75 วัน!! แห่งความมึดมนปิด “ธุรกิจโรงภาพยนตร์” สองค่ายบิ๊ก Major & SF ช้ำหนัก หรือ ทรงตัว ?

วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2563

75 วัน!! แห่งความมึดมนปิด “ธุรกิจโรงภาพยนตร์” สองค่ายบิ๊ก Major & SF  ช้ำหนัก หรือ ทรงตัว ?


อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ปี 2562 มีมูลค่าตลาดราว 9,000 ล้านบาทและยังมีอัตราเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่องทุกปีแต่ในปี 2563 นี้ เหตุการณ์ช็อก!โลกจากเจ้าไวรัสโควิด-19 ระบาดฉุดการเติบโตของอุตสาหกรรมดังกล่าวให้ตกต่ำได้อย่างเป็นเวลาอันรวดเร็วทั่วทั้งมุมโลก

สำหรับประเทศไทยถ้าพูดถึงธุรกิจ “โรงหนังหรือโรงภาพยนตร์” ในบ้านเราก็คงมีผู้เล่นหลักรายใหญ่ในธุรกิจดังกล่าวอยู่เพียง 2 ค่ายเท่านั้นที่เราทราบกันดีนั้นก็คือ“เมเจอร์” และ “เอสเอฟ”และจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้โรงภาพยนตร์ทั่วประเทศต้องปิดให้บริการชั่วคราวนานถึง 75 วัน ตั้งแต่วัน 18 มี.ค.63 จนถึง 31 พ.ค. 63 และแน่นอนการปิดธุรกิจแบบกระทันหันโดยเฉพาะธุรกิจบริการเฉพาะทางแบบโรงหนังจึงเป็นการยากมากที่จะปรับทิศทางธุรกิจไปยังช่องทางอื่นในการหารายได้เพื่อมาทดแทนในช่วงเวลาดังกล่าวได้ทันดังนั้นในช่วงที่ไม่สามารถเปิดกิจการได้ส่งผลให้ธุรกิจมีรายได้เท่ากับเป็น“ศูนย์”และระหว่างช่วงเวลาที่เฝ้ารออย่างไร้จุดหมายว่าเมื่อไร่จะถึงคิวธุรกิจโรงภาพยนตร์ได้ปลดล็อค

จนในสุดรัฐบาลก็ได้ประกาศมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 3 ให้เปิดบริการได้ในวันที่ 1 มิ.ย.2563 ที่ผ่านมาแต่ก็ยังคงมีมาตรการคุมเข้มความสะอาดและความปลอดภัยเน้น Social Distancing การเว้นระยะห่างในโรงภาพยนตร์ นั่ง 2 ที่นั่งเว้น 2 ที่นั่งในแถวเดียวกันและแถวเว้นแถวซึ่งแน่นอนจำนวนที่นั่งที่สามารถให้บริการได้จะลดเหลือเพียง 25% และเท่ากับมีสัดส่วนที่หายไปถึง 75% ที่ต้องสูญเสียรายได้แต่ทั้ง 2 ค่ายก็ยังคงยืนยันไม่มีนโยบายปรับราคาตั๋วขึ้นแต่อย่างใดซึ่ง เมเจอร์และ เอสเอฟ หลังจากที่ได้มีการปิดกิจการชั่วคราวไปราวเกือบ 3 เดือนที่ผ่านมาจะเป็นอย่างไรบ้างนั้นและหลังจากได้ Come back กลับมาก็จริงแต่ต้องกลับมาในรูปแบบวิถีการชมภาพยนตร์แบบ New Normal ทั้ง 2 ค่ายจะมีมุมมองหรือได้ปรับทิศทางธุรกิจเพื่อกอบกู้รายได้เพื่อสู้กับวิกฤติโควิด-19 หลังจากนี้ต่อกันอย่างไร? ในช่วงเวลาที่ ‘หนังใหม่ก็ไม่มี’พื้นที่นั่งก็ถูก‘จำกัด’ซึ่งผลกระทบหลังจากเปิดก็ยังไม่ได้หายไป

นาย นรุตม์ เจียรสนอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงที่เมเจอร์ได้ปิดบริการนานถึง 75 วันแน่นอนส่งผลให้ในไตรมาสแรกบริษัทประสบภาวะขาดทุนกว่า 250 ล้านบาทแม้บริษัทจะขาดทุนในช่วงเวลาดังกล่าวไปจำนวนมาก แต่ทางบริษัทก็ยังคงเชื่อมั่นว่าภาพรวมทั้งปีของเมเจอร์จะกลับมาทำรายได้เท่าปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน เนื่องจากบริษัทเรามีช่องทางรายได้จากหลายทางนอกเหนือไปจากโรงภาพยนต์เพียงเท่านั้นโดยในช่วงที่ปิดโรงหนังไปเราก็ทำการเปิดขายป๊อปคอร์นดิลิเวอร์รี่ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่ดีอีกทั้งเราได้พลิกวิกฤติเป็นโอกาสในการขยายไปในส่วนของออนไลน์เฟสบุ๊คแฟนเพจที่ปัจจุบันเรามียอดผู้ติดตามราว 5 ล้านคน ในการขยายช่องทางรายได้ใหม่ๆให้กับบริษัท เช่นไทด์อินสินค้าไปในช่อง FB และ YouTube ของเมเจอร์ เป็นต้น โดยจะAdd Onให้กับลูกค้าในส่วนนี้ทดแทนในช่วงโรงภาพยนตร์ปิดไปส่งผลให้รายได้จากฝั่งโฆษณาของเมเจอร์ไม่ได้ตกลงเนื่องจากพาร์ทเนอร์ก็เข้าใจเราและก็เลือกลงโฆษณาทางออนไลน์ของเรามากขึ้น

นอกจากนี้จากผลสำรวจเราพบว่า 80% ของผู้ชมอยากดูภาพยนตร์ในโรงแต่ต้องเป็นหนังที่สนใจจะดึงดูดผู้ชมได้จึงทำให้เราเชื่อมั่นว่าผู้บริโภคพร้อมกลับมาแน่นอนถ้ามีคอนเทนท์ที่ดีหรือภาพยนตร์ไทย-เทศ น่าสนใจที่เราต้องพยายามเร่งโปรโมทและผสานค่ายภาพยนตร์เพื่อนำออกมาฉายดึงคนดูโดยในช่วงเดือน มิ.ย.นี้ บริษัทอาจจะต้องแบกภาระบ้างจากการที่ไม่มีหนังใหม่เข้ามาแต่เราก็นำภาพยนตร์เก่าๆราว 50% ถูกนำมาฉายอีกครั้งเพื่อสร้างแรงจูงใจต่อคนดูกลับมาในช่วงแรกก่อน 

ทั้งนี้บริษัทเชื่อว่าภาพรวมธุรกิจภาพยนตร์จะเริ่มฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 3 และจะดีขึ้นในช่วงปลายปีเนื่องจากเริ่มมีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เข้าฉายจำนวนมากหลักจากที่เลื่อนฉายในช่วงต้นปีโดยจะมีหนังใหญ่ฉายทุกสัปดาห์ อาทิ มู่หลาน,Tenet เป็นต้น ขณะที่ช่วงไตรมาส 4 จะมีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์มากมายเข้าฉายชนิดที่ว่าสัปดาห์เว้นสัปดาห์ อาทิ black widow, Wonder Woman 2 เป็นต้น ซึ่งทางเมเจอร์เตรียมอัดงบในการรุกทำตลาดในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้เพื่อผลักดันรายได้ของบริษัทให้กลับมาเท่าปีที่ผ่านมาได้อย่างแน่นอน

“ถ้าเราบริหารระยะเวลาการฉายได้ดีขึ้นบวกกับรายได้การขายหนังและรายได้โฆษณาออนไลน์เมเจอร์จะยังประคองไปได้ซึ่งปีที่ผ่านมาสามารถขายตั๋วได้ราว 35.5 ล้านใบ มีรายได้กว่า 1.1 หมื่นล้านบาทโดยมาจากโรงหนัง 70% อาหาร/เครื่องดื่ม 20% และอื่น ๆ 10%”

นอกจากนี้เมเจอร์จะใช้ช่วงเวลานี้ในการผลักดันการซื้อ-ขายตั๋วผ่านออนไลน์จากที่ปัจจุบันมีสัดส่วน 15% ให้เป็น 50-80% ในอนาคตโดยเมเจอร์ได้ออกโปรโมชั่นใหม่ ๆ อาทิ ซื้อผ่านแอพ รับส่วนลด 30 บาท สมาชิกบัตร M Gen Regular รับส่วนลด 50 บาทต่อที่นั่ง สมาชิก M Gen ทุกประเภท เมื่อซื้อผ่าน App Major Cineplex รับคะแนนเพิ่ม 5 เท่า เป็นต้น ซึ่งสมาชิกบัตรมีมากกว่า1.5 แสนรายและยังเป็นการกระตุ้นยอดขายออนไลน์ให้แตะ 50% และ 80% เหมือนในจีน จากปัจจุบัน 15%

อีกทั้งแผนการแก้เกมธุรกิจอีกอย่างคือเราจะลงทุนสร้างหนังไทยเองมากขึ้นเพื่อจะได้ทำการฉายในโรงหนังของเราเองพร้อมกับวางแผนขยายนำส่งออกไปขายต่างประเทศแถบเพื่อนบ้านเรามากขึ้นและนำคอนเทนท์ดังกล่าวไปขายผ่านช่องทางสตรีมมิ่ง อย่าง เน็ทฟลิก เป็นต้น สำหรับการฉายหนังในประเทศเราจะเน้นหนังไทยในตลาดต่างจังหวัดและเน้นหนังฮอลิวูดในตลาดกรุงเทพฯและปริมณฑล

มาที่ด้านธุรกิจโรงภาพยนตร์ “ค่ายยักษ์” อีกเจ้าหนึ่งในไทย เอส เอฟ ซีเนม่า” นางสาวพิมสิริ ทองร่มโพธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการระบาดของโรคโควิด-19 โรงภาพยนตร์ในเครือเอสเอฟ ต้องปิดให้บริการชั่วคราวนานถึง 75 วันซึ่งถือเป็นวิกฤติที่ร้ายแรงที่สุดสำหรับเอสเอฟและอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั่วโลกสำหรับเอสเอฟเองต้องบอกตรงๆเลยว่าหลังจากบริษัทได้ปิดให้บริการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 จนถึง 31 พ.ค. 63 รวมระยะเวลา 75 วัน ซึ่งทางเราเองปิดแบบจริงๆและไม่ทันได้วางแผนรองรับในสถานการณ์ดังกล่าวแต่อย่างได้เพราะเป็นเหตุการณ์กระทันหันที่ไม่ได้คาดคิดเอาไว้ล่วงหน้าส่งผลให้บริษัทไม่มีรายได้เลยตลอดเกือบ 3 เดือนแต่ยังคงต้องแบกรับต้นทุนต่างๆอยู่เช่นเดิมเฉลี่ยต่อเดือนหลัก“ร้อยล้าน”แม้เราจะไม่มีรายได้เลยแต่เรายังยืนยันที่จะรักษาและดูแลพนักงานของเราทุกคน เช่นเดียวกับการดูแลลูกค้าอย่างดีที่สุดเราเข้าใจว่าความกังวลของลูกค้าไม่ใช่เรื่องผิดเพราะหน้าที่ของทุกคนก็ยังต้องช่วยกันยับยั้งการแพร่ระบาดแต่เป็นหน้าที่ของเราเองที่ต้องสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า

ทั้งนี้ในช่วงที่เราปิดการให้บริการไปชั่วคราวแม้รายได้เราจะเป็นศูนย์แต่รายจ่ายยังคงเดิมแต่มันทำให้บริษัทได้กลับทบทวนดูต้นทุนลดรายจ่ายในรายละเอียดลงลึกมากขึ้นและได้ปรับการจัดการภายในต่าง ๆ ให้ลงตัวกับพนักงานมากขึ้นรอบฉายเราก็ได้ทำการออกแบบให้ดีที่สุดเพื่อที่จะได้ฉายให้ลูกค้าได้มากที่สุดอีกทั้งยังได้ถือโอกาสรีโนเวทโรงหนังระหว่างรอเปิดไม่ว่าจะเป็นสาขาที่เซ็นทรัลเวิลด์,งามวงศ์วาน และภูเก็ต เป็นต้น อย่างไรก็ตามหลังจากที่ภาครัฐบาลได้ประกาศมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 3 ทำให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์กลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้งทำให้หลังจากนี้บริษัทไม่ได้วางแผนธุรกิจแบบระยะยาว 3 เดือน 6 เดือนเหมือนเดิมแต่ทำเป็นรายสัปดาห์โดยดูพฤติกรรมของลูกค้าเป็นหลัก

สำหรับการเปิดให้บริการในครั้งนี้ เอสเอฟได้มีมาตรการ#ดูแลด้วยใจที่ดึงจุดเด่นเรื่องความใส่ใจและการให้บริการเน้นความปลอดภัยของลูกค้าและพนักงานทุกคนมาต่อยอดเป็นมาตรฐานใหม่ซึ่งสิ่งสำคัญไม่ใช่แค่ดูแลความปลอดภัยของลูกค้าและพนักงานแต่โจทย์ใหญ่คือต้องทำให้ลูกค้าไม่ยุ่งยากและราบรื่นที่สุด แม้ว่าการกลับมาเปิดครั้งนี้ยังคงอยู่ในมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมทำให้จำนวนที่นั่งลดเหลือเพียง 25% หรือหายไป 75% แต่บริษัทไม่มีไม่มีนโยบายปรับราคาตั๋วขึ้นแต่อย่างใด

“จากการที่เราได้อนุญาติเปิดให้บริการได้แล้วซึ่งถือว่าเร็วกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ทำให้ในช่วงสัปดาห์แรกจะเป็นการฉายภาพยนตร์ที่ค้างไปตอนปิด COVID-19 ซึ่งกว่าจะมีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อาจต้องรอช่วงกลางเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม แต่โชคดีที่ภาพยนตร์ส่วนใหญ่แค่เลื่อนฉายไปปลายปีไม่ได้เปลี่ยนไปฉายปีหน้าซึ่งตอนนี้มีแค่เรื่องเดียวคือ Fast and Furious 9 ที่เลื่อนฉายไปปีหน้านอกจากนี้อาจจะต้องรอดูมาตรการของภาครัฐว่าจะผ่อนปรนมากแค่ไหนสามารถเปิดให้บริการได้ 100% หรือเปล่าดังนั้นต้องรอลุ้นในช่วงไตรมาส 3 อีกทีหนึ่ง”

สำหรับพาร์ทเนอร์หลักๆลูกค้าในส่วนของโฆษณาในโรงหนังเรานั้นยังคงอยู่ด้วยกันครบทุกเจ้าแม้ว่าโรงภาพยนตร์จะปิดหรือถูกลดจำนวนโดยทางเอสเอฟมีการพูดคุยเจรจาทั้งยืดเวลาสัญญาให้สิทธิพิเศษต่างๆเพิ่มเติมและในส่วนพาร์ทเนอร์ค่ายภาพยนตร์ทางเอสเอฟก็มีหน้าที่ช่วยเหลือเพราะเขาเอาหนังมาให้ฉายดังนั้นอาจได้เห็นภาพยนตร์อยู่ในโรงฯนานขึ้นจากบางเรื่องที่ปกติจะอยู่แค่ 2 อาทิตย์แต่ตอนนี้อาจจะเห็นอยู่กันเป็นเดือน

“ที่ผ่านมาทุกธุรกิจและทุกคนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเราจำเป็นต้องให้กำลังใจกันและกันปรับตัวและช่วยเหลือกันเพื่อที่จะก้าวผ่านเรื่องนี้ไปให้ได้ ดังนั้นหากไม่มีปัจจัยลบอะไรเข้ามาอีกระหว่างนี้บริษัทมองว่าภาพรวมธุรกิจโรงภาพยนตร์น่าจะฟื้นได้ในช่วงไตรมาส 3-4 เป็นต้นไปเนื่องจากเป็นช่วงที่มีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เข้าฉายจำนวนมากหลังจากเลื่อนรอบการฉายมาตั้งแต่ช่วงต้นปี”

ผู้บริหารสาวกล่าวทิ้งท้ายว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้ส่งผลให้แผนเดิมในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้บริษัทจะเข้าตลาดหลักทรัพย์คงต้องเลื่อนไปก่อนซึ่งคาดการณ์ว่าอาจจะต้องเลื่อนระดมทุนไปอีก 3 ปี เพราะตามเกณฑ์ตลาดฯต้องทำกำไร 3 ปีติดต่อกันแต่ปีนี้คาดว่าคงไม่ได้รายได้ตามเป้าที่วางไว้แน่นอนเพราะช่วงครึ่งปีแรกบริษัทมีรายได้ติดลบไปแล้วแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นบริษัทยังคงมีความแข็งแกร่งทางด้านการเงินและยังวางแผนดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องโดยจะขยายโรงภาพยนตร์อีก 4 แห่ง ภายใต้ลงทุนราว 70 ล้านบาทต่อโรงในปีนี้

 

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ