้งแรกในไทย

วันเสาร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2563

“ทช. - เชฟรอน – จุฬาฯ” นำร่องวางปะการังเทียมจากขาแท่นปิโตรเลียมครั้งแรกในไทย


การผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยดำเนินมาเกือบ 4 ทศวรรษ โดยแหล่งก๊าซธรรมชาติ 2 แหล่งใหญ่ คือแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช จะสิ้นสุดสัมปทานเดิมในปี 2565 และ 2566 ซึ่งตามกฎหมายและข้อตกลงในสัญญาสัมปทาน ได้มีข้อกำหนดให้ผู้รับสัมปทานรายเดิมต้องดำเนินการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม ที่ภาครัฐไม่ได้รับโอนไปใช้ประโยชน์ต่อและจะต้องทำการรื้อถอนออกไป เฉพาะของแหล่งเอราวัณ มีแท่นที่ต้องรื้อถอน 49 แท่น จาก 191 แท่น  

แนวทางหนึ่งที่ทั่วโลกใช้ในการจัดการส่วนของขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมที่เลิกใช้งานคือ การนำขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมเหล่านั้นไปจัดวางเป็นปะการังเทียม (Rigs-to-Reefs) เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในฐานะผู้ดำเนินงานในแหล่งเอราวัณปัจจุบัน ได้ร่วมดำเนินโครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม จำนวน 7 ขาแท่น ไปจัดวางเป็นปะการังเทียม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล บริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภายใต้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทช. ได้รับการจัดสรรงบประมาณจัดทำปะการังเทียม เพื่อเป็นการอนุรักษ์เพาะพันธุ์สัตว์น้ำเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ในทะเล ปีละประมาณ 100 ล้านบาทอยู่แล้ว การที่นำขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม ซึ่งมีความคงทน แข็งแรง ทำจากเหล็กกล้า (carbon steel) สร้างเพื่อใช้งานในทะเลมาจัดวางเป็นปะการังเทียมเพิ่มเติม โดยการสนับสนุนงบจาก บริษัท เชฟรอนฯ ถือเป็นเรื่องที่ดี ในการช่วยรัฐประหยัดงบประมาณในการจัดทำปะการังเทียม  

“วัสดุที่เป็นขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมมีความสูงประมาณ 70-84 เมตร ความกว้างของฐานเมื่อวางในแนวนอนแล้วก็ยังสูง 20 กว่าเมตร เรานำมาจัดวางที่ระดับน้ำประมาณ 40 เมตร ก็เพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ เพราะควรมีระยะห่างของยอดกองปะการังเทียมกับผิวน้ำไม่น้อยกว่า 15 เมตร สำหรับกองปะการังเทียมนี้ นอกจากจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์น้ำวัยอ่อน ยังถือเป็นการเพิ่มมิติด้านแหล่งดำน้ำใหม่ๆ ในเขตน้ำลึก ซึ่งมั่นใจได้ว่า จะเป็นจุดรองรับเรือทัวร์ของนักท่องเที่ยวจากเกาะพะงัน เกาะสมุย และเกาะเต่าในอนาคต รวมทั้งช่วยลดผลกระทบจากการดำน้ำในแนวปะการังธรรมชาติลงได้”  

นายโสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากการจัดวางขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมทั้ง 7 ขาแท่นเสร็จแล้ว ทช. และจุฬาฯ ซึ่งได้รับงบประมาณจากทางเชฟรอน 22.8 ล้านบาท จะร่วมกันศึกษา ติดตาม และประเมินผลโครงการฯ ดังกล่าวในระยะแรกในช่วง 2 ปีนี้ ที่จะเป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาการของทั้งในและต่างประเทศ ก่อนนำไปสู่การขยายผลในอนาคตต่อไป โดย ทช. ได้เตรียมออกประกาศให้พื้นที่จัดวางปะการังเทียมดังกล่าวเป็นพื้นที่คุ้มครอง เพื่อให้เกิดการจัดการและการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมทั้งในด้านการประมง และการท่องเที่ยวต่อไปด้วย  

อย่างไรก็ตาม สำหรับการนำขาแท่นมาจัดวางเป็นปะการังเทียมในระยะถัดไปนอกเหนือจากโครงการนำร่องนี้ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยจะพิจารณาจากผลการศึกษาของโครงการนำร่องนี้ ส่วนกระบวนการในระยะยาวจะได้ผลดีมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องมีการติดตามต่อไป แต่แนวโน้มเป็นไปด้วยดี นายโสภณ กล่าว  

ด้านนายอรรจน์ ตุลารักษ์ ผู้จัดการแผนกรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่เลิกใช้งานในกิจการปิโตรเลียม บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันขาแท่นทำหน้าที่เสมือนปะการังเทียมอยู่แล้ว เพราะมีโครงสร้างซับซ้อนและมีความทนทาน เหมาะในการลงเกาะของปะการังและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เป็นอย่างดี การย้ายขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจากพื้นที่สัมปทานเพื่อนำมาจัดวางเป็นปะการังเทียมในบริเวณที่ใกล้กับชายฝั่งมากขึ้น ซึ่งห่างจากเกาะพะงันไปประมาณ 7.5 ไมล์ทะเล และเป็นจุดที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้เห็นชอบร่วมกัน จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศในหลายด้าน ทั้งช่วยเพิ่มแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ สร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศทางทะเล ส่งผลดีต่อการประมงและธุรกิจท่องเที่ยว ตลอดจนช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน  

“การดำเนินงานโครงการดังกล่าว มีหน่วยงานภาครัฐคอยกำกับดูแลในทุกขั้นตอน และเชฟรอนเองก็ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในระดับสากล” นายอรรจน์ กล่าวทิ้งท้าย 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ