‘ร้อยเอ็ด..ปักธง! มหานครข้าวหอมมะลิ เมืองแห่งสุขภาพ วิถีเกษตรอินทรีย์’

วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2563

‘ร้อยเอ็ด..ปักธง! มหานครข้าวหอมมะลิ เมืองแห่งสุขภาพ วิถีเกษตรอินทรีย์’


‘สิบเอ็ดประตูเมืองงาม เรืองนามพระสูงใหญ่ ผ้าไหมสาเกต บุญผะเหวดประเพณี มหาเจดีย์ชัยมงคล งามน่ายลบึงพลาญชัย เขตกว้างไกลทุ่งกุลา โลกลือชาข้าวหอมมะลิง’ คือคำขวัญที่บ่งบอกถึงวิถีความรุ่งเรืองของจังหวัดร้อยเอ็ดได้เป็นอย่างดี และเป็นอีกหนึ่งจังหวัดสำหรับการจัดงานฉลองครบรอบ 4 ปี ก้าวสู่ปีที่ 5 “โครงการช่วยเหลือสังคม ทดแทนคุณแผ่นดิน” ของหนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ และ บริษัทในเครือ โซนภาคตะวันออกฉียงเหนือ ณ ศูนย์ประชุมสาเกตฮอลล์ จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อสนับสนุนนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมีอันตราย ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ให้เกษตรและชุมชนอย่างยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจาก คุณเลิศบุศย์ กองทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งได้รับมอบหมายจาก คุณวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ให้เป็นตัวแทนมาเป็นประธานเปิดงานพร้อมให้สัมภาษณ์พิเศษ ‘สยามธุรกิจ’ ถึงนโยบายการสนับสนุนเกษตรอินทรีย์และการดำเนินกิจกรรมต่างๆของจังหวัด

ภาพรวมทางเศรษฐกิจของจังหวัดร้อยเอ็ด?

จังหวัดร้อยเอ็ดมีทั้งหมด 20 อำเภอ เป็นจังหวัดค่อนข้างใหญ่ อยู่ตรงกลางของภาคอีสาน มีลำน้ำสายหลัก 3 ลำน้ำคือลำน้ำชี ลำน้ำยัง และ ลำน้ำเสียว อาชีพหลักของพี่น้องชาวร้อยเอ็ดจำนวนกว่า 1.3 แสนคนเป็นอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะนาข้าว เพราะฉะนั้นปัจจัยการผลิตที่สำคัญนอกจากจะเป็นเรื่องของการมีพื้นที่ทำนา มีน้ำสำหรับการเพาะปลูก สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องปุ๋ย  เนื่องจากนโยบายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งเสริมอยู่สม่ำเสมอคือการเพิ่มผลผลิตให้มีคุณภาพ ซึ่งที่ผ่านมาทางจังหวัดก็มีความกังวลเป็นห่วงพี่น้องเกษตรกรอยู่พอสมควร เพราะว่าข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าสิ่งแวดล้อมเสียไปจากการใช้สารเคมีทั้งหลาย สิ่งตกค้างที่เป็นสารเคมีไหลลงตามน้ำซึมลงไปในดิน สุดท้ายกลับมาหาผู้บริโภค กลายเป็นว่าเราส่งเสริมให้มีผลผลิตมากแต่สุขภาพเราเสีย เงินที่ลงไปก็ไม่ได้กำไรคืนมา เพราะถูกนำไปใช้เพื่อรักษาสุขภาพร่างกาย เท่ากับว่าเงินทางด้านเกษตรเพิ่มขึ้นก็จริง แต่เงินทางด้านสาธารณสุขก็เพิ่มขึ้นด้วย เจ๊ากันพอดี ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องมองทุกอย่างให้เป็นวงจรครบถ้วน เริ่มตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการผลิตจนถึงปลายทางทางด้านการตลาดและกลับมาหาสุขภาพของเราด้วย ขณะเดียวกันเรายังต้องการเป็นเมืองแห่งสุขภาพด้วย ทั้งน้ำทั้งปุ๋ยจึงถือว่าสำคัญมาก นอกจากการทำนาแล้วก็มีการทำพืชสวน พืชไร่อีกหลายชนิด มีสินค้าโอทอป ผลผลิตมวลรวมของจังหวัดประมาณ 6 หมื่นกว่าล้านกำลังจะขยับเป็น 7 หมื่นล้าน รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อคนต่อปีประมาณ 5 หมื่นเกือบ 6 หมื่นบาท

นโยบายการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดร้อยเอ็ด?

ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของจังหวัดเลย เพราะว่าร้อยเอ็ดมีเป้าหมายเป็นมหานครข้าวหอมมะลิ ซึ่งท่านคงเคยได้ยินคำว่าข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดร้อยเอ็ด แม้จะมีในมหาสารคาม สุรินทร์ ศรีสะเกษ ยโสธร แต่ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ที่นี่ ทางตอนใต้ซึ่งมีลำน้ำเสียวไหลพาดผ่าน แต่พื้นที่นาตรงนั้นไม่ใช่พื้นนาที่อยู่ในเขตชลประทาน จึงต้องอาศัยธรรมชาติเป็นหลัก ถ้าปีไหนฝนตกตามฤดูกาลก็จะได้ผลผลิตมาก ถ้าเกษตรกรมีความเข้าใจแจ่มแจ้งว่ากระบวนการผลิตสินค้าต้องผลิตสิ่งที่กำลังเป็นเทรนด์ของโลกคือสุขภาพดี อาหารปลอดภัย เมื่อผลิตในสิ่งนี้ถึงจะมีตลาดรองรับ เพื่อขายได้มาก มีกำไรเหลือ ชีวิตถึงจะดีขึ้น นั่นคือนโยบายการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ของจังหวัด ซึ่งการผลิตพืชสวนไร่นาที่ปลอดภัยเพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีถือเป็นหัวใจสำคัญของการส่งเสริมในเรื่องเกษตรอินทรีย์ นอกจากจะลดต้นทุนการผลิตแล้วยังไม่ต้องเผาวัสดุเหลือทิ้ง ไม่มีฝุ่น PM2.5 สุขภาพก็ไม่เสีย ไม่มีสิ่งปนเปื้อนในดินในน้ำ สุขภาพก็ดีขึ้น ก่อให้เกิดความยั่งยืนได้ในอนาคต

เสน่ห์การท่องเที่ยวของร้อยเอ็ด?

คำขวัญของเราคือ ‘สิบเอ็ดประตูเมืองงาม เรืองนามพระสูงใหญ่ ผ้าไหมสาเกต บุญผะเหวดประเพณี มหาเจดีย์ชัยมงคล งามน่ายลบึงพลาญชัย เขตกว้างไกลทุ่งกุลา โลกลือชาข้าวหอมมะลิง’ ปรากฏให้เห็นเด่นชัดว่าเรามีอะไรโดดเด่น เป็นเมืองเก่าได้ชื่อว่าสาเกตนคร นอกจากบึงพลาญชัยเรายังมีหอโหวดชมเมือง 101 เป็นหอสูงรูปทรงโหวด สามารถชมทัศนียภาพ 360 องศาของเมือง จะเปิดให้เข้าชมเร็วๆนี้ สำหรับของฝากที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อกลับไปฝากญาติพี่น้องคือข้าวหอมมะลิ กลายเป็นของฝากที่ถูกใจมาก เพราะเป็นข้าวที่มาจากทุ่งกุลาจังหวัดร้อยเอ็ด นอกจากนี้เรายังมีการท่องเที่ยววิถีชุมชน มีหมู่บ้านโอทอปนวัตวิถีที่ได้รับการส่งเสริมจากกรมการพัฒนาชุมชน อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าทุกจังหวัดในประเทศไทยสมควรที่ทุกท่านจะไปค้นหาไปท่องเที่ยว ไม่เฉพาะจังหวัดร้อยเอ็ด ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าไทยช่วยไทย รวมไทยสร้างชาติ ผมอยากให้ทุกคนไปทุกที่ที่ไม่เคยไปเมื่อมีโอกาส ที่ไหนก็งดงามสำหรับการท่องเที่ยว สมควรไปค้นหาแล้วช่วยกันทำให้บ้านเมืองของเราเจริญเติบโต

มุมมองต่อเกษตรวิถีใหม่?

เดิมทีเราอาจไม่คิดว่าอาชีพเกษตรมีความสำคัญในระดับที่ว่าถ้าโลกนี้ไม่มีคนผลิตอาหารก็อยู่ไม่ได้แน่นอน เมื่อก่อนมีแต่คำพูดว่าเกษตรกรเป็นกระดูกสันหลังของชาติ แต่กลายเป็นกระดูกสันหลังที่ผุกร่อน มีแต่คนเฒ่าคนแก่ ลูกหลานเดินทางเข้าในเมืองไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรม ทุกคนมองแต่นวัตกรรม เทคโนโลยี เน้นความรวดเร็ว แต่ใครจะคิดว่าพอเกิดสถานการณ์โควิด-19ขึ้นมาได้พลิกโลกอย่างสิ้นเชิง กลับไปสู่กระแสพระราชดำรัสของล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานมานานกว่า 30-40 ปีในเรื่องความสำคัญของภาคการเกษตร ความพอเพียง ความพอมีพอกินพออยู่ เหลือแล้วแบ่งขาย คอมพิวเตอร์กินไม่ได้ โทรศัพท์มือถือกินไม่ได้ ปัจจัย4สำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์ โดยเฉพาะในเรื่องของอาหาร แล้วยิ่งมาสู่ยุคของความสนใจในเรื่องสุขภาพ อาหารที่มีความปลอดภัยกลายเป็นสิ่งที่ต้องการของคนทั้งโลก จากการที่หลายประเทศทำการล็อกดาวน์อยู่บ้าน ทำให้เราเห็นความสำคัญของการที่ต้องพึ่งพาตัวเอง ที่ผ่านมาเราไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้เลย เพราะทุกคนมุ่งไปสู่ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ เพื่อเอาเงินไปซื้ออาหาร สุดท้ายต่างคนต่างแย่งชิงกักตุนกัน บางคนมีเงินแต่หาซื้อไม่ได้ ก็ย้อนกลับมาคิดได้ว่าการที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขอยู่ให้รอดก็คือต้องทำในเรื่องของการเกษตรแบบพอมีพอกินในครอบครัว วันนี้โลกของเราไม่ได้แข่งขันทางการค้า ไม่ได้แข่งขันทางเทคโนโลยีหรือความมั่งคั่งว่าจะต้องมีหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ แต่เราแข่งขันกันใน 2 เรื่องหลักคือความมั่นคงด้านสุขภาพและอาหารปลอดภัย เพราะสุดท้ายแล้วความมั่นคงทางอาหารเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก ถ้าอาหารมั่นคง ประเทศมั่นคงแน่นอน และถ้าอาหารปลอดภัยก็จะนำไปสู่ความมั่นคงด้านสุขภาพ เหมือนที่เขาบอกว่ากินอาหารอายุสั้นยิ่งอายุยาวคือกินผักสวนครัวรั้วกินได้ กินพืชผักที่ปลูกด้วยวิถีอินทรีย์ตามธรรมชาติ กินอาหารอายุยาวยิ่งอายุสั้น เช่นพวกอาหารกระป๋องหรืออาหารแช่แข็งที่เก็บไว้ได้นานๆ ถ้าบริโภคบ่อยๆก็ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ