มาตรการเฟส 3 อุ้ม ‘รากหญ้า’ พลิก! 7 ไอเดีย ฝ่าวิกฤติ..โควิด

วันจันทร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2563

มาตรการเฟส 3 อุ้ม ‘รากหญ้า’  พลิก! 7 ไอเดีย  ฝ่าวิกฤติ..โควิด


ส่องมาตรการเงินเยียวยาเฟส 3 ลงลึกถึงรากหญ้า รองรับแรงงานกลับภูมิลำเนา ยึดโครงการเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9

หลังจากรัฐบาลได้ออกมาตรการเฟส 1 ช่วยเหลือผู้ประกอบการ และมาตรการเฟส 2 ช่วยเหลือแรงงานในระบบ มาตรการเฟส 3 กำลังถูกจับตามองอย่างมากในขณะนี้ เพราะจะเป็นมาตรการที่ใช้เม็ดเงินมากที่สุด มากกว่า 2 มาตรการแรกรวมกัน เพื่อช่วยเหลือคนทุกระดับตั้งแต่รากหญ้าจนถึงกลุ่มนักลงทุน

ซึ่งรัฐบาลอาจจำเป็นต้องออกพ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉินกว่า 2 แสนล้านบาท เพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน เน้นสร้างรายได้แรงงานที่เดินทางจากส่วนกลางกลับภูมิลำเนา

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมาตรการดังกล่าวว่า เพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจและวิกฤติไวรัสโควิดที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ตนได้สั่งให้กระทรวงการคลังเตรียมแผนออกมาตรการชุดที่ 3 เน้นดูแลกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชน เพื่อรองรับแรงงานที่เดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด แนวทางในการดำเนินการให้ยึดโครงการเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยกำชับให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนและมาตรการต่าง ๆ เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้ระบุตัวเลขงบประมาณที่จะนำมาดูแลโครงการดังกล่าว แต่มีแผนที่จะออก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉินวงเงินมากกว่า 2 แสนล้านบาท

“หากมีความจำเป็นอาจจะพิจารณาออก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉินมาดูแลเศรษฐกิจในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ซึ่งในหลักการสามารถทำได้เนื่องจากฐานะการเงินการคลังแข็งแกร่ง ไม่มีปัญหา แต่ปัญหาตอนนี้คือ พ.ร.บ.ทั้งหลายที่มียกร่างขึ้นมาในช่วงที่เหตุการณ์ปกติ แต่เมื่อเข้าสู่เหตุการณ์ผิดปกติจึงทำอะไรไม่ได้” นายสมคิดกล่าว

*** ยืนยันไม่พึ่งไอเอ็มเอฟ ***

นายสมคิดระบุอีกว่า มาตรการช่วยเหลือระยะที่ 3 ครอบคลุม 3 ส่วน คือ 1. การดูแลประชาชนและเกษตรกร โดยจะดำเนินการให้ภาคเกษตรเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเกิดการสร้างการจ้างงานกระจายลงหมู่บ้าน 2. ดูแลสภาพคล่องผู้ประกอบการเพิ่มเติม และ 3. ดูแลเสถียรภาพระบบตลาดเงินและตลาดทุน

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าประเทศไทยจะต้องไปกู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อมาใช้ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 ไม่เป็นความจริง ประเทศไทยไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องไปกู้เงินจากสถาบันการเงินต่างประเทศ และไม่จำเป็นที่จะต้องไปขอให้ไอเอ็มเอฟมาช่วยเหลือ เนื่องจากไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 2.3 แสนล้านดอลลาร์และเงินตราไม่ได้ไหลออกนอกประเทศ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยยังอยู่ในระดับสูง ดอกเบี้ยก็ต่ำมาก ผิดกับในปี 2540 ขณะนั้นสถานการณ์หนักเพราะเราไม่มีเงินสำรองระหว่างประเทศ แต่ในขณะนี้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของเรามีมากที่จะดูแลเศรษฐกิจในประเทศได้

“เราสามารถที่จะดูแลตัวเองได้โดยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปหาไอเอ็มเอฟ และหากจำเป็นจะต้องกู้เงินเราก็สามารถกู้ภายในประเทศได้” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

*** ‘คลังพร้อมเข็นมาตรการชุดใหญ่ ***

ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง พร้อมด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), สมาคมธนาคารไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 3 ซึ่งจะเป็นชุดมาตรการเยียวยาและดูแลระบบเศรษฐกิจที่สืบเนื่องจากวิกฤติผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

โดยจะเป็นมาตรการชุดใหญ่ที่สุด ครอบคลุมทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายกลางและรายย่อย และระบบการเงิน การลงทุน รวมถึงสถาบันการเงิน การลงทุนในตลาดทุน และหุ้นกู้ เป็นต้น ส่วนงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นจำนวนเท่าไร เพราะยังอยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการ แต่ยืนยันว่าจะใหญ่กว่า 2 ชุดมาตรการที่เคยออกมาก่อนหน้านี้รวมกัน ซึ่งจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เร็วที่สุด

ชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 3 นี้ จะมีขนาดที่เหมาะสม และมีความจำเป็นสำหรับดูแลเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ ทั้งการดูแลเยียวยาประชาชน ดูแลเยียวยาและสนับสนุนผู้ประกอบการ ดูแลระบบการเงินการลงทุนทั้งหมด ถือเป็นชุดมาตรการใหญ่ที่เตรียมจะออกมา ซึ่งจะมีมาตรการเป็นส่วนๆอยู่ภายใต้ชุดมาตรการดังกล่าวว่าแต่ละเรื่องจะดูแลอะไร อย่างไรบ้าง ตรงนี้ถือเป็นงานเร่งด่วนของกระทรวงการคลัง ยืนยันว่ารัฐบาลดำเนินการตามกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ทำให้มั่นใจได้ว่ายังมีกำลังจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดต่อไปได้อย่างแน่นอน รมว.คลังกล่าว

นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ กล่าวว่า สนับสนุนให้รัฐบาลใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ทั้งหมด เช่น พ.ร.ก. กู้เงิน เพื่อที่จะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้ เพราะรัฐบาลยังมีพื้นที่สำหรับกู้เงินเพิ่มเติมราว 2.42 แสนล้านบาท ตาม พ.ร.บ. หนี้สาธารณะ ในขณะที่ระดับหนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศในกลุ่มเดียวกัน และยังอยู่ภายใต้เกณฑ์กรอบความยั่งยืนทางการคลัง

*** เดินหน้าแผนช่วยเกษตรกร ***

 

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หาแนวทางและมาตรการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร รวมถึงประชาชนทั้งประเทศจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งขอให้ประชาชนมั่นใจว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ไทยผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปได้แน่นอน

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมมาตรการรองรับผลกระทบจากโควิด-19 อาทิ ผลไม้ที่จะมีผลผลิตออกมาในช่วงนี้จะกระตุ้นการบริโภคผลไม้ภายในประเทศเพิ่มขึ้นรวมถึงหาตลาดใหม่เพิ่มเติมจากเดิม การส่งเสริมการแปรรูปและการกระจายสินค้าเกษตรอย่างรวดเร็วผ่านระบบออนไลน์ รวมทั้งได้เตรียมการรองรับแรงงานที่จะไหลกลับไปสู่ภาคเกษตร (Labor Migration) ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชา โดยมีโครงการสำคัญที่แรงงานไหลกลับเข้าสู่ภาคเกษตรเพื่อให้เข้าไปเรียนรู้และปฏิบัติตาม

ทั้งนี้ สศก.ประเมินว่าการระบาดของโรคโควิด-19 จะเป็นปัจจัยลบต่อภาคการเกษตร โดยอาจทำให้ภาวะการค้า การเดินทาง และการขนส่งกระจายสินค้า ได้รับผลกระทบในช่วงแรก และการที่ราคาน้ำมันลดลงจะทำให้ราคายางพาราและราคาพืชพลังงานทดแทนไม่สามารถขยับสูงขึ้นได้มาก รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่ผันผวนอาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง และส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตรในประเทศ

*** ภัยแล้งซ้ำเติม-ตัวเลขว่างงานพุ่ง ***

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ว่า หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนโดยการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวติดลบสูงถึง 42.6% การส่งออกโดยรวมยังขยายตัวได้ 3.6% แต่หากไม่รวมการส่งออกทองคำจะติดลบ 1.3% และการนำเข้าสินค้าได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากมาตรการปิดเมืองของจีน บัญชีเดินสะพัดเกินดุลกว่า 5,400 ล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มลดลงตามการหดตัวของภาคการท่องเที่ยว

อีกประเด็นที่ยังต้องติดตามใกล้ชิดคือปัญหาภัยแล้งที่จะส่งผลกระทบไปถึงภาคการผลิตด้วย ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากเดือนก่อนตามราคาพลังงานที่ลดลง ขณะที่เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ซึ่งในอนาคตจะเป็นผลดีต่อการส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตร ประมาณการณ์ตัวเลขจีดีพีของแบงก์ชาติคาดว่าทั้งปีจะติดลบ 5.3% ขณะที่ตัวเลขการว่างงานล่าสุดเพิ่มขึ้น 0.1% ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำแต่จากสถานการณ์ขณะนี้ตัวเลขการว่างงานมีแนวโน้มมากขึ้น



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ