กยท.จัดโครงการ “คืนน้ำยางกลับสู่ต้น” ถ่ายทอดเทคโนโลยีป้องกันโรคใบร่วง

วันอังคารที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2563

กยท.จัดโครงการ “คืนน้ำยางกลับสู่ต้น” ถ่ายทอดเทคโนโลยีป้องกันโรคใบร่วง


นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า  กยท. ร่วมกับจังหวัดนราธิวาสจั ดงานถ่ายทอดเทคโนโลยีเตรียมพร้อมรับสถานการณ์โรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราที่มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ตามโครงการ “คืนน้ำยางกลับสู่ต้น”  โดยจะแนะนำสารป้องกันกำจัดเชื้อรา สาธิตวิธีการฉีดพ่นทั้งบริเวณทรงพุ่มและพื้นสวนที่มีเชื้อราสะสมอยู่ พร้อมกันนี้จะมอบวัสดุอุปกรณ์อุดหนุนเกษตรกรและสถานบันเกษตรกรยางพาราได้แก่ เครื่องฉีดพ่นแรงดันสูงและวัสดุอุปกรณ์ป้องกันกำจัดเชื้อรา

นอกจากนั้น กยท. ยังกำหนดมาตรการเฝ้าระวังโรคใบร่วงในยางพาราที่เกิดจากเชื้อรา Pestalotiopsis sp. Colletotrichum sp. และเชื้อราอื่นๆ ส่งใบร่วงรุนแรง ต้นโทรม ผลผลิตน้ำยางทยอยลดลง ถึงขั้นต้องหยุดกรีดยาง เชื้อรานี้แพร่ระบาดโดยลมหรือจากการเคลื่อนย้ายส่วนของต้นยางจึงป้องกันได้ยาก อาการของโรคปรากฏบนใบยางแก่ ลักษณะเป็นแผลกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางส่วนใหญ่มากกว่า 0.5 เซนติเมตร

ช่วงเริ่มแรกอาการบนผิวใบเป็นรอยสีเหลืองค่อนข้างกลม (chlorosis) และต่อมาเนื้อเยื่อรอยสีเหลืองจะตายแห้ง (necrosis) เป็นแผลกลมสีสนิมซีด พบอาการจุดแผลต่อใบยางมากกว่า 1 แผล จากนั้นใบจะเหลืองและร่วงในที่สุด อาการของโรคจะรุนแรงและใบร่วงมากหลังมีฝนตกหนักติดต่อกันอย่างน้อย 2 วันเพราะอากาศที่ชื้นและลมแรง นอกจากนี้ยังพบมีแผลลุกลามแห้งจากปลายยอด หากใบร่วงหลายครั้งอาจถึงขั้นยืนต้นแห้งตายได้ พื้นที่พบการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา มี 9 จังหวัดได้แก่ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา สตูล ตรัง กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี รวมพื้นที่ 775,178.86 ไร่ มีเกษตรกรชาวสวนยาง ได้รับผลกระทบ 81,962 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563)

ขณะที่มาตรการเฝ้าระวังโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา ทาง กยท. ได้มีทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นที่ดำเนินการแล้วและกำลังดำเนินการคือ เร่งสำรวจและติดตามการแพร่ระบาดของโรค เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โดยการรับแจ้งและสำรวจของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ร่วมกับใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ซึ่งจะมีการประเมินพื้นที่การระบาดของโรคจากการร่วงของใบในช่วงเวลาต่างๆ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคได้แก่ ข้อมูลพื้นที่การระบาด การตรวจสอบลักษณะ อาการของโรค คำแนะนำในการป้องกันกำจัดโรคเบื้องต้น

นอกจานี้ ยังสาธิตการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยการใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ในการฉีดพ่นสารเคมีควบคุมและกำจัดเชื้อราใน 5 จังหวัดได้แก่ จังหวัดนราธิวาส ตรัง พังงา กระบี่ และสุราษฎร์ธานีนำร่องจังหวัดละ 300 ไร่ รวม 1,500 ไร่ ศึกษาวิจัยหาเชื้อสาเหตุและกลไกการเข้าทำลาย ทดสอบประสิทธิภาพของสารเคมีในการป้องกันกำจัดในพื้นที่เกิดโรคในสภาพแปลง ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูล มาใช้เป็นแนวทางในการ บริหารจัดการโรค ทั้งหน่วยงานในประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และองค์กรระหว่างประเทศเช่น สมาคมประเทศผู้ผลิตยาง ธรรมชาติ (ANRPC) สภาวิจัยและพัฒนายางระหว่างประเทศ (IRRDB) 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ