ภาคเอกชนจี้รัฐยกเลิกเรียนออนไลน์-ชี้เด็กต้อง ‘เล่น-เรียน’ อิสระ

วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ภาคเอกชนจี้รัฐยกเลิกเรียนออนไลน์-ชี้เด็กต้อง ‘เล่น-เรียน’ อิสระ


 

“ภาคีเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก” ร้องยกเลิกเรียนออนไลน์กลุ่มเด็กเล็ก ชี้ต้องได้เล่นอิสระควบคู่การเรียน ย้ำรัฐต้องหนุนตามบริบทพื้นที่ ‘หมอยงยุทธ์’ แนะผู้ปกครองจัดตารางกิจกรรมแก้ปัญหาเด็กติดจอ  ด้านตัวแทนผู้ปกครองเปิดใจวิกฤตสร้างโอกาสลูกให้บทเรียนเปลี่ยนวิธีคิด  ขณะตัวแทนภาคประชาสังคมผุดไอเดีย Play@Home ตั้งตู้ปันเล่นส่งตรงถึงมือเด็ก       

     

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2563 “เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก” ซึ่งประกอบด้วย มูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.)  มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา กลุ่ม we are happy องค์กรสารธารณะประโยชน์  และกลุ่มไม้ขีดไฟ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุภาพ(สสส.) ได้จัดงานเสวนาออนไลน์  เรื่อง “ปิดเมือง...ต้องไม่ปิดโลกการเรียนรู้ของเด็ก ตอน “ปลดล็อคเด็กเล็กจากเรียนหน้าจอ” โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมเสวนา อาทิ นพ.ยงยุทธ์  วงศ์ภิรมย์ศาสนติ์  ที่ปรึกษาอาวุโสกรมสุขภาพจิต นายประสพสุข  โบราณมูล ผู้ประสานงานเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก

นพ.ยงยุทธ์  วงศ์ภิรมย์ศาสนติ์  ที่ปรึกษาอาวุโสกรมสุขภาพจิต เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก กล่าวว่า ร.ร.ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงและให้มีชั่วโมงในชั้นเรียนให้น้อยเพื่อเป็นระบบป้องกันโควิด-19ซึ่งจะเป็นโอกาสให้พ่อแม่ผู้ปกครอง  ทบทวนตัวเอง เข้ามารับผิดชอบการศึกษาของลูกแนวโน้มจะเป็นแบบนี้ สถานการณ์โควิดมีผลให้เด็กอยู่บ้านมากขึ้นโดยบทบาทของพ่อแม่มี 2 แบบ คือ 1.ดึงเด็กให้ไปทำกิจกรรม งานบ้าน งานครัว จะได้เรียนรู้ไปพร้อมกับมีประสบการณ์ติดตัว และความรับผิดชอบเมื่อเขาโตขึ้นและการทำงานบ้านของเด็กผู้ชายจะเป็นการปลูกฝังเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ

2.การเล่นอิสระ เราเปิดพื้นที่ให้เด็กคิดอะไรจากตัวเขา เช่น ปั้น วาดรูป ศิลปะ มีการเคลื่อนไหวแล้วแต่ธรรมชาติเด็กจะสนใจอะไร โดยต้องแบ่งสัดส่วน การจัดเวลาที่ดี จะได้ไม่ปล่อยให้อยู่หน้าจอทั้งวัน ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ต่ำมาก 3.มีการเสริมสร้างการเรียนรู้เข้าไปทางอ้อม เช่น อ่านหนังสือตามวัยของเด็ก เขียนไดอารี่ เข้าไปในบริบท คิด อ่าน เขียน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มทักษะเรียนรู้ที่ดีขึ้น             

“ทั้งนี้กิจกรรมทั้ง 3 ประเภท ให้มีการจัดตารางเวลา เช่น ตั้งแต่บ่าย 3 ถึง 2 ทุ่ม เล่น 3  แบบ บรรจุลงไป เล่นอิสระ ช่วยงานบ้าน อ่านหนังสือ ซึ่งมันจะช่วยพัฒนาการต่าง ๆ ขณะเดียวกันในเรื่องสุขภาพจิต การเล่นเป็นกลุ่มสำคัญ เช่น ในหมู่พี่น้อง เพื่อนบ้าน แต่ในกรณีในเมือง แทบไม่มีแต่ถ้าบ้านไหนมีศักยภาพ มีพื้นที่ ก็ให้มาเล่นรวมกัน ทำกิจกรรม กลุ่มเด็ก กลุ่มครอบครัว ช่วยกันในชุมชนสร้างพัฒนาการด้านสังคม ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นมาก ขณะเดียวกันภายใต้โควิดเด็กได้เรียนรู้ ล้างมือ ใส่หน้ากาก ให้เป็นวิถีชีวิตได้ และควรใช้โอกาสนี้เพิ่มความสามารถของครอบครัว พ่อแม่ ร.ร.แลกเปลี่ยน การเรียนรู้กัน และหาทางออกในเชิงระบบ ไม่ใช่จากการกดดัน สั่งการมาเป็นตัวตั้ง แต่ต้องมาจากพื้นฐานความเข้าใจร่วมกันฝ่าวิกฤต บนหลัก ‘3สร้าง 2 ใช้’ นั่นคือ 1.สร้างความปลอดภัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ ใส่แมส 2.สร้างความไม่ตื่นตระหนก รับฟังข้อมูลข่าวสารอย่างมีสติ 3.สร้างความหวัง และ2ใช้ คือ1.ใช้สัมพันธภาพที่มีอยู่ให้เพิ่มขึ้นเพื่อไปลดปัญหา2.ใช้ศักยภาพขององค์กร ครอบครัว ให้สูงสุดทั้งร.ร.และสร้างเสริมบทบาทของครอบครัว” นพ.ยงยุทธ์ ระบุ             

ด้านประสพสุข  โบราณมูล ผู้ประสานงานเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก กล่าวว่า กลุ่มที่น่าห่วงคือ เด็กกลุ่มเปราะบาง โดยเฉลี่ยเด็กอยู่หน้าจออย่างน้อย 7 ชั่วโมงต่อวันซึ่งหน้าเป็นห่วงมาก ซึ่งพ่อแม่ไม่ทราบ เพราะห่วงเรื่องต้องเอาชีวิตให้รอด การทำมาหากินโดยคิดว่าการอยู่หน้าจอจะได้ไม่ติดโรค ซึ่งกลายเป็นปัญหาซ้อนเข้าไปอีกจากปัญหาเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะในชนบทที่มีความกังวลว่าลูกจะเรียนไม่ทัน ตนเองมองว่า ผู้ใหญ่มุ่งเรื่องการเรียนรู้ที่มาจากความต้องการของผู้ใหญ่เองมากเกินไปหรือไม่

นายประสพสุข กล่าวว่า สำหรับเด็กช่วงปิดเทอมเป็นช่วงเวลาที่มีความสุข ควรได้เล่นอิสระควบคู่ไปกับการเรียนรู้วิถีชีวิตอย่างมีความสุขแบบที่ไม่มีในเรียนในห้องเรียน ถ้าลองคิดถึงวัยเด็กของตนเองก็จะเข้าใจ  ยิ่งช่วงวิกฤตของการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่าเด็กยิ่งต้องได้เล่นเพื่อปลอดปล่อยและผ่อนคลายความตึงเครียด และเรียนรู้การจัดการกับวิกฤต โดยมีครอบครัว ครู ชุมชน ร่วมกันสนับสนุนและพัฒนากระบวนการการเรียนรู้ และเปิดพื้นที่ส่วนกลางที่ปลอดภัยให้ได้เรียนรู้ได้เล่นโดยออกแบบร่วมกัน ชุมชน รัฐ พ่อ แม่ ตามบริบทที่เหมาะสมโดยต้องเริ่มต้นทำความเข้าใจกับครอบครัว กลุ่มผู้ปกครองแนวคิดการเล่นที่เป็นธรรมชาติ

ขณะนี้ “ทีมเล่นเปลี่ยนโลก” ได้เข้าไปส่งเสริมแนวคิดความเข้าใจเรื่องการเล่นอิสระให้กับครอบครัว โดยครู อาสาสมัครผู้ดูแลการเล่น ให้สามารสร้างมุมเล่น ส่งเสริมการเล่นและเรียนรู้ให้ลูกในบ้าน สร้างสนามเด็กเล่นเล็กในบริเวณบ้านได้  หรือ Play@Home  เตรียมเสนอให้สนามเด็กเล่นเล็ก ๆให้เด็กได้ออกมาเล่นนอกบ้าน รวมทั้งเดลิเวอรี่ของเล่นส่งตรงไปให้ครอบครัว พร้อมทั้งเตรียมทำรถปันเล่น รถพุ่มพวงของเล่น ห้องสมุดของเล่น ตระกร้าหรรษา ลงไปในชุมชนพื้นที่ให้กับเด็กๆ              

ขณะที่นางแวว ชัยอาคม ตัวแทนผู้ปกครองในเมือง กล่าวว่า ในเมืองมีพื้นที่จำกัดไม่เหมือนบ้านในชนบทเด็กจะต้องอยู่แต่ในบ้านและเครียด โดยตนเองได้ปรับแนวคิดเล่นอิสระมาใช้ที่บ้าน เขาได้เล่นตามชอบและส่งเสริม เช่น ชวนลูกเล่นในครัวซึ่งมันสามารถสอนได้ทุกวิชาผ่านการเรียนรู้การทำอาหาร ที่ผ่านมายอมรับว่าก็ไม่ได้ทำแบบนี้กับลูกแต่มีโอกาสที่ได้ทำงานที่บ้านในช่วงโควิดและแม่เปลี่ยนเพราะลูกทำให้เราได้ฉุกคิดเพราะลูกบอกว่าผู้ใหญ่ชอบว่าเด็กดื้อแต่จริง ๆแล้วเพราะผู้ใหญ่ไม่มีเวลาให้เด็ก นี่คือความคิดของเด็กที่ทำให้พ่อแม่อย่างเราเปลี่ยนแปลงว่าเราต้องมีความพร้อมเป็นอันดับแรกเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของลูกโดยเฉพาะในช่วงสำคัญนี้            

ทั้งนี้กลุ่มเครือข่ายฯ ได้มีข้อเสนอด้านนโยบายโดย 1. ขอเรียกร้องให้คำนึงถึงสิทธิในการเล่นของเด็กเป็นสำคัญตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้อ31) เด็กมีสิทธิที่จะมีเวลาพักและเวลาพักผ่อน  ขอให้ช่วงปิดเทอม1เดือนเป็นเวลาของความสุขของเด็กที่จะได้เล่นและเรียนรู้ตามธรรมชาติและความต้องการตามวัยเด็ก กลุ่มเด็กปฐมวัยและอนุบาล ขอให้ยกเลิกการเรียนออนไลน์และ DLTV   เน้นส่งเสริมการเล่นอิสระ โดยผู้ปกครอง ครอบครัว ออกแบบและจัดการเล่นตามบริบทของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของท้องถิ่น  เด็กประถม เน้นส่งเสริมการเล่น และจัดกระบวนกาเรียนรู้ที่หลากหลาย ที่มีเนื้อหาการสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตตามบริบทของท้องถิ่น หรือวิชาที่เกี่ยวข้องกับทักษะชีวิตทางสังคมของเด็ก และช่วงสถานการณ์โรคระบาดไวรัส         

2.ขอให้กระทรวงศึกษาธิการสนับสนุนให้ผู้ปกครอง ครู และชุมชน ออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสม ตามบริบทของท้องถิ่น  และสามารถทดแทนและหรือใช้เป็นชั่วโมงวิชาเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิต สนองนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ได้อย่างแท้จริง โดยจัดทำเนื้อหาการสอนออนไลน์สำหรับผู้ปกครองโดยเฉพาะเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กของเด็ก ในเรื่องการเล่น แนวทางการเป็นผู้ดูแลการเล่น (Play worker ) และจัดทำเนื้อหา และรูปแบบกิจกรรม การให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต และการจัดการกับสถานการณ์วิกฤตในช่วงการระบาดของไวรัสโคโรนา ฯลฯสถานการณ์วิกฤติโรคระบาดไวรัสโคโรน่า(COVID-19)  ครอบครัว ครู และชุมชน ต้องให้โอกาสเด็กได้เล่น ภาครัฐต้องช่วยออกแบบ หาแนวทางสนับสนุน สร้างการเรียนรู้ดังกล่าวตามบริบทพื้นที่อย่างปลอดภัย



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ