แบงก์แห่ออกมาตรการ... ช่วยลูกค้าสู้พิษไวรัสโควิด-19

วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2563

แบงก์แห่ออกมาตรการ... ช่วยลูกค้าสู้พิษไวรัสโควิด-19


สมาคมธนาคารไทยออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อย หวังให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติไวรัสโควิด-19 ไทยพาณิชย์จัดเต็ม3มาตรการ“ช่วยพัก ช่วยขาย ช่วยลดต้นทุน” พาเอสเอ็มอีฝ่าวิกฤติท่องเที่ยว ขณะที่ “ทีเอ็มบี”ผนึก“ธนชาต” ออกมาตรการ “ตั้งหลัก” กรุงไทย ขยายระยะเวลาชำระหนี้และการค้ำประกัน ออมสินลดดอกเบี้ยให้สูงสุด20%

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เช่น การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 วิกฤติภัยแล้ง การผันผวนของค่าเงินบาท การขัดแย้งทางการค้า ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนเป็นอย่างมาก สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิกจึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ใช้บริการสินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อเพื่อธุรกิจระหว่างประเทศ และสินเชื่อเช่าซื้อ รวมถึงการช่วยเหลือพนักงานและลูกจ้างของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งใช้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งขณะนี้ธนาคารทยอยติดต่อลูกค้าเพื่อเสนอความช่วยเหลือ และมีลูกค้าแจ้งรับความช่วยหลือเข้ามาแล้วพอสมควร แต่ยังไม่สามารถระบุถึงขอบเขตวงเงินสินเชื่อในการช่วยเหลือไปแล้วได้ เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบและประเมินผล

สำหรับแนวทางของสมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิกแต่ละแห่ง ที่ให้การช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย 1.มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ได้แก่ โรงแรม โลจิสติกส์ ภัตตาคาร ร้านอาหาร ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจบันเทิง ร้านขายของที่ระลึก และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ประกอบด้วย

1.1 ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยระยะเวลาสูงสุด 1 ปี

1.2 สนับสนุนให้มีรายได้จากการร่วมมือกับภาครัฐ และผู้ประกอบการท่องเที่ยว ด้วยการจัดรายการส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว การจัดรายการโปรโมชันบัตรเครดิต เช่น การลดราคา กระตุ้นการท่องเที่ยวในวันธรรมดา

2. มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก และผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับผลกระทบ ผ่านมาตรการ ขยายระยะเวลาในการชำระตั๋ว Packing Credit หรือตั๋ว P/N สำหรับผู้นำเข้า-ส่งออก โดยขยายระยะเวลาตั๋วสูงสุดครั้งละ 3 เดือน

3. มาตรการช่วยเหลือลูกจ้างและพนักงานของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย 3.1 สินเชื่อที่อยู่อาศัย ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ย ระยะเวลาสูงสุด 1 ปี 3.2 สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล มี 2 ทางเลือก คือ ทางเลือกที่ 1: การผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยระยะเวลาสูงสุด 1 ปี และพิจารณาลดดอกเบี้ยเป็นรายกรณี ทางเลือกที่ 2: แปลงหนี้เดิมทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นสินเชื่อใหม่ และพิจารณาให้ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ย ระยะเวลาสูงสุด 1 ปี เป็นรายกรณี 3.3 สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ปรับลดยอดผ่อนชำระรายเดือนและขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ

ขณะที่ นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ SME ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สร้างวิกฤติด้านการท่องเที่ยวให้กับผู้ประกอบการไทยทั้งผู้ประกอบการโรงแรม ที่พัก และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลกระทบโดยตรงจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง รวมถึงนักท่องเที่ยวไทยชะลอการเดินทางท่องเที่ยวเช่นกัน ในขณะที่ผู้ประกอบการยังคงต้องแบกรับภาระต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่อเนื่อง ส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ธนาคารได้ออก 3 มาตรการช่วยเหลือ “ช่วยพัก ช่วยขาย ช่วยลดต้นทุน” กล่าวคือ

1. ช่วยพัก ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ออกมาตรการช่วยเหลือทางการเงินโดยพักชำระเงินต้นให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเป็นระยะเวลาสูงสุด 12 เดือน เพื่อแบ่งเบาภาระในเบื้องต้นให้กับผู้ประกอบการแล้ว

2. ช่วยขาย ด้วยเข้าใจในปัญหาที่ผู้ประกอบการกำลังเผชิญซึ่งอาจกระทบกับสภาพคล่องของธุรกิจ ธนาคารจึงจับมือกับพันธมิตร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) และสมาคมโรงแรมไทย (THA) จัดงาน “SCB เที่ยวไทย ไปด้วยกัน” เพื่อช่วยกระตุ้นบรรยากาศการท่องเที่ยวในประเทศ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการกว่า 50 ราย ที่ได้รับผลกระทบเสนอขายแพ็กเกจ มอบส่วนลดสูงสุดถึง 60% สำหรับโรงแรม ที่พัก โปรแกรมท่องเที่ยว ร้านอาหาร ให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทยโดยตรง พร้อมแคมเปญพิเศษจากธนาคาร สำหรับผู้ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของ SCB ใช้คะแนนเท่ายอดซื้อแลกรับเครดิตเงินคืนสูงสุด 15% ซึ่งสามารถเห็นผลด้านยอดขายและรายได้ทันที พร้อมกันนี้ยังได้วางแผนที่จะต่อยอดกิจกรรมนี้เพื่อเพิ่มโอกาสทางการขายด้วยการจัด Roadshow สัญจรไปยังสำนักงานองค์กรพันธมิตรต่างๆ ซึ่งมีทั้งกลุ่มพนักงานและลูกค้าที่พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการโรงแรมและแหล่งท่องเที่ยวไทยก้าวผ่านวิกฤติในครั้งนี้ไปด้วยกัน และธนาคารพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือทางการตลาดอื่นๆ เช่น การทำโปรโมชั่นพิเศษร่วมกันกับลูกค้า รวมถึงการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ของธนาคารช่วยลูกค้าโฆษณาและประชาสัมพันธ์เพื่อเพิ่มยอดขายได้ในอีกทางหนึ่ง

3. ช่วยลดต้นทุน ธนาคารพยายามใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางธุรกิจที่วางไว้มาช่วยลูกค้าให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรด้านต่างๆ เพื่อช่วยธุรกิจลดต้นทุนในระยะยาวผ่านการทำ Business Matching เปิดเวทีให้ผู้ประกอบการโรงแรมและท่องเที่ยวจับคู่เจรจาธุรกิจกับกลุ่มคู่ค้าทางธุรกิจ อาทิ Online Travel Agents ชั้นนำที่จะช่วยเปิดประตูให้ผู้ประกอบการไทยได้เข้าถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มอื่นๆ ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เพื่อชดเชยนักท่องเที่ยวจีน รวมทั้งคู่ค้าผู้พัฒนาเทคโนโลยีในการบริหารจัดการธุรกิจซึ่งมีประสิทธิภาพ อาทิ ระบบบริหารจัดการห้องพัก ระบบประหยัดพลังงาน ระบบบัญชี เป็นต้น

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Economic Intelligence Center (EIC) ประเมินว่าการระบาดของโรคโควิด-19 จะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในปี 2020 ลดลงเหลือเพียงราว 37 ล้านคน หรือลดลง 7.1% เทียบกับปีก่อนหน้า นอกจากนี้ การระบาดยังส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจไทยในด้านอื่น ๆ ด้วย อาทิ ภาคการส่งออก ภาคการผลิต รวมถึงการบริโภคภายในประเทศ ส่งผลให้ EIC ปรับลดการคาดการณ์อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จาก 2.7% เหลือ 1.8% ในปี 2020 โดยธนาคารไทยพาณิชย์จะยังคงติดตามผลกระทบอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือลูกค้าทั้งมาตรการช่วยเหลือด้านการเงิน และความช่วยเหลือในรูปแบบอื่นๆ เพิ่มเติมต่อไป

ด้านนายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารทีเอ็มบีและธนาคารธนชาตมีความห่วงใยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งกลุ่มที่ได้รับเชื้อ หรือกิจการได้รับผลกระทบ ยอดขายลดลง จึงร่วมกันออกมาตรการ “ตั้งหลัก” เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้าทั้งรายใหญ่และรายย่อยซึ่งมีที่อยู่ปัจจุบัน ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน ที่อยู่สถานที่ทำงาน หรืออย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ในเขตจังหวัดกรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี กระบี่ สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ และพังงา ครอบคลุมทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตฝ่าวิกฤติครั้งนี้ต่อไปได้ ดังนี้

ผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย - สินเชื่อบ้าน ลูกค้าทั้ง 2 ธนาคาร ขอพักชำระหนี้ได้นานสูงสุด 3 รอบบัญชี หากอยู่จังหวัดอื่นให้อยู่ในดุลยพินิจของธนาคาร และเมื่อครบกำหนดให้กลับมาชำระหนี้ตามปกติ

สินเชื่อรถยนต์ ธนชาตDRIVE ลูกค้าที่ค้างชำระหนี้ไม่เกิน 60 วัน ขอพักชำระหนี้ได้เพิ่มสูงสุด 60 วัน และขยายเวลาผ่อนชำระได้ไม่เกิน 96 งวด โดยเงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด และเมื่อครบกำหนดให้กลับมาชำระหนี้ตามปกติ

บัตรเครดิต- บัตรกดเงินสด ลูกค้าบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดทีเอ็มบี ขอพักชำระหนี้ได้นานสูงสุด 3 รอบบัญชี โดยดอกเบี้ยยังเดินปกติ แต่ไม่ถูกบันทึกเป็นการผิดนัดชำระหนี้ และเมื่อครบกำหนดให้กลับมาชำระหนี้ตามปกติ ด้านลูกค้าธนชาตสำหรับบัตรเครดิตขอลดยอดชำระขั้นต่ำได้จาก 10% เหลือ 5% นานสูงสุด 3 รอบบัญชี ส่วนลูกค้าบัตรกดเงินสดขอลดยอดชำระขั้นต่ำได้จาก 3% เหลือ 1 % นานสูงสุด 3 รอบบัญชี และเมื่อครบกำหนดให้กลับมาชำระหนี้ตามปกติ

สินเชื่อบุคคล ลูกค้าทั้ง 2 ธนาคารที่ได้รับผลกระทบขอพักชำระหนี้ได้นานสูงสุด 3 รอบบัญชี และเมื่อครบกำหนดให้กลับมาชำระหนี้ตามปกติ โดยขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้เพิ่มขึ้นอีก 3 รอบบัญชี หรือจนกว่าจะชำระหนี้ครบถ้วน

ผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อธุรกิจลูกค้ากลุ่ม SME ทั้ง 2 ธนาคาร ที่ประกอบธุรกิจบริการท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก ร้านค้าปลีกสำหรับนักท่องเที่ยว, ธุรกิจผลิตภัณฑ์การเกษตร, ธุรกิจขนส่ง, เช่ารถ หรือธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงลูกค้าสินเชื่อผู้ประกอบการวิชาชีพแพทย์ของธนชาต กรณีมีวงเงินกู้ระยะยาว (Term Loan) ขอพักชำระเงินต้นได้สูงสุด 6 เดือน และสามารถขยายเวลาผ่อนชำระออกไปได้อีก 6 เดือน กรณีมีวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี (O/D) ลูกค้าทั้ง 2 ธนาคาร ขอลดอัตราดอกเบี้ยลง 1.50% จากสัญญาสินเชื่อปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 3 เดือน สำหรับลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ กรณีมีวงเงินกู้ระยะยาว (Term Loan) ขอพักชำระเงินต้นได้สูงสุด 6 เดือนและขอขยายเวลาการผ่อนชำระออกไปได้อีก 6 เดือน สูงสุดได้ถึง 2 ครั้ง รวม 12 เดือน (ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของธนาคาร)

กรณีใช้การค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และถึงกำหนดชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อตั้งแต่วันนี้ -31 ก.ค. 2563 ลูกค้าทั้ง 2 ธนาคารขอพักชำระค่าธรรมเนียมได้ 12 เดือน นับจากวันถึงกำหนดชำระเดิม และเมื่อครบกำหนดให้กลับมาชำระตามหลักเกณฑ์ โดยบสย. จะพิจารณาคำขอที่ยื่นมาก่อนวันครบกำหนดชำระเท่านั้น

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสส่งผลให้กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่มาเที่ยวไทยปีละกว่า 10 ล้านคนลดน้อยลง ประกอบกับจีนเป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้กระทบต่อภาคธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว รวมทั้งการส่งออกสินค้าไปยังจีน ซึ่ง นายประสงค์ พูนธเนศ ประธานกรรมการธนาคารกรุงไทย และคณะกรรมการ ตระหนักในปัญหาดังกล่าวจึงได้มอบหมายให้ฝ่ายจัดการเร่งออกมาตรการช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน เพื่อช่วยคลายความวิตกกังวลให้กับผู้ประกอบการและเพิ่มความยืดหยุ่นให้ธุรกิจมีความพร้อมที่จะเผชิญและรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างเต็มศักยภาพ

โดยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบในการทำธุรกิจ เช่น ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าไปยังจีน ธนาคารพักชำระหนี้เงินต้นตามระดับผลกระทบ ทั้งนี้ ไม่เกิน 12 เดือน และขยายเวลาชำระหนี้ให้สอดคล้องกับธุรกิจ สำหรับลูกค้ารายใดที่ใช้ บสย. ค้ำประกันสินเชื่อเดิม สามารถขยายระยะเวลาค้ำประกันออกไปได้อีก 5 ปี โดยลูกค้าไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ และเป็นไปตามเกณฑ์ของ บสย. นอกจากนี้ ธนาคารยังจะติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การช่วยเหลือที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าต่อไป

“สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่มีความประสงค์ใช้สินเชื่อในการดำเนินธุรกิจ สามารถขอสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 4% ต่อปี กู้ได้สูงสุด 3 เท่าของหลักประกัน ผ่อนนานสูงสุด 7 ปี ยกเว้นค่าธรรมเนียม บสย.ค้ำประกัน 4 ปีแรก และสินเชื่อ SME อีก 10 ประเภท ให้เลือกใช้ตามความต้องการของธุรกิจ ดอกเบี้ยเริ่มต้น 4% ต่อปีเช่นเดียวกัน ภายใต้แคมเปญ กรุงไทย SME เคียงข้างธุรกิจคุณ” นายผยง กล่าว

ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ธนาคารฯ ได้ลดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาเงินกู้ลง 20% ของดอกเบี้ยจ่าย เป็นระยะเวลา 1 ปี (คงเหลืออัตราดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า 4%) พร้อมกับให้พักชำระเงินต้นไม่เกิน 2 ปี โดยระหว่างพักชำระเงินต้นนั้นให้ชำระดอกเบี้ยไม่น้อยกว่า 50% ตามความรุนแรงของผลกระทบ ในส่วนดอกเบี้ยที่ค้างชำระหรือที่ชำระไม่ครบนั้น ผ่อนปรนให้ชำระได้ภายหลังในระยะเวลาไม่เกิน 4 ปี และขยายระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 2 เท่าของระยะเวลาพักชำระเงินต้น สูงสุดไม่เกิน 4 ปี ส่วนลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม ธนาคารฯ ลดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาเงินกู้ลง 10% ของดอกเบี้ยจ่ายเป็นระยะเวลา 1 ปี (คงเหลืออัตราดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า 4%) พร้อมกับให้พักชำระเงินต้นไม่เกิน 2 ปี โดยระหว่างพักชำระเงินต้นให้ชำระดอกเบี้ยไม่น้อยกว่า 100% และขยายระยะเวลาชำระหนี้ไม่

เกินระยะเวลาพักชำระเงินต้น สามารถติดต่อแจ้งความจำนงเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ที่สาขาธนาคารออมสินทุกแห่งทั่วประเทศ ทั้งนี้ คุณสมบัติลูกค้าที่สามารถใช้มาตรการนี้ได้ ต้องได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจขนส่งเพื่อการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการขายสินค้าให้นักท่องเที่ยว ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ตลอดจนผู้ผลิตสินค้า ผู้ประกอบการขายส่ง เป็นต้น

“จากมาตรการนี้ถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของลูกค้าผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้และไม่ปิดกิจการ ธนาคารฯจึงอยากขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้ช่วยเหลือแรงงานในกิจการด้วยการไม่เลิกจ้างพนักงานและลูกจ้าง เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาผลกระทบที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้” ดร.ชาติชาย กล่าว



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ