วิสาหกิจชุมชน 10 แห่งยื่นหนังสือ “วิษณุ” รักษา รมว. พลังงาน ผลักดันโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

วิสาหกิจชุมชน 10 แห่งยื่นหนังสือ “วิษณุ” รักษา รมว. พลังงาน ผลักดันโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก


วันนี้ (23 ก.ค. 63) เวลาประมาณ 13.30 น. ประธานวิสาหกิจชุมชน รวม 10 แห่ง จาก ภาคตะวันออก และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อตัวแทนของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาราชการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  ที่อาคาร ENCO เพื่อขอให้ช่วยเร่งรัดโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากโดยเร็วและต่อเนื่อง เนื่องจากโครงการนี้ มีประโยชน์อย่างแท้จริง และ จับต้องได้ สำหรับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่  ผู้ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า ,เกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงาน , ผู้ดำเนินการตัดและนำส่งพืชพลังงานถึงโรงไฟฟ้า , กองทุนหมู่บ้าน และ วิสาหกิจชุมชน ที่จะได้รับจะได้รับส่วนแบ่งจากการขายไฟฟ้าในโครงการฯ อย่างยั่งยืน โดยไม่จำเป็นจะต้องพึ่งพางบประมาณจากราชการเลย ซึ่งประเมินขั้นต่ำราว 120 ล้านบาทสำหรับโครงการขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 3 เมกะวัตต์ ในช่วงระยะเวลาสัญญาขายไฟ 20 ปี (หรือ 500,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 20 ปี)

 โดยนางนฤชล พฤกษา ประธานวิสาหกิจชุมชนวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผู้เลี้ยงโคขุนสร้างอาชีพตลาดไทร จังหวัดนครราชสีมา ก็ได้กล่าวเสริมว่า อำเภอชุมพวง เป็นอำเภอที่ค่อนข้างแห้งแล้ง แต่ก็ยังประสงค์จะเข้าร่วมโครงการนี้  ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่มันสำปะหลัง และทำไร่อ้อย ขาดทุนจากการประกอบอาชีพซ้ำซาก  มีความหวังที่จะมีรายได้เพิ่มจากการปลูกหญ้าเนเปียร์เพื่อจำหน่ายแก่โรงไฟฟ้าชุมชน  มีการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 290 คน และได้ประสานงานกับภาคีเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อบ้านหนองคู่ อำเภอลำทะเมนชัย  จังหวัดนครราชสีมา ที่อยู่ใกล้เคียง มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การปลูกหญ้า และ ร่วมกันส่งหญ้าเพื่อสร้างมั่นใจกับโรงไฟฟ้าที่จะมาตั้งในอนาคต

ม.ร.ว. วรากร วรวรรณ ในฐานะประธานที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชน กลุ่มรักษ์ช้างรักษาป่าตะวันออก ( ปม. ) กล่าวว่า ทางวิสาหกิจชุมชนได้ออกมาแสดงจุดยืนด้วยการยื่นหนังสือถึงนายวิษณุ รักษาการตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เร่งเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนต่อไป เพื่อเป็นการส่งเสริมเกษตรกรทั่วประเทศให้มีรายได้ ซึ่งคาดว่าเมื่อโรงไฟฟ้าชุมชนเกิดเกษตรกรจะมีรายได้จากการขายหญ้าเนเปียร์อยู่ที่ 24,000 บาทต่อปีต่อครอบครัว ส่วนการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนแต่ละแห่งจะใช้งบอยู่ที่ 240 ล้านบาท และคืนทุนภายใน 10 ปี  อีก 10 ปีที่เหลือก็สามารถสร้างกำไรได้

“วิสาหกิจทั้ง 10 แห่งที่รวมเดินทางในวันนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือสนับสนุนว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนไหน เพียงแต่มีความต้องการจะให้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนนี้ ดำเนินการต่อไปตามแผนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนที่แล้วได้วางไว้ และยืนยันว่าถึงแม้โครงการนี้เกิดขึ้น ทางวิสาหกิจของเราไม่ได้รับการคัดเลือกก็จะไม่เสียใจเลยครับ เราขอให้มีโอกาสได้เข้าแข่งขันเท่านั้นครับ” ม.ร.ว. วรากร กล่าว

 ม.ร.ว. วรากร กล่าวอีกว่า วิสาหกิจชุมชน กลุ่มรักษ์ช้างรักษาป่าตะวันออกเป็นดำริของกรมป่าไม้ในการจัดตั้ง เพื่อทำการส่งเสริมการปลูกต้นไม้ที่ช้างไม่กินและที่ช้างกิน อีกทั้งส่งเสริมการปลูกหญ้าเพื่อรองรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ประสบคชภัยช้างป่าบุกรุกพื้นที่ สามารถให้คนกับช้างป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล อนึ่งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักษ์ช้างรักษาป่าตะวันออก(ปม.) รวมตัวจากเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่าและคนชั้นกลางที่มีใจอยากจะช่วยแก้ปัญหา มีปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินในการเป็นทุนหมุนเวียนเพื่อความก้าวหน้าในเรื่องการแปรรูปสมุนไพรเชิงพานิชย์  การมีหุ้นส่วนในโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เป็นโอกาสอย่างยิ่งในการทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีทุนหมุนเวียนพร้อมการลงทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องจนสามารถทำให้วิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักษ์ช้างฯ ดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมได้อย่างเข้มแข็งยั่งยืนได้ในอนาคตอันใกล้นี้

นายธนพงษ์ เนื่องนา ตัวแทนจากกลุ่มวิสาหกิจผู้เลี้ยงโคเนื้อ  ต.หนองบัว อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ตอนนี้กลุ่มวิสาหกิจมีสมาชิกอยู่ 25 คน ซึ่งมีการปลูกหญ้าเนเปียร์อยู่คนละ 5 ไร่ เพื่อเลี้ยงวัวและขายให้กับเกษตรกรที่เลี้ยงวัวนมราคาอยู่ที่ 800-900 บาทต่อตัน ถ้าหากโรงไฟฟ้าชุมชนเกิดขึ้นเกษตรกรมีความพร้อมขยายการปลูกหญ้าเนเปียร์ให้ได้คนละ 10 ไร่ และเพิ่มเป็น 200 ครัวเรือน แม้ว่าราคาจะลดลงมาอยู่ที่ 500 บาทต่อกิโลกรัม แต่ชาวบ้านก็พอใจแล้ว เพราะราคามีความแน่นอนจากการทำสัญญาขายหญ้าเนเปียร์ให้กับโรงไฟฟ้าตลอด 20 ปี

ด้านนายนิกร จันทสา กลุ่มวิสาหกิจนาปรังเสรีพัฒนา ต.นาทราย อ.พิบูลย์รักษ์ จ.อุดรธานี กล่าวว่า ตอนนี้เกษตรกรปลูกหญ้าเนเปียร์เพื่อขายให้กับเกษตรกรที่เลี้ยงวัวอยู่ที่ 1 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งมีปริมาณหญ้าไม่เพียงพอ เนื่องจากมีการเลี้ยงวัวเยอะมาก แต่ก็ยังเห็นว่าราคามีความไม่แน่นอน จนกว่าโรงไฟฟ้าชุมชนจะเกิดขึ้นเกษตรกรถึงจะมีรายได้จากการขายหญ้าเนเปียร์ที่ยั่งยืนเพื่อป้อนโรงไฟฟ้าตลอด 20 ปี ทางวิสาหกิจชุมชนจึงสนับสนุนให้กระทรวงพลังงานเร่งเดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชนต่อไป

นายสุรเชษฐ์ ภูมิศรีแก้ว ประธานวิสาหกิจชุมชนวิสาหกิจชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว โดย ชุมชนบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ได้ชี้แจงว่าทางชุมชนบ้านเชียง เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมมากว่า 5000 ปี  มีการแบ่งและควบคุมพื้นที่ของชุมชนบ้านเชียงออกเป็น 3 วง เพื่อรักษามรดกโลกไว้อย่างหวงแหน  ก็ยังมีความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการ โดยจับสรรพื้นที่รอบนอกในการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อป้อนโรงไฟฟ้า และนำรายได้จากส่วนแบ่งมาช่วยรักษามรดกโลกไว้อีกทางหนึ่งด้วย



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ