ภาพสะท้อนวิกฤติ “โควิด-19”... ประชานต้องการ “รัฐที่มีประสิทธิภาพ”

วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

 ภาพสะท้อนวิกฤติ “โควิด-19”...  ประชานต้องการ “รัฐที่มีประสิทธิภาพ”


แม้จะดูเหมือนว่าสถานการณ์การระบาดของ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” ในประเทศไทยน่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้วตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ซึ่งแต่ละประเทศจะมีระยะเวลาที่ไวรัสระบาดสั้นยาวไม่เท่ากัน แต่แทบทุกประเทศมักใช้เวลา “หนึ่งเดือนกว่า” ที่ไวรัสจะระบาดจนถึง จุดสูงสุด (Peak) ซึ่งในประเทศไทย ก็อยู่ในราวๆ ต้นเมษายน เห็นได้จากตัวเลข “ผู้ติดเชื้อใหม่” รายวัน หรือผู้ติดเชื้อใหม่เฉลี่ยสัปดาห์ ประเทศไทยในช่วงหลังสงกรานต์กลายเป็นประเทศที่ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นใน “ทิศทางขาลง” อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกี่ยวข้องยังมองว่าปัญหาข้อเดียวที่ยังกดดันประเทศไทยก็คือ การระบาดจะมี “ขาลง” ที่ทอดระยะเวลาไปนานแค่ไหน และมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่จะเกิดเหตุไวรัส “ระบาดรอบใหม่” หรือ “Second Wave” ขึ้นมาอีก

นี่จึงเป็นเรื่องที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) หรือ ศบค. ยังคงมีความกังวลใจ จึงได้เสนอมาตรการแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด-19 ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาหลายเรื่อง โดยเฉพาะการ “ต่ออายุ” การประกาศใช้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การประกาศห้ามออกนอกเคหสถานในเวลา 22.00 - 04.00 น. ออกไปอีก 1 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1-31 พ.ค รวมทั้งเรื่องการผ่อนคลายธุรกิจและสถานประกอบการเนื่องจากมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างมาก ที่สำคัญกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมอย่างมาก

หลังจากที่ไวรัส “โควิด-19”  ระบาดไปทั่ว ทำให้รัฐบาลตัดสินใจใช้ “ยาแรง” เข้ายับยั้ง ด้วยประกาศ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ประกาศห้ามประชาชนออกนอกบ้านในเวลาที่กำหนด ทั้งยังสั่งปิดร้านอาหาร ศูนย์การค้า สถานบริการ และกิจการอื่นๆ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนหยุดนิ่ง กิจการท่องเที่ยวและโรงแรมต้องปิดตัวเอง ตกงานกันทั่วหน้า

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ทำให้คน “ตกงาน” ประมาณ 7 ล้านคน ไม่มีงานทำและไม่มีรายได้มานานหลายเดือนแล้ว จึงต้องเดือดร้อนแสนสาหัส วงการธุรกิจเชื่อว่าถ้าโควิดยืดเยื้อต่อไปอีก 2–3 เดือน จำนวนคนว่างงานจะพุ่งขึ้นเป็น 10 ล้านคน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยคาดว่า ถ้าโควิดลากยาวไปอีก 6-12 เดือน คนจนจะพุ่งขึ้นเป็น 19 ล้าน

ไม่ว่าจะเป็น 7 ล้าน 10 ล้าน หรือ 19 ล้านคน ถ้าต้องตกงานและกลายเป็นคนจน ล้วนแต่เป็นผลกระทบจากโควิด จึงสมควรได้รับการเยียวยาโดยถ้วนหน้า กระทรวงการคลังใช้ AI หรือ “ปัญญาประดิษฐ์” เป็นเครื่องคัดกรองคุณสมบัติผู้รับการเยียวยา ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาของภาครัฐทำแบบ “ไม่มีแผนการ” หรือ โครงการจะช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัส “โควิด-19”

แต่เมื่อมีปัญหาเข้ามา รัฐบาลใช้วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ เริ่มต้นด้วยการตั้งเป้าจะเยียวยา 3 ล้านคน แต่เมื่อมีผู้ลงทะเบียนขอความช่วยเหลือล้นหลาม จึงเพิ่มขึ้นเป็น 9 ล้านคน แต่ต้องมีผู้ผิดหวังอย่างน้อย 15 ล้านคน ที่อาจเป็นคน 10 อาชีพที่ไม่เข้าเกณฑ์ทางการ รวมไปถึงการเยียวยาเกษตรกร ประชาชนผู้ยากไร้

การแก้ปัญหาหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อ “โควิด-19” ด้วยการสั่งปิดสถานที่และสถานบริการ และล็อกดาวน์ของจังหวัดต่างๆ ทำให้กระทบแรงงานและคนในภาคธุรกิจที่ต้องตกงานและว่างงาน ที่ไม่มีรายได้ในการยังชีพ ซึ่งหากไม่ได้ความร่วมมือและการดูแลของเจ้าของธุรกิจ ย่อมยากที่จะรอดพ้นวิกฤติครั้งนี้ได้ โดยเฉพาะบรรดามหาเศรษฐีไทย เจ้าของกลุ่มธุรกิจใหญ่ระดับโลก

แม้รัฐบาลจะมีความพยายามที่จะให้ทุกฝ่ายร่วมด้วยช่วยกันแก้ปัญหา เห็นได้จากการส่งหนังสือไปถึง “มหาเศรษฐีไทย” ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี จนเกิดกระแสโจมตี “รัฐบาลขอทาน” หากไม่ใช่ขอบริจาคแต่ขอให้ช่วยอะไรในวิกฤติโควิค

มองอีกแง่หนึ่ง ความพยายามจะดึง 20 มหาเศรษฐี เข้ามาร่วมมือกับรัฐบาลในการฝ่าวิกฤตนั้น อาจต้องการแก้ปมประเด็นที่โดนวิจารณ์หนักว่า รัฐบาลนี้ “ขาดแคลนมืออาชีพ” ไม่มีผู้เชี่ยวชำนาญจริงๆ ในการ แก้สถานการณ์ร้ายแรง จึงต้องแสดงให้เห็นความร่วมมือจากกลุ่ม ผู้มีอิทธิพลในทางเศรษฐกิจ เพื่อเสริมสร้าง “ความเชื่อมั่น” ให้กับรัฐบาล โดยเฉพาะในช่วงเวลาอันใกล้นี้ จะต้องหยุดภาวะที่คนกำลังจะอดตาย ซึ่งอาจจะรุนแรงกว่าตายด้วยโควิดเสียอีก

การต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปด้านหนึ่งภาครัฐมองว่ามีความจำเป็น เพราะการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินช่วงที่ผ่านมาเดือนเศษ ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ระดับหนึ่ง มีผู้ติดเชื้อใหม่ต่ำกว่า 20 คนมาหลายวัน ดีกว่ามหาอำนาจหลายประเทศ ที่มีผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตจำนวนมาก จึงยังมีความจำเป็นต้อง “ตั้งการ์ดสูง” รักษาวินัยเคร่งครัดต่อไป ยังเบาใจกับยอดผู้ติดเชื้อขาลงไม่ได้ ตามรูปการณ์ปัจจุบันที่ชาวบ้านเริ่มออกนอกบ้านมาใช้ชีวิตกันปกติมากขึ้น สุ่มเสี่ยงให้จำนวนผู้ติดเชื้อดีดเพิ่มขึ้นมาใหม่ได้ทุกเมื่อ

อย่างไรก็ตาม “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ต้องรักษา “สมดุล” ระหว่างเรื่อง “ความปลอดภัย” กับเรื่อง “ปากท้อง” ประชาชนให้ลงตัว ไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป

ในภาวะที่อารมณ์ “โมโหหิว” ของประชาชนกำลังคุกรุ่น คนแห่ต่อคิวรอรับของแจกยาวเหยียด ขนาดที่คนซึ่งยังพอมี ลุกขึ้นมาแจกข้าวปลาอาหารให้คนยากไร้ ยังโดนอำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินเข้ามาควบคุม จะเอาผิดดำเนินคดี ซึ่งชี้ให้เห็นว่านี่คือความถนัดของรัฐบาลที่เคยชินมาจากยุค คสช. แต่ไม่ใช่ในยุคที่ต้องแก้โรคระบาด พลิกวิกฤตเศรษฐกิจปากท้องชาวบ้าน

 “วิกฤตโควิด-19” ครั้งนี้จึงสะท้อนและเปิดเผยธาตุแท้ของนักการเมือง หรือข้าราชการว่า “ใครหุ้มไว้ด้วยอะไร” ไม่ว่าจะเห็นจาก “ความคิด-คำพูด-การกระทำ” ใครเป็น “นักการเมือง” ที่ยึดเอาแต่เรื่อง “การเอาชนะคู่แข่ง” มากกว่าการ “เอาชนะปัญหา” ที่เกิดขึ้นกับประชาชน ซึ่งวันๆ คิดแค่จะ “ตอบโต้ ถากถาง” คู่ต่อสู้อย่างไร ไม่เคยคิดอะไรที่จะช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน หรือเป็น “นักการเมือง” ที่ลงมือแก้ปัญหาให้ประชาชน ไม่สนว่าใครจะพูดอะไร

ในส่วนของ “ข้าราชการ” นั้น เที่ยวนี้ชี้ชัดว่าทำงานใน “วัฒนธรรม” ที่อยู่กับแก่นแกนของ “ความบ้าอำนาจ” เห็นได้ชัดตรงเน้น “แต่งเครื่องแบบออกตรวจ” ทั้ง “ตั้งด่าน” ทั้ง “ตระเวน” เป้าหมายคือ “หาคนทำผิด” โชว์การใช้อำนาจโดยไม่มีสติปัญญาที่จะมองเห็นว่า “ปัญหาที่แท้จริงอยู่ตรงไหน” จะจัดการอย่างไร หากเป็นข้าราชที่มีสามัญสำนึกก็จะสามารถแก้ปัญหาและมีสติปัญญา “ยืดหยุ่นให้เหมาะสม” ได้ ซึ่งกรณี “จับขัง” คนขับรถข้ามจังหวัดไปดูแลแม่ป่วย หรือ “ยึดอาหาร” และเอาผิดคนมาแจกของชาวบ้านที่เดือดร้อนคงไม่เกิดขึ้น

ภายใต้วิกฤติครั้งใหญ่ที่รอขย้ำประเทศหลังสถานการณ์ไวรัสยุติลง สังคมไทยต้องการ “รัฐที่มีประสิทธิภาพ” ในการบริหารสาธารณสุขไม่ให้ไวรัสระบาดจนเศรษฐกิจพังอีก เราต้องการรัฐที่มีสมรรถนะในการ “ดูแลประชาชน” มากขึ้น รวมทั้ง “ผู้นำรัฐบาล” ที่เป็นผู้นำทางปัญญาในการปรับโครงสร้างสังคมครั้งสำคัญ

 

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ