“คุณเปลี่ยน ลูกเปลี่ยน”.. หมอแนะวิธีแก้ปัญหาลูกติดมือถือ

วันพุธที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2563

  “คุณเปลี่ยน ลูกเปลี่ยน”..  หมอแนะวิธีแก้ปัญหาลูกติดมือถือ


ความสัมพันธ์ที่ดี จะต้องเริ่มจากสิ่งที่เป็นบวก อย่าใช้การออกคำสั่งหรือใช้อารมณ์ที่จะห้ามเด็กเล่นมือถือ เพราะมันจะมีปัญหาตามมาเยอะ พ่อแม่ต้องมีทักษะการดูแลลูกตั้งแต่อายุลูกยังน้อยๆ จะทำให้เป็นการป้องกันลูกติดมือถือได้อีกทางหนึ่ง

จากคำแนะนำการแก้ไขปัญหาลูกติดมือถือของ รศ.นพ.ศิริไชย หงส์สงวนศรี อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดีที่กล่าวในงานเปิดตัวโครงการ“คุณเปลี่ยน ลูกเปลี่ยน” ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับ สำนักพิมพ์ toolmorrow มูลนิธิเครือข่ายครอบครัวและภาคี ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

รศ.นพ.ศิริไชย กล่าวว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ดี  ที่ทำให้เราเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย แต่ถ้าใช้มากเกินไปจนมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน จึงจำเป็นที่ต้องได้รับการแก้ไข ในทางการแพทย์แนะนำว่า ในเด็กเล็กทีมีอายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่ควรให้เด็กอยู่กับหน้าจอ เด็กควรจะอยู่กับพ่อแม่ ,อายุ 2-6 ปี สามารถอยู่หน้าจอได้ไม่เกินวันละ 1-2 ชั่วโมง และถ้าอายุมากกว่า 6 ปี สามารถอยู่หน้าจอได้เท่าที่จำเป็นเพื่อการเข้าถึงข้อมูล และต้องมีการจำกัดการใช้ แต่ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่เด็กจะอยู่ติดหน้าจอมากขึ้นมากถึง 6-7 ชั่วโมงต่อวัน และจากผลสำรวจมีเด็ก 20-30% ของเด็กและเยาวชนเข้าข่ายติดมือถือ

ด้านนางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ข้อมูลจากรายงานจับตาทิศทางสุขภาพคนไทยปี 2563 (ThaiHealth Watch) สสส. พบว่า ประเด็นสุขภาพเด็กและเยาวชนที่มาแรง คือ การเสพติดออนไลน์ ภัยคุกคามออนไลน์ และการติดเกม สอดคล้องกับข้อมูลจากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ พบว่า เด็กเเละเยาวชนไทยใช้ชีวิตอยู่หน้าจอมากกว่าสถิติโลก คือ 35 ชม./สัปดาห์ ซึ่งปกติ ไม่ควรเกิน 16 ชม/สัปดาห์ จากการสำรวจเด็กวัย 6 – 18 ปีจำนวนกว่า 15,000 คนพบว่าร้อยละ 61 มีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเกมออนไลน์เพราะเล่นเกมมากกว่า 3 ชั่วโมง/วัน และจากเกมออนไลน์จะนำพาเด็กและเยาวชนไปสู่ความเสี่ยงอื่นๆ อย่างการพนัน ความรุนแรง

แนวทางแก้ปัญหาหนึ่งคือ สร้างความเข็มแข็งอบอุ่นให้แก่ครอบครัว มีสัมพันธภาพที่ดีไม่ห่างเหิน มีเวลาคุณภาพร่วมกัน ซึ่งในปี 2562 สสส.ร่วมกับ บริษัททูลมอโร พัฒนานวัตกรรมเพื่อส่งเสริมศักยภาพด้านการสื่อสารผ่าน Online Platform สำหรับผู้ปกครองที่มีลูกหลานวัยรุ่น จนเกิดรายการ “รอลูกเลิกเรียน” มีการเก็บผลการศึกษาพบว่า ปัญหาลูกติดมือถือเป็นประเด็นที่พ่อแม่ผู้ปกครองกังวลและอยากแก้ไขมากที่สุด จึงต่อยอดโครงการ  “คุณเปลี่ยน ลูกเปลี่ยน”กับภาคีเครือข่าย ได้แก่ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข คณะจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น ศิริราชพยาบาล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ช่วยสร้างความเข้าใจและหาแนวทางในการแก้พฤติกรรมติดการใช้ผ่านวิธีการที่เหมาะสม

“เยาวชนยุคนี้ เป็นชาวดิจิตอลโดยกำเนิด (Digital Native) โตมากับคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เน็ต ทั้งเพื่อความบันเทิงและเพื่อการเรียนรู้  ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกม ทำการบ้าน ค้นหาข้อมูลสินค้า และกิจกรรม ติดต่อสื่อสารกับสังคมโดยรอบผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ  จึงถือเป็นความท้าทายของผู้ปกครองในปัจจุบัน ที่จะสอนให้เด็กๆ รู้จักการสร้างสมดุลในเรื่องของการใช้อุปกรณ์จอใสเหล่านี้”นางสาวณัฐยา กล่าว 

พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต  กล่าวว่า เกือบ 100% ที่ผู้ปกครองพาเด็กมาหมอจะพบปัญหาเรื่องลูกติดมือถือ  วิธีสังเกตว่าลูกติดมือถือหรือไม่ คือ 1. ควบคุมตนเองไม่ด้ 2. การจัดลำดับความสำคัญ เช่น ถ้าเด็กที่ติดเกมจะให้ความสำคัญต่อเกมมากกว่าการเรียน 3. รู้ว่ามีผลกระทบแต่ก็ยังคงทำอยู่ ในภาพรวมคือมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันทางออกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวของพ่อแม่คือ อย่าทะเลาะกัน อย่าใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม พ่อแม่ต้องให้การพูดคุยกับลูกแบบประคับประคองให้อยู่ในทางที่เหมาะสม จากนั้นค่อยชวนลูกทำกิจกรรมที่ลูกอยากทำ และควบคุมเวลาการใช้มือถืออย่างเหมาะสม

ทางด้าน นายสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งบริษัท ทูลมอโร จำกัด กล่าวว่า ระบบการเรียนรู้ออนไลน์ คุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน เป็นระบบการอบรมเพิ่มศักยภาพการสื่อสารของครอบครัวผ่าน Platform Online โดยครั้งนี้โครงการฯ ใช้เทคโนโลยีช่วยพัฒนาระบบจนสามารถรองรับการอบรมได้ถึง 600 คน วัตถุประสงค์เพื่อให้มีทักษะความรู้ความเข้าใจ เทคนิควิธีการสื่อสารกันในครอบครัว เกิดความอยากที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเด็นการใช้โทรศัพท์มือถือ สร้างแรงบันดาลใจผ่านรายการ Livestream ที่แสดงให้เห็นว่าวิธีการสื่อสารที่ใช้แก้ปัญหานั้นไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อนและสามารถนำไปใช้ได้จริง

พร้อมกันนี้ยังมีกิจกรรมอบรมส่งเสริมทักษะด้านการสื่อสารออนไลน์ (Self-Help Group) ออกแบบหลักสูตรฝึกอบรมเรื่องทักษะการสื่อสารภายในครอบครัวผ่านการเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์ เปิดห้องเรียนออนไลน์ (กรุ๊ปไลน์) เป็นเวลา 9 วัน วันละ 1 ชั่วโมง เหมาะกับเด็กในแต่ละช่วงวัย ได้แก่ คอร์สสำหรับผู้ปกครองเด็กปฐมวัย (แรกเกิด – 6 ปี) คอร์สสำหรับผู้ปกครองที่ดูแลเด็กประถม (7 – 12 ปี) คอร์สสำหรับผู้ปกครองที่ดูแลเด็กวัยรุ่น (13 – 18 ปี) โดยได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมเด็กและครอบครัว ได้แก่ รศ.นพ.ศิริไชย หงษ์สงวนศรี อาจารย์สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี,รศ.นพ.ชาญวิทย์  พรนภดล หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ พญ.วิมลรัตน์  วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ผู้สนใจสามารถติดตามรับชมและเข้าร่วมโครงการได้ที่เพจทูลมอโร (Toolmorrow)

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ