“ศักดิ์สยาม” เร่งแก้รถติดถนนพระราม 2 ย้ำชัด! ปี 65 จบโครงการก่อสร้าง

วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563

“ศักดิ์สยาม” เร่งแก้รถติดถนนพระราม 2 ย้ำชัด! ปี 65 จบโครงการก่อสร้าง


ถนนพระราม 2 ถือเป็นถนนที่มีปัญหาการจราจรติดขัดมาอย่างยาวนาน เนื่องจากเปนเส้นทางหลักที่มุ่งสู่แหล่งท่องเที่ยวและภาคใต้ รวมทั้งมีการ “ซ่อม-สร้าง” ไม่เคยหยุดหย่อนด้วย อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ซึ่งว่ากันว่า จะเป็นโครงการสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นบนถนนเจ็ดชั่วโคตรแห่งนี้

ล่าสุด นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ระดมทีมลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางยกระดับพระราม 2 สาย ธนบุรี-ปากท่อ ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ของกรมทางหลวง และโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก (สัญญาที่ 2) ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเริ่มก่อสร้างและร่วมบูรณาการการทำงานของทั้ง 2 หน่วยงานดังกล่าว ก่อนที่จะมีการเข้าพื้นที่ และจะเริ่มต้นการก่อสร้างในวันที่ 8 ก.ค. 2563 นอกจากนี้ ยังเป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทาง ลดผลกระทบการจราจรติดขัด เนื่องจากบริเวณ 2 ข้างทางของถนนพระราม 2 มีชุมชนหนาแน่นและมีปริมาณจราจรประมาณ 200,000 คัน/วัน รวมทั้งมีสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น สถานศึกษา โรงพยาบาล นิคมอุตสาหกรรม และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ นอกจากนี้ ถนนพระราม 2 ถือเป็นเส้นทางหลักในการคมนาคมขนส่งสู่ภาคใต้อีกด้วย

อย่างไรก็ดี จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ การจราจรสามารถเคลื่อนตัวได้ไม่ติดขัด ขณะที่ในช่วงเวลาเร่งด่วน บางครั้งจะมีปริมาณรถมากกว่าผิวจราจร จึงอยากฝากถึงประชาชนว่า ต้องบริหารเวลาในการใช้ถนน หากไม่มีความจำเป็นในช่วงเวลาเร่งด่วนอาจต้องเหลื่อมเวลาไปก่อน โดยเมื่อมีการก่อสร้างโครงการทางยกระดับบนถนนพระราม 2 จึงมีความจำเป็นจะต้องใช้พื้นผิวจราจรตรงกลางประมาณ 1 ช่องจราจร ซ้าย-ขวา ข้างละ 1 ช่องจราจร เพื่อใช้ในการก่อสร้าง

“ปัจจุบันขนาดจราจรจะตีเส้นไว้ที่ 3.50 เมตร จะปรับลดลงเหลือ 3 เมตร ซึ่งมีความปลอดภัยเพราะขนาดตัวรถจะอยู่ที่ 2.50 เมตร ดังนั้น ช่องจราจรจะมี 14 ช่องไป-กลับเท่าเดิม ยืนยันว่าการก่อสร้างจะไม่มีการลดช่องจราจร และจะเริ่มก่อสร้างเป็นช่วงๆ ช่วงละ 1-1.5 กม. เสร็จแล้วถึงจะเริ่มสร้างจุดต่อไป และจะไม่มีการปิดถนนยาวขณะที่ยังไม่ก่อสร้างเด็ดขาด ส่วนเส้นทางกลับรถนั้นเส้นทางนี้จะไม่มีที่ยูเทิร์น แต่จะก่อสร้างเกือกม้าแทน ซึ่งถนนเส้นดังกล่าวจะมีทั้งหมด 6 จุด และจะก่อสร้างทีหลังหลังจากพื้นราบแล้วเสร็จ โดยจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จในปี 2565”

ในส่วนของการอำนวยความสะดวกจะมีการบูรณาการในการอำนวยความสะดวกเรื่องการจราจรให้ป้ายสัญญาณต่างๆ ให้มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อที่จะนำมาลงในแอปพลิเคชั่น Thailand Highway Traffic ของกรมทางหลวง เพื่อตรวจการจราจรแบบ Real Time อย่างไรก็ตาม ถนนพระราม 2 ถือว่าเป็นเส้นเลือดหลักในการเดินทางไปยังภาคใต้และขึ้นมายังกรุงเทพมหานคร หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะทำให้มีพื้นผิวจราจรด้านล่าง 14 ช่อง ทางยกระดับอีก 6 ช่องจราจร ทำให้มีพื้นผิวจราจรรวม 20 ช่องจราจร

นอกจากนี้ หากโครงการดังกล่าวดำเนินการแล้วเสร็จนั้น พิจารณาว่าจะไม่มีการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 แต่จะเตรียมพัฒนาเส้นทางอื่นที่จะเดินทางลงสู่ภาคใต้ เพื่อขยายขีดความสามารถ และเป็นทางเลือกในการเดินทางให้กับประชาชน โดยจะดำเนินโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) นครปฐม-ชะอำ ซึ่งจะเป็นเส้นทางลงสู่ภาคใต้อีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ภายในปี 2564

ด้าน นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า กรมทางหลวงจะเริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สาย ธนบุรี-ปากท่อ ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ระยะทางประมาณ 8.335 กิโลเมตร โดยจะเริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้างจำนวน 2 จุดก่อน ได้แก่ กม.14+000 ถึง กม.15+000 และ กม.18+000 ถึง กม.20+295 ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประสานงานด้านการจัดการจราจรกับท้องที่และตำรวจ ทั้งกองบังคับการตำรวจนครบาล 9 และ สน.แสมดำ พร้อมประชุมเชิงบูรณาการกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในระหว่างการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ยังมีช่องจราจรจำนวน 12 ช่องจราจรเช่นเดิม (ทิศทางละ  6 ช่องจราจร) เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้ทางได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายนครปฐม-ชะอำ (M8) วงเงินลงทุนประมาณ 80,000 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ด PPP) แล้ว และกระทรวงการคลังเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาหลักการในเร็วๆ นี้ ซึ่งคาดว่า จะเปิดประมูลได้ในปี 2564

ขณะที่ นายดำเกิง ปานขำ รองผู้ว่าการฝ่ายปฏิบัติการรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า กทพ.จะดำเนินโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก มีจุดเริ่มต้นโครงการฯ ที่ กม. 13+000 ของถนนพระราม 2 เชื่อมต่อกับโครงการก่อสร้างทางยกระดับ บนทางหลวงหมายเลข 35 ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ของกรมทางหลวง ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน อันเป็นจุดบรรจบกันของถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกกับถนนพระราม 2 รูปแบบการก่อสร้างโครงการฯ เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ซ้อนทับไปตามแนวเกาะกลางถนนพระราม 2 มาทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นระยะทางประมาณ 11.6 กิโลเมตร จนถึงทางแยกต่างระดับดาวคะนอง หลังจากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวขวาเข้าซ้อนทับกับแนวทางพิเศษ เฉลิมมหานครเป็นระยะทางประมาณ 5.1 กิโลเมตร และมีสะพานขึงคู่ขนานกับสะพานพระราม 9 จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการฯ ที่ทางแยกต่างระดับบางโคล่ ระยะทาง 2 กิโลเมตร ซึ่งเป็นจุดที่เชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัช ระยะทางรวมประมาณ 18.7 กิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด รองรับปริมาณรถที่เพิ่มสูงขึ้นเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลกับพื้นที่ภาคใต้ อีกทั้ง ยังช่วยประหยัดเวลาค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทำให้การเดินทางสู่ภาคใต้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ