สนพ. ชี้ตลาดน้ำมันดิบยังทรงตัว แม้ตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกจะมีทิศทางดีขึ้น

วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

สนพ. ชี้ตลาดน้ำมันดิบยังทรงตัว แม้ตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกจะมีทิศทางดีขึ้น


สนพ. ชี้ตลาดน้ำมันดิบยังทรงตัว แม้ตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกจะมีทิศทางดีขึ้น แต่มีผลกระทบจากการปิดท่อน้ำมัน Dakota Access ที่สหรัฐฯ และผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น 

นายวัฒนพงษ์  คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว โดยได้แรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันในหลายประเทศที่กำลังฟื้นตัว หลังผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง และตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกทิศทางที่ดีขึ้น อาทิ ตัวเลขการว่างงาน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (Service ISM) ของสหรัฐฯ มีคำสั่งซื้ออุตสาหกรรมของเยอรมนีที่เพิ่มขึ้น ส่งสัญญาณถึงความต้องการใช้น้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับอุปทานน้ำมันที่ลดลงตามข้อตกลงการลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัส และการขนส่งน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดท่อน้ำมัน Dakota Access ซึ่งพาดผ่านทะเลสาบ Oahe ในรัฐเซาท์ดาโคตา ตามคำสั่งศาลสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดครั้งใหม่ของโควิด-19 หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ระหว่างวันที่  6-12 ก.ค. 63 ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ 43.38 และ 40.46 เหรียญต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.20 และ 0.60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันของโลกในปี 63 เพิ่มขึ้น จากคาดการณ์ในเดือนก่อนหน้า 0.4 ล้านบาร์เรล/วัน เป็น 92.1 ล้านบาร์เรล/วัน ความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันเบนซินที่เพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 63 ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง แม้โรงกลั่นสหรัฐฯ จะเพิ่มกำลังการกลั่นบ้างแล้ว

Baker Hughes รายงานจำนวนหลุมขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ปรับลดลง 4 แท่นสู่ระดับ 181 แท่น (ณ 10 ก.ค. 63)  ซึ่งเป็นจำนวนที่ต่ำสุดตั้งแต่เดือน มิ.ย. 52

สำหรับราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดภูมิภาคเอเชีย ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และ 91 (Non-Oxy) เฉลี่ยอยู่ที่ 47.84,45.40 และ 46.61 เหรียญต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 2.10,1.90 และ 1.90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในภูมิภาคปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ มีรายงานของ Platts ว่าปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่ Fujairah Oil Industry Zone (FOIZ) ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ก.ค. 63 ลดลง 0.68 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 7.24 ล้านบาร์เรล

สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานสหรัฐฯ (EIA)  รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ (ณ วันที่ 3 ก.ค. 63) ลดลง 4.8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 251.7 ล้านบาร์เรล

ทางด้านราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 50.11 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.18 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

สำหรับความต้องการใช้น้ำมันดีเซลในภูมิภาค และยุโรปปรับเพิ่มขึ้น โดย Platts รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่ FOIZ ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ณ วันที่ 6 ก.ค. 63) ลดลง 0.24 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 3.85 ล้านบาร์เรล ส่วน Vortexa บริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงานของอังกฤษรายงานปริมาณการเก็บสำรองน้ำมันดีเซลใน Floating Storage ทั่วโลก (ณ วันที่ 7 ก.ค. 63) อยู่ที่ระดับ 25 ล้านบาร์เรล ลดลง 46% จากช่วงกลางเดือน พ.ค. 63

ขณะที่ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.22 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่เฉลี่ย 31.3725 บาท/เหรียญสหรัฐฯ (ต้นทุนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.48 บาท/ลิตร ดีเซลเพิ่มขึ้น 0.30 บาท/ลิตร) ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล และดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.34 บาท/ลิตร (โดยมีค่าขนส่งน้ำมันทางท่อจากศรีราชา - กรุงเทพฯ อีก 0.15 บาท/ลิตร) และค่าการกลั่น เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0.48 บาท/ลิตร

ส่วนฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 12 ก.ค. 63 มีสินทรัพย์รวม 56,706 ล้านบาท หนี้สิน 23,260 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิ 33,446  ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน 40,142 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 6,696  ล้านบาท



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ