บลจ. ภัทร เปิดเสนอขายหน่วยลงทุนชนิดเพื่อการออมเพิ่มเติมอีก 8 กองทุน

วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

บลจ. ภัทร เปิดเสนอขายหน่วยลงทุนชนิดเพื่อการออมเพิ่มเติมอีก 8 กองทุน


บลจ. ภัทร เปิดเสนอขายหน่วยลงทุนชนิดเพื่อการออมเพิ่มเติมอีก 8 กองทุน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย พร้อมรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

นายยุทธพล ลาภละมูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด (บลจ.ภัทร) บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า บลจ.ภัทร เปิดเสนอขายหน่วยลงทุนชนิดเพื่อการออมเพิ่มเติมอีก 8 กองทุน ให้ผู้ลงทุนสามารถเริ่มลงทุนได้ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. 2563 ซึ่งเป็นการเพิ่มเติมจากที่ได้เปิดเสนอขายหน่วยลงทุนชนิดเพื่อการออมของกองทุนเปิดภัทร   สตราทิจิค แอสเซ็ท อโลเคชั่น (PHATRA SG-AA-SSF) ไปแล้วเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2563 ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มทางเลือกการลงทุนให้ครอบคลุมนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย โดยผู้ลงทุนสามารถเลือกผสมผสานจัดพอร์ตการลงทุนได้ตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้และความเหมาะสมของผู้ลงทุน อีกทั้งผู้ลงทุนยังสามารถนำมูลค่าซื้อหน่วยลงทุนในหน่วยลงทุนชนิดเพื่อการออม (SSF) ไปลดหย่อนภาษีเงินได้ไม่เกิน 200,000 บาท ภายใต้เงื่อนไขว่าเมื่อรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ประกันบำนาญ และกองทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท ตามเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายกำหนด

โดยกองทุนรวมเพื่อการออมทั้ง 9 กองทุนข้างต้น เป็นการแบ่งชนิดหน่วยลงทุน (Class) จากกองทุนรวมที่มีอยู่ในปัจจุบันของ บลจ.ภัทร ครอบคลุมทุกประเภททรัพย์สินประกอบด้วย

1.            กองทุนรวมตลาดเงิน (ความเสี่ยงต่ำ) : ได้แก่ กองทุน PHATRA MP-SSF เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐไทยระยะสั้นและเงินฝาก

2.            กองทุนตราสารหนี้ (ความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ) : ได้แก่ กองทุน PHATRA ACT FIXED-SSF เน้นกระจายการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐและตราสารหนี้ภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีกลยุทธ์การลงทุนเชิงรุก (Active Management)

3.            กองทุนผสม (ความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง) : บลจ.ภัทร มีกองทุนผสมที่กระจายการลงทุนในทรัพย์สินต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ ตราสารทุน ตราสารหนี้ ตลอดจนทรัพย์สินทางเลือก เช่น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทองคำ และน้ำมัน โดยมีให้เลือก 3 กองทุน ซึ่งแตกต่างกันตามระดับความเสี่ยงโดยลงทุนในทรัพย์สินประเภทต่างๆ ในสัดส่วนที่แตกต่างกันไล่เรียงตามระดับความเสี่ยง ดังนี้ (1) กองทุน PHATRA SG-AA Light-SSF (2) กองทุน PHATRA SG-AA-SSF และ(3) กองทุน PHATRA SG-AA Extra-SSF

4.            กองทุนตราสารทุน (ความเสี่ยงสูง) : สำหรับกองทุนตราสารทุนในประเทศ มีให้เลือก 2 กองทุน ได้แก่ (1)กองทุน PHATRA ACT EQ-SSF ลงทุนในตราสารทุนที่มีปัจจัยพื้นดี และมีแนวโน้มในการเจริญเติบโตสูง โดยมีกลยุทธ์การลงทุนแบบเชิงรุก (Active Management) และ (2) กองทุน PHATRA SET50 ESG-SSF ลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยกองทุนมีเป้าหมายเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ ที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี SET50 โดยจะคัดเลือกหลักทรัพย์ตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทจัดการกำหนด เช่น หลักเกณฑ์ด้านปัจจัยพื้นฐาน หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายและการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

นอกจากนี้ ยังมีกองทุนตราสารทุนต่างประเทศ ได้แก่ กองทุน PHATRA PGE-SSF ซึ่งลงทุนในกองทุนหลัก คือ iShares MSCI ACWI ETF ที่เน้นลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้สอดคล้องกับ

ผลการดำเนินงานของดัชนี MSCI ACWI

5.            กองทุนรวมหน่วยลงทุนอสังหาริมทรัพย์ (ความเสี่ยงสูงมาก) : ได้แก่ กองทุน PHATRA PROP-D-SSF ลงทุนในหลักทรัพย์/ตราสารที่อยู่ในหมวดอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ (Property Sector) ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีกลยุทธ์การลงทุนเชิงรุก (Active Management)

 “สำหรับภาวะตลาดการลงทุนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศในช่วงนี้มีการฟื้นตัวดีที่ขึ้น เนื่องจาก หลายประเทศเริ่มควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้มากขึ้นและทยอยเปิดดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม บลจ.ภัทร มองว่าตลาดการลงทุนทั่วโลกในช่วงที่เหลือของปียังคงมีความผันผวนสูง เนื่องจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคคาดว่าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนกว่าจะมียารักษาหรือวัคซีนไวรัสโควิด-19 ทำให้ยังคงมีความเสี่ยงที่ธุรกิจซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด-19 อาจขาดสภาพคล่องและผิดนัดชำระหนี้  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทั้งตลาดการลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม  มาตรการทางการเงินและการคลังที่รัฐบาลและธนาคารกลางของหลายประเทศประกาศใช้ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ช่วยให้มีสภาพคล่องเพิ่มในระบบจำนวนมหาศาล  นับเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจและตลาดการลงทุนโดยรวม

การลงทุนในกองทุนรวม SSF จะช่วยสร้างวินัยการลงทุนในระยะยาวให้กับผู้ลงทุน ซึ่งกำหนดการถือหน่วยลงทุนเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี และยังช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาว  โดย บลจ. ภัทร มองว่าการกระจายการลงทุนในทรัพย์สินที่หลากหลาย เป็นวิธีที่จะช่วยให้ผู้ลงทุนรับมือกับความผันผวนได้ดีขึ้น จึงได้นำเสนอหน่วยลงทุนชนิดเพื่อการออม 9 กองทุน ที่ครอบคลุมทุกประเภททรัพย์สิน เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเลือกผสมผสานจัดพอร์ตการลงทุนได้ตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้และตอบสนองต่อเป้าหมายการลงทุนระยะยาว” คุณยุทธพลกล่าว

สำหรับผู้ลงทุนที่สนใจกองทุน SSF สามารถขอหนังสือชี้ชวน คู่มือการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม และข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ธนาคารเกียรตินาคินทุกสาขา หรือ KKP Contact Center โทร. 02 165 5555 และบริษัทหลักทรัพย์ภัทร โทร. 02 305 9559 หรือ www.phatraasset.com หรือผู้สนับสนุนการขายและรับ

ซื้อคืนที่ได้รับการแต่งตั้งตามหนังสือชี้ชวน



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ