หน้ากาก & เจลล้างมือ โควิด19 ดันตลาดพันล้านเดือด

วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2563

หน้ากาก & เจลล้างมือ โควิด19 ดันตลาดพันล้านเดือด


หน้ากากอนามัย (Surgical Mask) ได้กลายมาเป็น 1 ในปัจจัยสำคัญของชีวิตไปแล้ว นับตั้งแต่ฝุ่น PM2.5 พ่นพิษในหลายประเทศเมื่อหลายปีก่อน ยกตัวอย่าง ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่หันมานิยมใส่หน้ากากอนามัยที่ประกอบไปด้วยเทคโนโลยีแบบใหม่ อาทิ หน้ากากที่มีกลิ่นหอม หรือจะเป็นหน้ากากที่มีสีสันสดใสตามฉบับชาวญี่ปุ่นที่ชื่นชอบสินค้ามีดีไซน์ ทำให้ธุรกิจนี้ในญี่ปุ่นมีการเติบโตและขยายตลาดมากขึ้น นักธุรกิจจำนวนมากหันไปเป็นนักลงทุนอุตสาหกรรมหน้ากากอนามัย จนทำให้มูลค่าตลาดหน้ากากอนามัยในญี่ปุ่นเมื่อปี 2556 เพิ่มถึง 26 พันล้านเยนหรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 274 ล้านบาท

โดยยังมีการคาดการณ์ ณ วันนั้นอีกว่าธุรกิจนี้จะบานสะพรั่งในอีก 5 ปีข้างหน้าหรือนับจากปี 2561 ที่ผ่านมา เพื่อซัพพอร์ตตลาดในประเทศเป็นหลัก ไม่เน้นการส่งออก เนื้องจากมีความต้องการมากทั้งในโรงพยาบาล คนป่วย หรือแม้กระทั่งคนปกติทั่วไป

ดีมานด์ทะลักโต 10 เท่า

สำหรับในเมืองไทยฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ทั้งกรุงเทพฯและปริณฑล และอีกหลายจังหวัดสูงกว่าค่ามาตรฐาน ส่งผลต่อสุขภาพและความกังวลต่อประชาชน กระตุ้นให้เกิดปริมาณความต้องการหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะหน้ากาก N95 จนสินค้าขาดแคลนทั้งในร้านค้าปลีกและร้านค้าออนไลน์ ถึงขนาดในโลกออนไลน์คำว่า “หน้ากาก” กลายเป็นคำค้นหายอดนิยม ยอดขายในคอนวีเนียนสโตร์ ดิสเคาน์สโคร์ โตมากกว่า 10 เท่าตัวรวมถึงราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น อาทิ หน้ากากบรรจุ 20 ชิ้น จากกล่องละ 120 บาท ขยับขึ้นมาเป็น 360-480 บาท บางแห่งสูงถึง 999 บาท หรือเพิ่ม 8 เท่าตัว กระนั้นก็ตาม สินค้ายังไม่พอกับความต้องการ จากความต้องการ 30 ล้านชิ้นต่อเดือนกลายเป็น 40 ล้านชิ้นต่อเดือน

ครม.ขึ้นบัญชีเป็นสินค้าควบคุม

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากก่อนหน้านี้หน้ากากอนามัยไม่ใช่สินค้าควบคุม ราคาจึงปรับขึ้นลงตามดีมานด์-ซัพพลาย กระทั่งการระบาดของไวรัส Covid-19 หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อไวรัสโคโรนา ทำให้ความต้องการหน้ากากอนามัยพุ่งทะยานขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว จนขาดตลาดหาซื้อไม่ได้ ขณะที่ราคากลายเป็นข้อจำกัดให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงได้ยาก มติการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 4 ก.พ.63 จึงเห็นชอบเพิ่มบัญชี 4 สินค้าเป็นสินค้าควบคุม คือ 1.หน้ากากอนามัย 2.ใยสังเคราะห์ในการผลิตหน้ากากอนามัย 3. เจลล้างมือ 4 เศษกระดาษที่นำกลับมาใช้ได้อีก การปรับราคาขายปลีกไม่สามารถทำตามดีมานด์-ซัพพลายได้อีกต่อไป ต้องขออนุญาตและผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.)

เบรกส่งออกซัพพอร์ตตลาดภายใน

นอกจากการประกาศขึ้นบัญชีหน้ากากอนามัยและสินค้าอนามัยอีก 3 รายการเป็นสินค้าควบคุมแล้ว คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ยังกำหนดให้การส่งออกหน้ากากอนามัยตั้งแต่ 500 ชิ้นขึ้นไปต้องขออนุญาตจากกรมการค้าภายในก่อน โดยพบว่าตั้งแต่วันที่ 6-11 ก.พ.63 มีผู้มาขออนุญาตเพื่อส่งออกหน้ากากอนามัยรวม 40 ราย จำนวนที่ขออนุญาตส่งออกประมาณ 18.5 ล้านชิ้น ซึ่งกรมฯต้องพิจารณาว่าจะอนุญาตให้รายใดทำการส่งออกบ้างโดยไม่กระทบต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ

คนไทยควัก 2.5 พันล้านซื้อหน้ากาก-เจลล้างมือ

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำรวจพฤติกรรมของคนไทยกับการปรับตัวท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของไวรัส Covid-19 และผลต่อภาคธุรกิจต่างๆ โดยมีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 1,200 คน พบว่า 66% มีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสCovid-19 ซึ่งพบผู้ติดเชื้อในประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลให้ประชาชนชาวไทยให้ความสำคัญกับการป้องกันตนเองและปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางด้านในช่วงระยะเวลานี้ที่ยังมีความไม่แน่นอนว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเมื่อใด ทั้งนี้ ภายใต้กรอบเวลา 1-3 เดือน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า คนไทยจะมีภาระค่าใช้จ่ายในการป้องกันและดูแลสุขภาพผ่านการซื้อหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ คิดเป็นเม็ดเงินราว 2,200-2,500 ล้านบาท ขณะที่การปรับพฤติกรรมของประชาชน อาจก่อให้เกิดผลทางลบต่อภาคธุรกิจต่างๆ

โดยผลกระทบหลักจะตกอยู่ที่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในประเทศผ่านการเลื่อน/ชะลอการเดินทางชั่วคราว คิดเป็นมูลค่าประมาณ 13,100-17,500 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.0-6.5% ของรายได้ตลาดไทยเที่ยวไทยในช่วงปกติ การประเมินนี้ยังไม่รวมผลจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศของภาครัฐ ขณะที่ผลกระทบต่อรายได้สุทธิในธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหารในภาพรวมจากการใช้จ่ายของคนไทยอาจยังอยู่ในกรอบจำกัด คิดเป็นมูลค่าประมาณ 900-1,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.02-0.04% เมื่อเทียบกับช่วงปกติ

10 โรงงานลุยผลิตเต็มกำลัง

น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในช่วงตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมามีความต้องการหน้ากากอนามัยเป็นจำนวนมาก และปรากฏข่าวหน้ากากอนามัยไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้สอบถามไปยังโรงงานที่ผลิตหน้ากากอนามัยภายในประเทศกว่า 10 ราย ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ 6 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี ชลบุรี เชียงใหม่ และเพชรบุรี มีกำลังการผลิตรวมประมาณ 537 ล้านชิ้น/ปี หรือคิดเฉลี่ยผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศ 1.2 ล้านชิ้น/วัน ซึ่งจำนวนนี้ยังไม่รวมผู้ผลิตรายย่อยที่ไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานหรือผู้นำเข้ารายย่อย ทราบว่าโรงงานทั้งหมดขณะนี้ดำเนินการผลิตเต็มกำลังการผลิต และยังเน้นการเพิ่มรอบการทำงานเพื่อขยายกำลังการผลิตอีกด้วย ซึ่งส่วนใหญ โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยจะผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศเป็นหลัก โดยขายตรงให้กับโรงพยาบาลเป็นลำดับแรก และค่อยกระจายสินค้าไปยังร้านยาและร้านค้าปลีก

นอกจากนี้ยังมีโรงงานบางแห่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่มีเงื่อนไขต้องผลิตเพื่อการส่งออก หาก 2 โรงงาน คือ บริษัท สยาม โคเค็น จำกัด บริษัท เอ็มเมอรัล นอนวูเว่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่มีการส่งออก 100 % ดำเนินงานตามมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ที่จำกัดการส่งออกตั้งแต่ 500 ชิ้นต้องขออนุญาต แม้ว่าจะมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศแล้วก็ตาม เพราะต้องการให้ความสำคัญกับการใช้ในประเทศเป็นอันดับแรก จะทำให้มีหน้ากากอนามัยเข้าสู่ระบบการใช้ภายในประเทศอีกกว่า 128 ล้านชิ้น/ปี หรือ 350,000 ชิ้น/วัน ซึ่งคาดว่าเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนแน่นอน

เปิดมูลค่าตลาดหน้ากากอนามัย

ปี 2562 ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกหน้ากากอนามัยประเภทหน้ากากกรองฝุ่น หมอกควันหรือสารพิษ คิดเป็นมูลค่า 300 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 17.97% (เทียบกับปีก่อนหน้า) โดยประเทศที่ไทยมีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุดคือญี่ปุ่น 128 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 42.75% รองลงมาคือสหรัฐอเมริกามูลค่า 75 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 21.5% จีนมูลค่า 1.3 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน

0.44% ขณะที่การนำเข้าหน้ากากอนามัยประเภทหน้ากากกรองฝุ่น หมอกควันหรือสารพิษ 232 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 129.93% (เทียบกับปีก่อนหน้า) โดยประเทศที่ไทยนำเข้าสูงที่สุดคือจีน 108 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 46.72% รองลงมาคือสิงคโปร์มูลค่า 56.29 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 24.28%

หน้ากากอนามัย#ของมันต้องมี

การระบาดของโรคอุบัติใหม่ที่ปรากฏขึ้นมาโดยไม่ได้คาดคิด รวมถึงฝุ่นพิษที่ยังวิกฤตเป็นระรอก ส่งผลให้ธุรกิจสุขภาพกลายเป็นเทรนด์ยอดฮิต เป็นสินค้าดาวรุ่งในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในจังหวะที่ใครก็แสวงหาหน้ากากอนามัย แม้กระทั่ง Xiaomi ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและสมาร์ทโฮมยังต้องเปิดตัวสินค้าใหม่หน้ากากอนามัย F95 มีความสามารถในการกรองแบคทีเดีย ไวรัส และป้องกันฝุ่นละอองที่มีขนาด PM2.5 สำหรับเด็ก โดยจุดเด่นอยู่ที่การออกแบบให้เหมาะกับโครงหน้าของคนเอเชีย เพื่อให้หายใจสะดวกขึ้นแต่ก็สามารถป้องกันมลพิษได้ มีฟิลเตอร์ช่วยกรอง 4 ระดับ ทำให้ช่วยกรองฝุ่นระดับ PM2.5 ได้ 95% เหมาะสำหรับเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป

นอกจากนี้ผู้ใช้งานยังสามารถเปลี่ยนตัวกรองได้เมื่อใช้งานระยะหนึ่งทำให้ไม่ต้องซื้อตัวหน้ากากบ่อย ๆ ส่วนตัวหน้ากากก็ทำความสะอาดได้ด้วยน้ำยาซักผ้าสูตรอ่อน สำหรับราคาจำหน่ายคือ 199 หยวนหรือประมาณ 880 บาท ซึ่งตลาดหน้ากากอนามัยยังมีช่องว่างให้นักนวัตกรรมเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งอีกมาก ขึ้นอยู่กับว่าใครจะออกแบบสร้างจุดเด่นให้น่าสนใจและดึงดูดผู้บริโภคได้อย่างไร จนต้องใช้คำว่าหน้ากากอนามัย # ของมันต้องมี อย่างไรก็ตาม การจะเลือกใช้หน้ากากอะไรต้องรู้จักคุณสมบัติของหน้ากากว่ามาจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานหรือไม่ ใช้เพื่อกิจกรรมอะไร และต้องปฏิบัติตามวิธีการใช้อย่างไร



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ