{apos}บิลช็อก{apos} กลับมาอีกรอบ

วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

{apos}บิลช็อก{apos} กลับมาอีกรอบ


กสทช. เตือนผู้บริโภคระวัง "บิลช็อก" ดูรายละเอียดโรมมิ่งให้ดีก่อนเดินทาง หลังพบกรณีหนุ่มไทยเดินทางไปแสวงบุญประเทศซาอุดีอาระเบีย 10 วัน ถูกคิดค่าบริการโรมมิ่งเกือบหนึ่งล้านสามแสนบาท พร้อมแนะผู้ให้บริการโทรคมนาคมไทยพัฒนามาตรฐานบริการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้มากขึ้น
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรม การกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ เปิดเผยถึงกรณีปัญหาที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับค่าบริการโรมมิ่งล่าสุด ถูกคิดค่าบริการสูงถึง 1,298,032 บาท หลังจากที่ได้เดินทางไปเข้าพิธีฮัจญ์ ณ ประเทศซาอุดีอาระเบียใน ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา และมีการใช้บริการโรมมิ่งประมาณ 10 วัน
ผู้ใช้บริการรายดังกล่าว เป็นเด็กหนุ่มวัย 21 ปี ได้ติดต่อเพื่อสมัครใช้แพ็กเกจโรมมิ่งกับบริษัทที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตนก่อนเดินทางแล้ว โดยได้สมัครใช้บริการโรมมิ่ง 25 MB ในราคา 350 บาทต่อวัน และเข้าใจว่า หากใช้บริการครบตามวงเงินที่จำกัดหรือเครดิตลิมิต จำนวน 7,000 บาท แล้วบริษัทจะหยุดบริการเอง ทำให้ตลอด 10 วันนั้นมีการเปิดเครื่องใช้งานด้านข้อมูล อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา จนกระทั่งกลับมาจึงได้รับทราบข้อมูลว่า แพ็กเกจที่สมัครไม่ได้ครอบคลุมถึงประเทศซาอุดีอาระเบียที่เดินทางไป พร้อมกันนั้นก็ต้องตกใจกับการแจ้งยอดหนี้ที่สูงถึง 7 หลัก และแม้ว่าในภายหลังได้เจรจากับบริษัทแล้ว บริษัทก็เสนอลดราคาให้เพียง 25%
ภาพรวมของปัญหาลักษณะนี้ เนื่องจากการให้บริการโรมมิ่งของประเทศไทยยังไม่มีความเคร่งครัดในบริการการจำกัดวงเงินค่าใช้บริการ หรือเครดิตลิมิต รวมถึงยังไม่มีการพัฒนาระบบแจ้งเตือนเมื่อค่าบริการสูงผิดปกติในลักษณะที่เป็นปัจจุบัน (real time) ทำให้เกิดผู้บริโภคต้องเผชิญปัญหา "บิลช็อก" ซึ่งถ้าต้องใช้หนี้ตามยอดที่ถูกเรียกเก็บก็จะถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัวได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นบริการ ที่ผู้ให้บริการสามารถดำเนินการได้
ดังนั้น ผู้ให้บริการโทรคมนาคมของประเทศไทยควรพัฒนามาตรฐานบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคให้มากกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเด็นที่จะสร้างความเสียหายให้กับผู้ใช้บริการได้มาก อย่างเช่นการใช้บริการข้ามแดนอัตโนมัติ หรือโรมมิ่ง ซึ่งในยุคนี้มีการใช้งานดาต้ากันสูงของคนทุกกลุ่ม ทุกระดับชั้น ทำให้ขอบ เขตของความเสียหายไร้ขีดจำกัดมากกว่าการใช้บริการด้านเสียงที่ยังจำกัดด้วย ระยะเวลา
ส่วนในแง่ของการกำกับดูแล นายประวิทย์กล่าวว่า มีแนวทางตัวอย่างของต่างประเทศที่น่าสนใจ ยกตัวอย่างเช่นประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีการสรุปบทเรียนจากประสบการณ์การกำกับดูแลแล้วพบว่า ผู้บริโภคมีอำนาจต่อรองน้อยและมักจะไม่ได้รับข้อมูลครบถ้วน ดังนั้น จึงกำหนดมาตรฐานบริการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เช่น ในการเปิดบริการข้ามแดนอัตโนมัติต้องเป็นความยินยอมของผู้บริโภค และต้องเปิดให้ผู้บริโภคเลือกกำหนดเพดานค่าใช้บริการโรมมิ่งไม่เกินเดือนละ 100 เหรียญได้ รวมถึงต้องมีบริการที่สะดวกและฟรีในการเปิดปิดบริการข้ามแดนอัตโนมัติด้วยตัวเองได้
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังมีการประชุม ITU Telecom World 2013 ที่เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในภาคอุตสาหกรรมไอซีทีของทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลก ซึ่งจัดขึ้นที่ อิมแพ็ค เมือง ทองธานี ถ้าเราศึกษาแบบแผนของต่างประเทศ เขาเผชิญปัญหาต่างๆ มาก่อนเรา จนวางหลักได้แล้วว่าต้องทำอย่างไรในการ แก้ไขปัญหา และที่สำคัญคือการป้องกันปัญหา ผมจะผลักดันต่อไป โดยหวังว่ากสทช. ทั้งหมดจะร่วมมือด้วย เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคต้องเดือดร้อนกันเช่นที่เกิดขึ้นนี้


บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ