ความเชื่อมั่นทรุดหนักรอบ 20 ปี ปลุก…เมด อิน ไทยแลนด์ สู้…ไวรัสโคโรนา

วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2563

ความเชื่อมั่นทรุดหนักรอบ 20 ปี  ปลุก…เมด อิน ไทยแลนด์  สู้…ไวรัสโคโรนา


ไวรัสโคโรนาทุบเศรษฐกิจทั่วโลก ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นในไทยต่ำลุดรอบ 20 ปี การใช้จ่ายลดลงทุกรายการทั้งซื้อบ้าน ซื้อรถ และ ท่องเที่ยว ทุเรียนโอดออเดอร์ล็อตแรกไปจีนถูกยกเลิกเกลี้ยงต้องระบายผ่านพ่อค้าเร่-ตลาดค้าส่งขายในประเทศแทน ขณะที่จีนเลื่อนงานแสดงสินค้าเป็นแผง ทำผลประกอบการสายการบินสูญหมื่นล้าน กกร.ชง 5 มาตรการสู้พิษเศรษฐกิจ ดัน “เมด อิน ไทยแลนด์” วาระแห่งชาติ

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมกราคม 2563 ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11

โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมต่ำสุดรอบในรอบ 69 เดือน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันต่ำสุดในรอบ 220 เดือน(18ปี 4 เดือนนับจากตุลาคม 2544)

ปัจจัยหลักๆเนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาจากจีน อาจส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตรวมถึงภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก และกำลังซื้อภายในประเทศ นอกจากนี้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ล่าช้าออกไปและปัญหาภัยแล้งอาจเป็นปัจจัยลบที่ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยในอนาคต

นายปรีดา โพธิ์ทอง ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า “การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ เนื่องมาจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์การเมือง อีกทั้งผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูง ตลอดจนราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ จะส่งผลให้ต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเชิงลบในอนาคต และทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่องไปจนถึงกลางไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เป็นอย่างน้อย”

การใช้จ่ายลดลงทุกรายการ

ขณะที่นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลสำรวจภาวการณ์ใช้จ่ายของผู้บริโภคทั้งการซื้อบ้านใหม่ ซื้อรถใหม่ ลงทุนเพิ่ม และท่องเที่ยว พบว่า ลดลงทุกรายการ เช่นเดียวกับกับภาวการณ์ทางสังคมของผู้บริโภค ด้านความสุขในการดำเนินชีวิต ภาวะค่าครองชีพ ปัญหายาเสพติด และสถานการณ์ทางการเมือง อยู่ในภาวะต่ำลงทั้งสิ้น โดยเฉพาะดัชนีภาวะค่าครองชีพอยู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 164 เดือน(13ปี 8 เดือนนับจากทำสำรวจพฤษภาคม 2549)

โดยสาเหตุที่ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทำระดับต่ำสุดมาจากหลายปัจจัยลบ ได้แก่ ความวิตกกังวลการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต การทำธุรกิจและภาวะเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว การปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจ ผลจากส่งออกติดลบและสงครามการค้าโลก ทำให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ลดจีดีพีเหลือ 2.8% จากเดิม 3.3% เงินบาทอ่อนค่ามีผลต่อเงินไหลเข้าประเทศและราคาสินค้าส่งออก ผลกระทบจาก

เบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ทำให้การลงทุนล่าช้าออกไป ผลกระทบจากภัยแล้ง ฝุ่นละอองPM 2.5 ราคาพืชผลเกษตรยังต่ำ ดัชนีหุ้นปรับตัวลดลง

“ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและยังกระจุกตัว โดยเฉพาะการระบาดไวรัสโคโรนาจะกระทบต่อเม็ดเงินการท่องเที่ยวหายไป 2.2 แสนล้านบาทและการบริโภคในประเทศต้องระมัดระวังมากขึ้น” นายธนวรรธน์ กล่าว

ยกเลิกออเดอร์ทุเรียนหันขายในประเทศ

ทุเรียนเป็นหนึ่งในผลไม้หลักที่ไทยส่งออกไปจีน และได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา เนื่องจากการขนส่งที่หยุดชะงัก ทำให้ทุเรียนทุกสวนที่ทำสัญญาซื้อขายกับล้งไว้ก่อนหน้านี้ถูกยกเลิกออเดอร์ทั้งหมด จากการสำรวจตลาดของ “สยามธุรกิจ” พบว่าทุเรียนจำนวนมากถูกขนออกจากโกดังแล้ว แต่ไม่สามารถส่งต่อไปยังประเทศจีนได้ ต้องใช้วิธีขายต่อให้กับพ่อค้าเร่และตลาดค้าส่งต่างๆเพื่อไปจำหน่ายต่อตามสถานที่ต่างๆภายในประเทศ ทำให้ปีนี้คนไทยได้บริโภคทุเรียนเกรดพรีเมี่ยมซึ่งเป็นเกรดส่งออกในราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 140 บาท ซึ่งในปีที่ผ่านมาทุเรียนมาตรฐานเหล่านี้จะถูกส่งออกไปจีนทั้งหมด แม้ราคาจะค่อนข้างแพงแต่ก็ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคที่ผ่านไปผ่านมาแวะเวียนไปอุดหนุนช่วยให้ทุเรียนที่ถูกยกเลิกออเดอร์สามารถจำหน่ายได้จำนวนมาก

ยอดขายรถยนต์ลดลงต่อเนื่อง

บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด คาดการณ์ตลาดรถยนต์ไทยปี 2563 ยอดขายโดยรวม 940,000 คัน ลดลง 6.7% เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งยอดขายรถยนต์รวมในประเทศไทยปี 2562 อยู่ที่ 1,007,552 คัน ปี 2563 จึงนับเป็นปีที่ท้าทายอีกปีหนึ่งที่ตลาดรถยนต์ยังคงเผชิญกับหลายปัจจัย จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน และมาตรการควบคุมสินเชื่อรถยนต์ที่เข้มงวดมากขึ้น ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่าตลาดรถยนต์รวมในประเทศจะอยู่ที่ 940,000 คัน ลดลงประมาณ 6.7% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ผ่านมา

ตลาดกลุ่มอสังหาฯอืด

ด้านทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2563 ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ วิเคราะห์ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยคาดการณ์ว่าจะมีการขยายตัวไม่เกิน 5% ซึ่งถือเป็นการขยายตัวในระดับที่ต่ำ แม้ว่าจะมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญคืออัตราดอกเบี้ยขาลงและมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ทั้งการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนอง รวมถึง "โครงการบ้านดีมีดาวน์" ที่คาดว่าจะเป็นจุดพลิกที่ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์กลับมาฟื้นตัว ยอดการซื้ออสังหาริมทรัพย์มีอัตราการเติบโตขึ้น ส่งผลให้ความต้องการซื้อในตลาดจะถูกทยอยดูดซับ ซึ่งในปี2563 ผู้ประกอบการยังคงต้องให้ความสำคัญกับการบริหารสินค้าที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จรอการขาย (Inventory) เพื่อให้ความต้องการซื้อไม่ค้างอยู่มากเกินไป ซึ่งภาพรวมทั่วประเทศครึ่งแรกปี 2563 คาดว่าจะมีที่อยู่อาศัยเหลือขายประมาณ 245,371 หน่วย

นอกจากนี้วิกฤตไวรัสโคโรนาที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศจีน และยังลุกลามไปในประเทศต่างๆอีกหลายประเทศ ส่งผลให้ทั่วโลกต่างอยู่ในภาวะเฝ้าระวัง ในระหว่างนี้กำลังซื้อจากชาวจีนแทบหายไปจากตลาด เนื่องจากจีนถือเป็นกำลังซื้อหลักของตลาดไทย โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่ช่วงหลังผู้ประกอบการมุ่งพัฒนาสินค้าออกมาเพื่อรองรับกำลังซื้อกลุ่มนักลงทุนชาวจีนเป็นจำนวนมาก โดยนายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยตัวเลข

ชาวต่างชาติที่ถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดในปี 2561 พบว่ามีจำนวน 13,113 หน่วย มูลค่า 55,007 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นชาวจีนมากถึง 7,548 หน่วย สัดส่วน 57.6% จากผู้ซื้อชาวต่างชาติทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 29,440 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลข 9 เดือนปี 2562 พบว่ามีชาวจีนถือครองกรรมสิทธิ์ทั้งสิ้น 5,430 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 57.6% ของผู้ซื้อต่างชาติทั้งหมด โดยมีมูลค่า 20,117 ล้านบาท

จีนเลื่อนจัดงานแสดงสินค้า

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (วิดีโอคอนเฟอเรนซ์) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ภูมิภาคจีน จำนวน 9 สำนักงาน ได้แก่ นครเซี่ยงไฮ้ นครคุนหมิง นครเฉิงตู เมืองเซี่ยเหมิน เมืองกวางโจว เมืองหนานหนิง เมืองชิงต่าว เมืองฮ่องกง และ กรุงมะนิลาส่วนที่ 2 (ไต้หวัน) เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เพื่อวางแผนและเตรียมมาตรการรองรับต่อการส่งออกของไทยนั้น สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ในภูมิภาคจีน รายงานว่าเริ่มมีผู้จัดงานแสดงสินค้าในประเทศจีนหลายรายประกาศเลื่อนการจัดงานแสดงสินค้าต่างๆออกไป อาทิ งานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ Hong Kong International Jewellery Show ในเมืองฮ่องกง เลื่อนการจัดงานจากเดือนมีนาคม 2563 เป็นเดือนพฤษภาคม 2563 งาน Domotex Asia Chinafloor ในนครเซี่ยงไฮ้ที่จะจัดขึ้นในเดือนมีนาคม 2563 และงาน Canton fair 2020 ในเมืองกวางโจวที่จะจัดขึ้นในเดือนเมษายน 2563 ได้ประกาศเลื่อนจัดกิจกรรมออกไปอย่างไม่มีกำหนด

สายการบินสูญหมื่นล้าน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าในปี 2563 นี้ นอกเหนือจากปัจจัยด้านการแข่งขันตัดราคาและดีมานด์ชะลอตัวแล้ว การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในจีน ยิ่งซ้ำเติมธุรกิจสายการบินลงไปอีก โดยมูลค่าตลาดธุรกิจสายการบินจะหดตัวลงเหลือมูลค่าเพียงประมาณ 2.9-3.0 แสนล้านบาท ซึ่งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทำให้ธุรกิจสายการบินสูญเสียมูลค่าตลาดประมาณ 8,000-11,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี หากธุรกิจสายการบินสามารถฝ่าฟันวิกฤตการณ์ในปีนี้ไปได้ ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ธุรกิจสายการบินจะพลิกกลับมาฟื้นตัวได้ เพราะการแข่งขันด้านราคาเริ่มมีแนวโน้มลดความรุนแรงลง เนื่องจากสายการบินราคาประหยัดเริ่มเปลี่ยนกลยุทธ์การแข่งขันเป็นการสร้างแบรนด์และเสนอบริการระดับพรีเมียมมากขึ้น ส่วนสภาวะดีมานด์การเดินทางโดยเครื่องบินยังพอขยายตัวได้ แต่คงไม่กลับมาเติบโตอย่างก้าวกระโดดเหมือนในช่วงปี 2559-2561 คาดว่ามูลค่าตลาดสายการบินจะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง แต่ยังคงต้องใช้เวลาและการเติบโตของมูลค่าตลาดเป็นไปอย่างช้าๆ

ชง 5 มาตรการสู้พิษเศรษฐกิจ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือกกร. ประกอบด้วยส.อ.ท. หอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทยว่า ที่ประชุมมีมติปรับลดประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปี 63 ใหม่ อยู่ที่ขยายตัว 2 - 2.5% ลดลงจากก่อนหน้านี้คาดว่าขยายตัว 2.5 - 3% เนื่องจากหลายปัจจัยรุมเร้า โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในประเทศจีน ทั้งนี้กกร.ขอเสนอเรื่องด่วนต่อภาครัฐและขอให้มีผลทันทีภายในเดือนนี้ ประกอบด้วย 1.ขอให้ลดค่าไฟฟ้า5% จากยอดเรียกเก็บให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งหมด ระยะเวลา 6 เดือน 2.ยกเว้นการจ่ายประกันสังคมของลูกจ้างทั้งหมดและในส่วนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นเวลา 6 เดือน 3.

ขอให้คืนภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) ให้เร็วขึ้นไม่เกิน 30 วัน จากเดิมใช้เวลา 90 วัน เนื่องจากตอนนี้กระแสเงินสดเอกชนลดลงมาก 4. ช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีส่วนร่วมเข้าประมูลของภาครัฐ และ 5.ตั้งคณะกรรมการร่วมกับกรมบัญชีกลาง เพื่อปรับปรุงระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างให้เหมาะสมและจัดซื้อสินค้าเมด อิน ไทยแลนด์

ดัน “เมดอินไทยแลนด์” วาระแห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายสุพันธุ์ ได้กล่าวถึงโครงการเมด อิน ไทยแลนด์ โดยให้ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อความเป็นเลิศ หรือไออีซี ศึกษามาตรการและแนวทางส่งเสริมการใช้สินค้าไทย หรือเมด อิน ไทยแลนด์ ให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยมาตรการต้องไม่กระทบกับระเบียบขององค์การการค้าโลกหรือดับบลิวทีโอ เพื่อเสนอมาตรการดังกล่าวต่อรัฐบาล เนื่องจากในเวลานั้นสงครามการค้าโลกมีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้สินค้าจากต่างประเทศที่ไม่สามารถส่งออกไปยังสหรัฐ หันมาหาตลาดอื่นแทน และไทยเป็นหนึ่งในประเทศดังกล่าว หากไม่ช่วยกันรณรงค์ให้ใช้สินค้าไทย จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทยแน่นอน

"ตอนนี้สินค้าไทยหลาย ๆ กลุ่ม เช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน หรืออุตสาหกรรมอาหาร มีมาตรฐานระดับสากล ส่งออกไปต่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งตอนนี้รัฐเริ่มลงทุนโครงการต่าง ๆ จำนวนมาก แต่การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นสินค้าเมด อิน ไทยแลนด์ ยังน้อยมาก แม้จะกำหนดใน พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่ระบุให้เลือกซื้อสินค้าไทยก่อนสินค้าต่างประเทศ หากสินค้านั้นมีบริษัทไทยยื่นมา 3 แห่ง และราคาสูงกว่าสินค้าต่างประเทศไม่เกิน 10% ให้เลือกใช้สินค้าไทยก่อน อยากให้ภาครัฐเข้มข้นออกมาตรการดึงหน่วยงานรัฐให้ความร่วมมือตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว เป็นการรองรับเศรษฐกิจและยกระดับสินค้าไทยด้วย" ประธาน ส.อ.ท. กล่าว



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ