สถานการณ์ล่อแหลม... ท้าทาย“สถานภาพ”เกมอำนาจ

วันจันทร์ที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2563

สถานการณ์ล่อแหลม...  ท้าทาย“สถานภาพ”เกมอำนาจ


ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ถนนหาทางในเมืองหลวงของไทยอย่างกรุงเทพมหานครต้องเจิ่งนองไปด้วย “น้ำที่รอการระบาย” หลังจากพบกับฝนที่ตกลงมาห่าใหญ่ ทำเอาชาวบ้านต่างต้องเจอกับปัญหาจราจรติดขัด พากันไปทำงานไม่ทันเป็นแถว ผิดกับพี่น้องเกษตรกรในต่างจังหวัดที่เจอฝนตกหนักชนิด “น้ำป่าหลาก” ต้องเผชิญกับน้ำท่วมบ้าน และเรือกสวนไร่นา พอน้ำแห้งก็กลายเป็น “แล้ง” ไปในทันที

เข้าตำราที่ว่า ถ้า “การเมืองดี” คุณภาพชีวิตของนักเรียน นักศึกษา แรงงานรับจ้าง ชาวนา  มนุษย์เงินเดือน ผู้ประกอบการรายย่อยจะดีกว่านี้ รวมถึงคุณภาพชีวิตและศักดิ์ศรีของทหารเกณฑ์ ทหารและตำรวจชั้นผู้น้อย ที่จะไม่ถูกข่มเหงเอาเปรียบโดยนายของตนเอง

นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชานช โดยเฉพาะการเมืองฝ่ายค้านที่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2563 ที่ว่ากันว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ”

ด้วยมีเงื่อนไขที่ซ่อนไว้ในรัฐธรรมนูญมาตราต่าง ๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้อำนาจกับวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. จำนวน 250 คน สามารถโหวต ลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี

แต่เมื่อเจอกับพลังคลื่นลูกใหม่” กระแทกรุนแรงต่อกรอบความคิดเก่า ๆเดิม ๆ ทำให้ผู้ใหญ่ฝ่าย “คุมเกมอำนาจ” ในรัฐบาลไทยต้องหยุดฟังอย่างจริง ๆ จัง ๆ โดยเฉพาะปฏิกิริยาจาก “นักเลือกตั้งอาชีพ” ที่ประกาศเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ชูธง 1 ในข้อเรียกร้องหลักของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ในนามแนวร่วม “ประชาชนปลดแอก” ที่ยื่นเงื่อนไข “3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน และ 1 ความฝัน” ขีดเส้นให้ พล.อ.ประยุทธ์ดำเนินการภายในเดือนกันยายนนี้

โดยที่พรรคฝ่ายค้านนำโดยพรรคเพื่อไทย ปักหมุดต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และต้องตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้มีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ขณะที่พรรคก้าวไกลที่มี “ราก” มาจากพรรคอนาคตใหม่ที่มองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.ร.ยังไม่เพียงพอ แต่ต้อง ยกเลิก ส.ว.250 คน ด้วย จึงจะจัดการ “กลไกสืบทอดอำนาจ” ได้

ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคพลังประชารัฐ แกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ได้ยื่นเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยืนยันในหลักการไม่แก้ไขในหมวด 1 และหมวด 2 พร้อมขอให้ประชาชนเชื่อมั่นต่อกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านระบบรัฐสภา ที่ยึดถือหลักสิทธิ เสรีภาพและความอยู่ดีมีสุขของประชาชนเป็นสำคัญ

โดยออกแบบการจัดตั้ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. จำนวน 200 คน โดยสัดส่วน สสร. ทั้ง 200 คน จะมาจากการ เลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ในแต่ละจังหวัด 150 คน รัฐสภา คัดเลือก 20 คน จากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เลือก 20 คน และเลือกจากนักเรียน นิสิต หรือนักศึกษา 10 คน

นอกจากนี้ ยังได้กำหนดลักษณะบุคคลต้องห้ามที่ไม่สามารถใช้สิทธิสมัครเป็น สสร. ได้ คือ ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือรัฐมนตรี รวมถึงบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ขณะที่นักวิชาการต่างมองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดจากแรงกดดันทางการเมือง ความเปราะบางทางเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาลยอมถอยออกมา เพื่อนำไปสู่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี โดยแบ่งออกช่วงแรก 4-5 เดือน ซึ่งรัฐบาลยอมถอยให้มีการตั้ง ส.ส.ร. แม้รัฐบาลจะไม่เต็มใจให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เท่าไหร่ แต่ก็เชื่อว่าถ้ารัฐบาลมีโอกาสพลิกเกมได้เขาจะทำอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงต้องพยายามรักษาบรรยากาศทางการเมืองแบบนี้ไว้ เพื่อให้ ส.ส.ร.แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้

อย่างไรก็ตาม ต้องมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาเพื่อสร้างกติการ่วมกัน เพราะไม่ต้องการเป็นผู้ชนะเพียงฝ่ายเดียว ส่วนในระยะที่ 2 คือการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาเป็นปี โดยมีเนื้อหาหลายประเด็นที่จะต้องแก้ไข โดยเฉพาะ ส.ว.นั้นมีความจำเป็นว่าต้องยังมีอยู่หรือไม่  จากนั้นก็เข้าสู่ระยะสุดท้ายคือการมีรัฐบาลใหม่ ภายใต้กติกาของประชาชนผ่านรัฐธรรมนูญที่ร่างโดย ส.ส.ร.

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านมองว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังเป็นตัวขัดขวางระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย เพราะ “บทเฉพาะกาล” ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้น ที่เป็น “หัวใจ” สำคัญที่สุดนั่นก็คือ 250 ส.ว. ที่มี อายุการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ซึ่งเป็น “หลักประกัน” ว่าพรรคพลังประชารัฐจะได้เป็นพรรคแกนนำรัฐบาลต่อไป

ต่อให้รัฐบาลนี้อยู่ครบวาระถึงเลือกตั้งครั้งหน้า ส.ว.ชุดนี้ก็ยังอยู่โหวต พล.อ.ประยุทธ์ต่อได้อีกครั้งหนึ่ง การตั้ง ส.ส.ร.จึงเป็นแค่การ “ซื้อเวลา” ของ “ระบอบประยุทธ์”

นี่เองจึงทำให้หลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์” เดินเกมด้วยเล่ห์เหลี่ยมต่าง ๆ ด้วยการเสนอเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งมีขั้นตอนในการจัดทำรัฐธรรมนูญที่ทำให้ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะมีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี ออกไปได้อย่างน้อย 20 เดือน หากดำเนินการตตามแนวทางดังกล่าวนั้นก็จะทำให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯยาวนานที่สุด หรือ 12 ปี หลังรัฐประหาร 2557

ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองก็ร้อนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ และที่ทำให้การเมือง “เดือด” ขึ้นไปอีก เมื่อ “พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์” ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)ทิ้งทวนก่อนเกษียณกับ hashtag #​ จะไม่ยอมให้จบที่รุ่นเรา ที่ดูเหมือนจะเป็นการออกมาตอบโต้กับเด็กนักเรียน นักศึกษาที่เคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐบาลอยู่ในขณะนี้

แต่ก็มีสิ่งบอกเหตุให้เห็นว่า “พลานุภาพ 3 นิ้ว” ของพลังคนรุ่นใหม่ทำให้ท่านผู้นำสั่งใส่เกียร์ถอยสุดซอย ชะลอจ่ายค่างวดเรือดำน้ำจีน ทั้ง ๆ ที่กลุ่ม “ไทยภักดี” เวทีของ Baby boomers ประกาศให้ “บิ๊กตู่” เดินหน้าซื้อเรือดำน้ำ ห้ามเบรกตามแรงต้านของคนเจน Z

เท่านี้ก็บ่งชี้ว่า สถานการณ์ล่อแหลม นายกฯไม่เสี่ยงวัดดวงพลังโดยธรรมชาติของเด็กนักเรียน นักศึกษา ไต่ระดับมาถึงจุดอันตรายต่อ “สถานภาพ” เกมอำนาจ ที่นาทีนี้กำลังหักมุมสวนทางกับภาวะ “ความชอบธรรม” ของ “บิ๊กตู่” และ” “รัฐบาล 3 ป.” ที่ดิ่งพสุธา ทรุดมาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แรงป่วนในพรรคพลังประชารัฐต่อเนื่องการปรับ ครม.

แถมยังมีเรื่องการซุก  “งบฯ 111 ล้านบาท” โผล่มาประจานในคดี “เหมืองทองอัครา” ที่ย้อนกลับไปหา “บิ๊กตู่” ที่เคยประกาศขอรับผิดชอบด้วยตัวเอง จากการใช้อำนาจมาตรา 44 สิ่งปิดเหมืองจนถูกบริษัทสัญชาติออสเตรเลีย ยื่นฟ้องรัฐบาลไทย ยังไม่นับ “คดีบอสกระทิงแดง” ที่ทำลายศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมอีกเรื่องหนึ่ง

“การเมืองเน่า-โรคระบาด” ฉุดเศรษฐกิจดิ่งเหวที่ยังไม่มองเห็นก้นเหวว่าลึกขนาดไหน ทั้งหมดล้วนทำสังคมเสื่อมศรัทธา

เข้าทางชุมนุมไล่...!

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ