“เอเอ็มอาร์ เอเซีย” รุกต่อยอดธุรกิจงานระบบคมนาคมไทย

วันอาทิตย์ที่ 09 สิงหาคม พ.ศ. 2563

“เอเอ็มอาร์ เอเซีย” รุกต่อยอดธุรกิจงานระบบคมนาคมไทย


“เอเอ็มอาร์ เอเซีย” รุกต่อยอดธุรกิจ เดินหน้ารุกรับงานออกแบบติดตั้งระบบสื่อสาร ระบบควบคุมการเดินรถและอาคารสถานี ระบบไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญาณ รวมถึงเครื่องจักรของศูนย์ซ่อมรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง หนุนรัฐเร่งส่งเสริม พร้อมยก “บีทีเอส-BEM” ให้โอกาสคนไทยโชว์ศักยภาพ

นายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้รับงานโครงการเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาลในการออกแบบ จัดหาพร้อมติดตั้งระบบเดินรถไฟฟ้า (M&E System) ในหลายรายการของปี 2562-2563 ประกอบไปด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย สายสีทอง สายสีชมพู สายสีเหลือง และรถไฟทางคู่ ยิ่งกว่านั้นบริษัทฯ ได้พัฒนาอุปกรณ์เพื่อใช้งานสำหรับรถไฟฟ้าแทนการนำเข้าคือ ชุดหยุดรถไฟฟ้าฉุกเฉิน (EMP) ชุดตรวจสอบการทำงานกล้องบนตัวรถไฟฟ้า (NVR Monitoring) ชุดแสดงตำแหน่งรถไฟฟ้า (DRMS) ซึ่งบริษัทสามารถเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน
 
ทั้งนี้ จากการได้รับการยอมรับว่า เอเอ็มอาร์ เอเซีย มีศักยภาพด้านการบริหารจัดการโครงการระบบขนส่งมวลชน ทั้งการออกแบบ ติดตั้ง ระบบขนส่งมวลชนประสบความสำเร็จมาแล้ว นั่นคือ รถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียวเข้มและสายสีเขียวอ่อน จึงต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้ภาครัฐและภาคเอกชนของไทยเห็นถึงศักยภาพของบริษัทคนไทยว่า สามารถออกแบบและเชื่อมโยงระบบอย่างมีประสิทธิภาพโดยทีมวิศวกรไทยซึ่งไม่ด้อยไปกว่าต่างประเทศ
 
ดังนั้น โอกาสนี้รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรเปิดโอกาสให้บริษัทของคนไทยได้เข้าร่วมการประมูลงานระบบขนส่งมวลชนต่าง ๆ ในประเทศไทยได้อย่างเปิดกว้างมากขึ้น โดยเสนอแนะว่าควรระบุการสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศไทยไว้ในเงื่อนไขทีโออาร์ให้ชัดเจน ทั้งงานระบบสื่อสาร ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบควบคุมการเดินรถและอาคารสถานี ระบบไฟฟ้า รวมถึงอุปกรณ์เครื่องจักรของศูนย์ซ่อมด้านงานขนส่งมวลชน เนื่องจากที่ผ่านมาทีโออาร์ไม่ระบุเพื่อให้โอกาสบริษัทไทยที่ชัดเจน ก็เสมือนเป็นการปิดโอกาสคนไทยและเปิดโอกาสให้เฉพาะทุนจากต่างประเทศเท่านั้น
 
แนะรัฐเร่งส่งเสริมวิศวกรไทย 
 
“เอเอ็มอาร์ เอเซีย อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นข้อเท็จจริงว่าปัจจุบันศักยภาพของคนไทย วิศวกรไทย ตลอดจนบริษัทของคนไทยมีความรู้ความสามารถโดยไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะความรู้ความสามารถด้านงานออกแบบ ติดตั้งระบบคมนาคมขนส่ง ทั้งด้านระบบสื่อสาร ระบบไฟฟ้า และระบบอาณัติสัญญาณ ยกตัวอย่างกลุ่มบีทีเอส ที่เล็งเห็นศักยภาพของคนไทยด้วยการเปิดโอกาสให้วิศวกรและบริษัทของคนไทยได้รับงานออกแบบ จัดหาพร้อมติดตั้งระบบรถไฟฟ้า (M&E system) ให้กับทางบีทีเอสตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย สายสีทอง สายสีเหลืองและสายสีชมพู นอกจากนั้น บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ก็เป็นอีกรายที่ส่งเสริมวิศวกรไทย ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจึงควรเร่งเข้ามาสนับสนุนส่งเสริมให้คนไทย วิศวกรไทย และบริษัทของคนไทยได้เข้าไปรับงานระบบรถไฟฟ้า (M&E System) ให้กับโครงการระบบขนส่งมวลชนที่รัฐบาลไทยเร่งผลักดันมากขึ้น”
 
ประการสำคัญช่วงเกิดเหตุการณ์โควิด-19 ทำให้เห็นภาพชัดว่าหากยังต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญหรือแรงงานจากต่างประเทศจะพบปัญหาอย่างไรบ้าง การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนจะหยุดชะงักทันที ประการหนึ่งนั้น วิศวกรไทยได้เรียนรู้มามากและอยู่ในทีมผู้บริหารของบริษัทต่างชาติแล้วหลายคน ดังนั้นวันนี้ 80-90% คนไทยสามารถดำเนินการได้แล้ว จึงสร้างความเชื่อมั่นในองค์ความรู้ของวิศวกรไทยได้เป็นอย่างดี
 
ทั้งนี้ กรณีงานรถไฟฟ้าระบบหลักอย่างบีทีเอสหรืองานระบบรองอย่างรถไฟฟ้าสายสีทอง วิศวกรไทยก็ได้โชว์ศักยภาพการออกแบบและติดตั้งงานระบบเดินรถไฟฟ้าในแบบบูรณาการเบ็ดเสร็จ ให้เป็นที่ประจักษ์ผลงานชัดเจนแล้ว ทำให้ระบบฟีดเดอร์เชื่อมโยงกับระบบหลักได้อย่างลงตัว เน้นระบบขนส่งโดยใช้ล้อยาง

“พิสูจน์ให้เห็นจริงแล้วว่าคนไทยทำได้ ดังนั้นถ้ารัฐบาลให้โอกาสคนไทยเป็นบริษัทนำทีมหลัก บริษัทของคนไทยก็จะมีโอกาสเติบโตแข่งขันกับต่างประเทศได้ จะไม่เป็นเพียงผู้ซื้อไปตลอด ควรเปิดกว้างเนื่องจากทีโออาร์งานโยธายังสามารถระบุไว้ให้กับบริษัทของคนไทยได้ แต่ระบบรถไฟฟ้า (M&E System) ในโครงการของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และระบบสื่อสารและระบบอาณัติสัญญาณในโครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทยจึงน่าจะระบุไว้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น เมื่อวันนี้คนไทยทำได้ดีแล้ว หากงานในประเทศไทยไม่เปิดโอกาสให้บริษัทคนไทยแล้วจะให้บริษัทคนไทย หรือวิศวกรไทยไปรับงานที่ไหนได้อีก”

นำร่องพัฒนา 2 เส้นทาง
 
หากรัฐจะผลักดันให้เห็นเป็นรูปธรรมจริงต้องการเสนอแนะให้ร่วมกันนำโครงการรถไฟระหว่างเมืองเส้นทางกรุงเทพฯ-กาญจนบุรี ที่เหมาะสำหรับนำมาพัฒนาระบบเป็นเส้นทางนำร่องให้เป็นผู้ออกแบบและพัฒนาระบบเดินรถโดยทีมวิศวกรไทยและบริษัทของคนไทย แล้วจึงยกระดับการพัฒนาให้สู่ระดับที่สูงขึ้นต่อไป ซึ่งรูปแบบการพัฒนาสามารถบูรณาการความร่วมมือกันหลายฝ่ายได้อีกด้วย ทั้งกรมการขนส่งทางราง การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด และสถาบันการศึกษาด้านระบบรางของไทย จนได้ระบบสื่อสาร และระบบอาณัติสัญญาณที่สามารถนำมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานรถไฟและรถไฟฟ้าจริง ๆ
 
“เช่นเดียวกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางจากระยองไปจันทบุรี และตราด น่าจะนำมาให้บริษัทของคนไทยได้บูรณาการพัฒนาร่วมกัน เนื่องจากไม่อยากเห็นภาพการพัฒนาในรูปแบบผู้ซื้อ มากกว่าการตื่นตัวแบบผู้พัฒนา ช่วงที่ผ่านมาพบว่าหลายหน่วยงานมีการส่งวิศวกรไทยไปเรียนรู้ที่จีน เกาหลี ญี่ปุ่น หลายต่อหลายรุ่นมาแล้ว คาดว่าคงจะได้เห็นภาพการพัฒนาที่เด่นชัดมากขึ้น ทั้งระบบรถไฟ รถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเรื่องนี้ได้เคยนำเสนอสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการการคมนาคมไปแล้วเนื่องจากเห็นว่าไทยลงทุนมากกว่า 1 แสนล้านบาท ดังนั้น หากเปิดโอกาสให้วิศวกรไทยเป็นผู้ดำเนินการจะประหยัดได้อีกมาก”
 
สำหรับสายสีเขียวส่วนต่อขยายปลายปีหน้าจะแล้วเสร็จ ส่วนสายสีทองปลายปีนี้แล้วเสร็จคาดว่าจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการในเดือนตุลาคมนี้ ส่วนสายสีชมพูและสายสีเหลืองได้เข้าไปดำเนินการบางส่วนขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างงานโยธา เช่นเดียวกับรถไฟทางคู่สายใต้ช่วงนครปฐม-ชุมพร ที่ เอเอ็มอาร์ เอเซีย ได้เข้าไปทำงานในส่วนของระบบสื่อสาร

ร่วมทุน PPP ควบคู่ระบบโลคอลคอนเทนต์
 
วันนี้ หากกล่าวถึงระบบร่วมลงทุนพีพีพีควรจะให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบโลคอลคอนเทนต์ (Local Content) ควบคู่กันไปด้วย ให้เห็นภาพที่ชัดเจนจริง ๆ ให้เอกชนเสนอผลประโยชน์กับรัฐมากที่สุด เปิดกว้างให้เอกชนเสนอแต่ละระดับการพัฒนาโลคอลคอนเทนต์โดยเทียบกับการให้ได้รับสิทธิ์บีโอไอได้อย่างไรบ้าง จะเป็นการส่งเสริมศักยภาพเอกชนไทยได้อย่างมาก
 
“จึงอยากเห็นมาตรการส่งเสริมบริษัทของคนไทยจริง ๆ จากรัฐบาล เงินไม่ควรไหลออกนอกประเทศในเมื่อศักยภาพคนไทยสามารถทำได้ กระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ประเทศไทย ปัจจุบันสถาบันการศึกษาหลายแห่งได้ผลิตบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับระบบคมนาคมขนส่งออกมาป้อนตลาดได้จำนวนมาก รัฐบาลควรเร่งต่อยอดสู่ระดับที่สูงขึ้นไปอีก พร้อมเร่งยกระดับแรงงานเบื้องต้นไปสู่ระดับวิศวกรป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานระบบรางให้เพียงพอโดยเร็ว”
 
ด้านมุมมองงานโยธานั้น ยอมรับว่าวงการโยธาของไทยมีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างมาก ใช้ “การออกแบบและก่อสร้างบีมทางวิ่ง” หล่อสำเร็จเข้ามาติดตั้งให้งานรวดเร็วขึ้น หลายกลุ่มบริษัทรับเหมาก่อสร้างชั้นนำของไทยสามารถทำได้แล้ว ตัวอย่างเช่น บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ใช้คานก่อสร้างรูปแบบบีมก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพูนั่นคือได้รับโอกาสเป็นบริษัทนำ แตกต่างจากงานระบบรถไฟฟ้า (M&E System) ที่ยังให้บริษัทต่างชาติเป็นคู่สัญญาหลัก (Main Contractor) บริษัทของคนไทยจึงเป็นเพียงผู้รับเหมาช่วง (Subcontractor) นี่คือความแตกต่าง
 
ปัจจุบัน เอเอ็มอาร์ เอเซีย ยังร่วมกับพันธมิตรอย่างบริษัท บอมบาร์ดิเอร์ ทรานสปอร์เทชั่น ซิกแนล (ประเทศไทย) จำกัด รับงานออกแบบ จัดหาพร้อมติดตั้งระบบรถไฟฟ้า (M&E System) ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ส่วนสายสีทอง บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด รับงานระบบรถไฟฟ้า (M&E System) ทั้งหมดแบบเทิร์นคีย์ ส่วนสายสีชมพูและสีเหลืองรับงานเพียงบางส่วน ดังนั้นสายสีทองจึงเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของเอเอ็มอาร์ เอเซีย ที่พัฒนาออกแบบ จัดหาพร้อมติดตั้งระบบเองทั้งหมด เช่นเดียวกับสายสีเขียวส่วนต่อขยายจำนวน 2 สถานี จากสถานีตากสิน-วงเวียนใหญ่ที่เป็นผลงานของเอเอ็มอาร์ เอเซียร่วมกับพันธมิตรอย่างบริษัท เอ.เอส. แอสโซซิเอท เอ็นยิเนียริ่ง (1964) จำกัด ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ในส่วนรถไฟทางคู่จะพบว่าผู้ที่ออกแบบจะเป็นบริษัทจากต่างประเทศเป็นหลัก บริษัทของคนไทยจึงเป็นเพียงผู้รับเหมาช่วงเท่านั้น
 
“คาดหวังว่าสายสีทองจะนำไปสู่การขยายระบบไปยังเส้นทางอื่น ๆ ต่อไป ส่วนสายสีเทาเชื่อมทองหล่อ-วัชรพล และไลท์เรล (Light Rail) เส้นทางสายบางนา-สนามบินสุวรรณภูมิยังรอดูความชัดเจนของกรุงเทพมหานคร วันนี้ เอเอ็มอาร์ เอเซีย มีกลุ่มพันธมิตรที่แข็งแกร่งที่จะร่วมกันพัฒนาโครงการระบบขนส่งมวลชนภายในประเทศให้มั่นคงยั่งยืน หากได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน รถไฟด้วยฝีมือคนไทย คงไม่ไกลเกินฝันอีกต่อไป”



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ