“สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย” รับการร้องเรียนจากกลุ่มเกษตรกร 7 พืชเศรษฐกิจ ได้รับผลกระทบจากการใช้กลูโฟซิเนต

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2563

“สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย” รับการร้องเรียนจากกลุ่มเกษตรกร 7 พืชเศรษฐกิจ ได้รับผลกระทบจากการใช้กลูโฟซิเนต


"สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย"รับการร้องเรียนจากกลุ่มเกษตรกร 7 พืชเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการใช้กลูโฟซิเนตจากคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรฉีดพ่นหญ้าแต่พืชปลูกตายเหตุพิษดูดซึมด้านสภาอุตสาหกรรมเห็นผลกระทบการแบนสามสารเคมีรอบด้านเคยยื่นหนังสือถึงกระทรวงอุตสาหกรรมร้อง สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ยกเลิกการแบนสารพาราควอตล่าสุดเกิดผลกระทบเกษตรกรและจะกระทบอุตสาหกรรมต่อเนื่องถึง 2 ล้านล้านบาท

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย และนายกสมาคมเกษตรปลอดภัย เปิดเผยว่า เกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ อ้อย ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ยางพารา ผลไม้ ข้าวโพดหวานและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปัจจุบันได้รับผลกระทบพืชปลูกเสียหายตายเรียบจากคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรและแรงเชียร์จากเอ็นจีโอผลักดันให้ใช้ “กลูโฟซิเนต” ฆ่าหญ้าของนายทุนใหญ่หลังแบนพาราควอตและจำกัดการใช้ไกลโฟเซตด้วยความเร่งรีบแบนอย่างมีเงื่อนงำและเป็นขบวนการโดยภาครัฐยังไม่มีมาตรการรองรับที่ชัดเจนไร้มาตรการเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรการแบนสารหนึ่งแล้วแนะนำให้ใช้อีกสารเคมีหนึ่งไม่ได้เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างแท้จริงเพราะสุดท้ายผู้ได้ประโยชน์ก็คือ นายทุน ที่สำคัญ คณะกรรมการการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตร กลับอนุมัติให้มีการนำเข้าวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีการตกค้างสารเคมีจากต่างประเทศมาให้ผู้บริโภคไทยรับประทานอีกเป็นการปฏิบัติสองมาตรฐานเกิดความไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกรและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

“ในขณะนี้กระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ภายใต้การนำของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการฯได้ดำเนินการยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการวัตถุอันตรายแล้วซึ่งเป็นการทำงานในหน้าที่อย่างถูกต้องในความรับผิดชอบต่อชีวิตอาชีพและความเป็นอยู่ของเกษตรกร คงเหลือแต่ กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การนำของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการฯที่จะออกมาปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสมด้วยความภาคภูมิใจในความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจความมั่นคงและการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมที่กำลังประสบปัญหาจากวิกฤตโรคระบาด” นายสุกรรณ์ กล่าว

ด้านนายมนตรี คำพล ประธานสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เกษตรกรไร่อ้อยทั่วประเทศกว่า 4 แสนครัวเรือนเดือดร้อนหนักมากหลังประกาศยกเลิกใช้พาราควอตเพราะต้นทุนเกษตรกรเพิ่มมากขึ้นทั้งค่าจ้างแรงงานสารเคมีแถมต้องใช้สารเคมีมากขึ้นแต่ไม่มีประสิทธิภาพเพราะกลูโฟซิเนตที่ได้รับคำแนะนำให้มาทดแทนนอกจากจะฆ่าหญ้าไม่ตายแล้วกลับทำให้ต้นอ้อยไม่เติบโตกระทบเกษตรกร 4 แสนครัวเรือนหรือ 10 ล้านคนสอดคล้องกับ

นางสาวทิพวรรณ ยงประโยชน์ เลขาธิการสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า 4 องค์กรชาวไร่อ้อยพร้อมด้วย 37 สถาบันชาวไร่อ้อยได้เข้าหารือ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เนื่องจากการแบนสารพาราควอตทำให้ผลผลิตอ้อยลดลงส่งผลกระทบถึงโรงงานน้ำตาลรวมทั้งข้อมูลที่นำมาใช้ในการแบนมีข้อน่ากังขาหลายประการและเป็นการแบนสารชนิดหนึ่งให้ใช้สารอีกชนิดหนึ่งที่ไม่มีประสิทธิภาพโดย รมว. เฉลิมชัย รับว่าจะส่งเรื่องทบทวนไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมจึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมอย่างเร่งด่วนหากล่าช้าเกษตรกรอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลอาจไม่รอด

นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล ประธานกิตติมศักดิ์ และกรรมการคณะกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แสดงทัศนะว่า การแบนพาราควอตคลอร์ไพรีฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซตส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเคมีและอุตสาหกรรมต่อเนื่องถึง 2 ล้านล้านบาท สภาอุตสาหกรรมฯเห็นว่าความเดือดร้อนนี้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทยและที่สำคัญมีผลกระทบกับเกษตรกรที่เป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมดสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจึงได้จัดงานเสวนาและถอดบทเรียนจากการแบนสารทั้ง 2 ชนิดเมื่อต้นปีที่ผ่านมานอกจากนี้สภาอุตสาหกรรมฯเคยส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจเพื่อขอให้พิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านและหามาตรการบรรเทาผลกระทบให้ได้ก่อนตัดสินใจแบนสารทั้ง 2 ชนิดซึ่งสภาอุตสาหกรรมฯก็ยังคงมีข้อเรียกร้องเดิมนี้ไปยังภาครัฐและคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ต้องทบทวนมาตรการต่างๆอย่างรอบครอบเพราะความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว

ด้านดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศ กล่าวว่า ขั้นตอนการพิจารณายกเลิกการใช้พาราควอตเป็นที่น่าสังเกตุว่าไม่ใช่ขั้นตอนปกติของกรมวิชาการเกษตรนอกจากการแบนสารอย่างเร่งรีบแล้วยังไม่มีความพร้อมของสารทดแทนที่มีคุณสมบัติประสิทธิภาพและราคาที่ใกล้เคียงกับพาราควอตสารชีวภัณฑ์ปลอมเกลื่อนและยังไม่มีชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง

รวมทั้งการสืบค้นหาความจริงในงานวิจัยที่ถูกกล่าวอ้างว่าพบสารเคมีตกค้างในน้ำดื่มเมืองน่านพบว่านักวิจัยอ้างค่ามาตรฐานผิดจากความจริงและเมื่อลงพื้นที่หาสาเหตุโรคเนื้อเน่าปลายปีที่ผ่านมาไม่พบการตกค้างของพาราควอตแต่พบเชื้อแบคทีเรียสาเหตุของโรคเนื้อเน่าเช่นเดียวกับงานวิจัยพาราควอตในขี้เทาทารกพบว่ามีข้อน่าสงสัยหลายประการในวิธีการทดลองของนักวิจัยที่ยังไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ 

ขณะเดียวกันนักวิจัยเองยังแสดงความเห็นของตนเองในรายงานว่ามีการทำการศึกษาในตัวอย่างที่น้อยเกินไปและไม่สามารถสรุปความสัมพันธ์ของบางเหตุการณ์ได้สิ่งที่น่ากลัวที่สุดสารกำจัดวัชพืชกลูโฟซิเนตได้แบนไปแล้วในสหภาพยุโรป ปี 2561 โดยพบว่าเป็นพิษต่อระบบประสาททำให้ระบบสืบพันธุ์และการเจริญของทารกผิดปกติและอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมแต่กลับได้รับคำแนะนำจากกรมวิชาการเกษตรและเอ็นจีโอให้ใช้สารนี้โดยไม่มีการนำเสนอข้อมูลที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและเกษตรกรเลยบทเรียนที่น่าสนใจของการแบนกลูโฟซิเนตของสหภาพยุโรปคือใช้ระยะเวลาในกระบวนการยกเลิกถึง 13 ปีเพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวที่จะหาวิธีการหรือสารทดแทนและนำสินค้าออกจากตลาดแต่การแบนพาราควอตในประเทศไทยใช้เวลาไม่กี่เดือนโดยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 เป็นการห้ามเกษตรกรและอุตสาหกรรมในประเทศใช้ต้องส่งกลับคืนไปสู่ต้นทางเพื่อเผาทำลายเท่านั้น



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ