วัดใจ“นายกฯตู่”ผ่าทางตัน..! เลือก“การเมือง”หรือ“ประชาชน”...

วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563

 วัดใจ“นายกฯตู่”ผ่าทางตัน..!  เลือก“การเมือง”หรือ“ประชาชน”...


 

เบื้องหลังการลาออกของ “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี “ทีมสี่กุมาร” นั้น  ว่ากันว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงกลาโหมได้ส่งข้อความทางไลน์ไปหา “อาจารย์กวง-สมคิด” ระบุว่า “รู้สึกลำบากใจ รู้สึกแย่ ไม่รู้จะพูดต่อหน้าอย่างไร” เมื่อ “สมคิด” ได้อ่านข้อความก็ได้โทรศัพท์ไปหานายกฯ

จากบทสนทนาระหว่าง “ลุงตู่กับสมคิด”  นั้นระบุว่า นายกฯมีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องปรับ รัฐมนตรีทีมเศรษฐกิจ ด้วย เหตุผลทางการเมือง ซึ่งสมคิด ตอบว่าไม่มีปัญหา ขอให้สบายใจได้ พร้อมยังบอกว่า เป็นการดีที่นายกฯมีความชัดเจนในเรื่องนี้ เนื่องด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจเวลานี้จากผลกระทบโควิดทำให้บรรยากาศอึมครึม ไม่เป็นผลดี ส่วนตัวไม่มีปัญหา ต่อให้ใน พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไม่มีปัญหาเรื่องการเมืองก็ตาม

                เมื่อ สมคิดและสี่กุมาร” เดินทางมาถึงตอนอวสานของ “ครม.ประยุทธ์ 2/1 และกำลังจะเริ่มบทใหม่ ว่าด้วย “ครม.ประยุทธ์ 2/2 โดยนายกฯระบุว่าการปรับ ครม. เป็นเรื่องที่พรรคร่วมรัฐบาลต้องมีการพูดคุยกันอีกครั้ง ส่วนตัว ยังไม่มีคำตอบให้ว่าใครจะเข้า หรือใครจะออก โดยขอให้ใจเย็น ๆ พร้อมปฏิเสธว่าไม่เคยพูดว่าการปรับ ครม. จะเกิดขึ้นในช่วงเดือน กันยายนนี้  แต่ยืนยันว่าจะมีการพิจารณาตั้งแต่นี้เป็นต้นไป แต่จะเป็นเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น

               ในการปรับ ครม. "ประยุทธ์ 2/2" ผู้นำรัฐบาลระบุว่า จะปรับเท่าที่จำเป็น ใครที่ทำงานดีอยู่แล้วก็ทำต่อไป เพราะทุกคนทำงานดีหมด เพียงแต่กลไกทางการเมืองวิธีทางการเมืองเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และพร้อมทบทวนว่ารัฐมนตรีคนนอกที่อยู่ในโควตากลางของนายกฯ ควรจะคืนตำแหน่งให้พรรคการเมืองหรือไม่ ซึ่งต้องมาพูดคุยกันใหม่

แต่ “ไฮไลต์” อยู่ที่ โควตาคนนอกโดยเฉพาะกระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงาน ซึ่งนายกฯตู่ยืนยันว่า ต้องมีสัดส่วนของตนเอง ท่ามกลางความขัดแย้ง-ความต้องการของบรรดาลูกพรรคพปชร.โดยเฉพาะ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” แกนนำกลุ่มสามมิตรที่ต้องการนั่งเก้าอี้รมว.พลังงาน แต่สุดท้ายอาจต้องวืด เนื่องเพราะมีชื่อของ “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” อดีตซีอีโอ ปตท.ที่ลุงตู่เรียกใช้งานมาโดยตลอด เมื่อเป็นเช่นนี้เลยมีข่าวว่าจะไม่ยอมลุง จะขนมุ้งตัวเองที่เคลมว่ามีกำลังพวกมากพอที่จะปะทะต่อรองกับลุงได้ ยิ่งทำให้ภาพของการแย่ง “ชามข้าว” เด่นขึ้นมาสำหรับพรรคนี้

อย่างไรก็ตาม ในจังหวะชุลมุน-ฝุ่นตลบก่อนปรับครม.นั้น นอกจากความเคลื่อนไหวของกลุ่มสามิตรแล้ว ขณะนี้เริ่มเห็นกลุ่ม-ก๊วนย่อย ๆ ในพปชร.ที่พร้อมจะร่วม “ผสมโรง-ขอแชร์อำนาจ” โดยเฉพาะในกลุ่มส.ส.เขตกทม. 12 คน ซึ่งเดิมส่วนใหญ่อยู่ในสาย ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ  “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รมว.ดิจิทัลฯ แต่หลังการเปลี่ยนแปลงในพรรค  ก็เริ่มเห็นความเคลื่อนไหวของ 5 ส.ส.กทม. ที่เกาะกลุ่มกันมาได้สักระยะแล้วในการทำกิจกรรมลงพื้นที่และกิจกรรมทางการเมืองต่าง ๆ

โดยกลุ่มดังกล่าว มีตัวประสาน เหมือนกับเป็นหัวหน้ากลุ่ม ก็คือ “มาดามเดียร์ วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร.” ซึ่งกลุ่มนี้ ที่เรียกกันว่า “กลุ่มสหมิตร”  ซึ่งประกอบด้วย กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.เขตคลองเตย-วัฒนา,  ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.เขตดุสิต-บางซื่อ,  ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.เขตราชเทวี-พญาไท-จตุจักร, ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันท์ ส.ส.เขตบางกะปิ-วังทองหลาง และศิริพงษ์ รัสมี ส.ส.เขตหนองจอก ท่ามกลางกระแสข่าวว่า คนในกลุ่มดังกล่าว กำลังเคลื่อนไหว เพื่อผลักดันให้ มาดามเดียร์  ได้มีตำแหน่งอะไรบ้างทางการเมือง

 ยังไม่นับกรณีที่กลุ่มส.ส.อีสานในพชปร.“สายอุบลราชธานี” คือ “สุพล ฟองงาม อดีตรมช.มหาดไทย ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์” และ “ธนะสิทธิ์ โค้วสุรัตน์ ส.ส.เขต อุบลฯ” ที่แม้จะไม่ได้ขึ้นกับกลุ่มไหนแบบจริงจัง แต่ก็มีเคลื่อนไหวต่อรองขอเก้าอี้มาแล้ว

นอกจาก “ศึกใน” ที่นายกฯลุงตู่ต้องแก้ปัญหาด้วยแล้ว ลุงตู่ยังต้องเผชิญกับปัญหาพรรคร่วมรัฐบาล ที่วันนี้เริ่ม “เล่นเกม” เอาล่อเอาเถิดกับรัฐบาลในการปรับครม. หลังจากที่รัฐบาลถูกมองว่าปัญหา “เสียงปริ่มน้ำ” หมดไปรัฐบาลเองก็หันไปไล่บี้พรรคร่วม ล่าสุดก็เดินเกมบี้ “เทวัญ ลิปตพัลลภ” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โควตาพรรคชาติพัฒนา(ชพน.) เพื่อขอเก้าอี้คืน จนในที่สุด “เทวัญ” ต้องยอมลาออกจากตำแหน่งและคืนโควต้าเก้าอี้รมต.สำนักนายกฯคืนกลับไปให้ลุงตู่

ขณะที่บางฝ่ายมองว่า การประชุมกมธ.งบประมาณที่สะดุดนั้นเป็นการ  “ส่งสัญญาณ” ไปยังใครหรือไม่ หลังมีกระแสข่าวปรับเปลี่ยนเก้าอี้ในครม. แม้ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะยืนยันว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่ขอปรับเปลี่ยนตำแหน่งหรือโควตารัฐมนตรี แต่ล่าสุดมีการส่งสัญญาณจะขอแลกกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ให้มาอยู่ในโควตากลาง และอยู่ในความดูแลของนายกฯ โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นโควตาของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มี “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกฯและรมว.กระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าพรรคปชป.กำกับดูแล และกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นโควตาของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) โดยมีศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.กระทรวงคมนาคม เลขาธิการพรรคภท. กำกับดูแล

โดยพล.อ.ประยุทธ์ ให้เหตุผลว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด-19 จะต้องมีเอกภาพ หากกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญอยู่ในความดูแลของพรรคร่วมรัฐบาล จะทำให้การบริหารงานไม่เป็นเอกภาพ ส่งผลให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจติดขัด เนื่องจากแต่ละพรรคมีนโยบายที่แตกต่างกันไป

จนเกิดกรณี “ชาดา ไทยเศรษฐ์” ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย เสนอให้นับองค์ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. งบประมาณฯ 2564 และตามมาด้วยการวอล์กเอาต์ของกมธ.ที่มาจากพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์  เป็นผลให้การประชุม “ล่ม” ซึ่งเรื่องดังกล่าวทำให้เห็นถึง “รอยปริร้าว” ในรัฐบาล และอาจเป็นการ “ส่งสัญญาณ” ไปถึงใครบางคนในรัฐบาล

ภาพดังกล่าว ทำให้ “นายกฯลุงตู่” ถูกจับตา ว่าจะ “ยอม” ให้เป็นไปอย่างที่ “การเมือง” ขอ หรือ จะทำเพื่อบ้านเมือง ผ่านภาพ “ทีมเศรษฐกิจ” ที่สำคัญจำเป็นเร่งด่วนกับภาพ “เกียร์ว่าง” ในระบบราชการที่รั้งรอ “นายใหม่” จะเป็นใคร

 ทั้งหมดทั้งมวลต้องติดตามว่า “พล.อ.ประยุทธ์” จะสามารถงัดเอา “กึ๋น” มาจัดการ “การเมือง” ในเรื่องปรับ ครม.ที่ต้องยอมรับว่าเปลี่ยนไปให้สะเด็ดน้ำลงตัว เป็นที่ยอมรับได้จาก “ประชาชน” และ “ฝ่ายการเมือง” ที่กำลังรอคอยการทำตาม “สัญญา”เก้าอี้ดนตรี ได้หรือไม่อย่างไร ในจังหวะสถานการณ์วิกฤติประเทศทั้ง ปัญหาโควิด และวิกฤติเศรษฐกิจ ที่ต้องการ “ทีมไทยแลนด์” นำประเทศฝ่ามรสุมที่กำลังกลายเป็นคลื่นสึนามิเศรษฐกิจไปได้หรือไม่ในที่สุด

   

 

 

 

 

 

 

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ