ถึงเวลาฉีดวัคซีนเศรษฐกิจ – วัคซีนโนมิกส์

วันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ถึงเวลาฉีดวัคซีนเศรษฐกิจ – วัคซีนโนมิกส์


โดย... ดร.อมรเทพ จาวะลา

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่  สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

โคโรนาโนมิกส์พ่นพิษ

เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะการถดถอยทางเทคนิค คือการที่ GDP หดตัวเทียบไตรมาสต่อไตรมาสหลังปรับฤดูกาล (quarter on quarter after seasonal adjustment) สองไตรมาสติดต่อกันขึ้นไป จากปัญหาไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 ที่กระทบภาคการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง จำนวนนักท่องเที่ยวอาจหดตัวมากกว่า 50% ในช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่ภาคการส่งออกมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและจากการที่ผู้ผลิตไม่สามารถนำเข้าสินค้าขั้นกลางและวัตถุดิบจากจีนได้เนื่องจากภาคธุรกิจในจีนยังไม่เปิดทำการเต็มที่และทำให้ผู้ประกอบการไทยจำต้องลดกำลังการผลิตหรืออาจถึงขั้นปิดกิจการชั่วคราว

เมื่อภาคการผลิต การส่งออกและการท่องเที่ยวไทยเสี่ยงหดตัว การจ้างงานในกลุ่มนี้และรายได้นอกภาคเกษตรมีโอกาสหดหาย ซ้ำเติมปัญหาภัยแล้งที่มีผลเสียต่อรายได้ภาคเกษตร กำลังซื้อครัวเรือนกำลังอ่อนแอและจะกระทบภาคการบริโภคอีกทอดหนึ่ง อย่าลืมว่าการบริโภคภาคเอกชนที่เติบโตได้ดีในช่วงไตรมาส 4 มาจากกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเป็นหลัก เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และขนส่ง แต่กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับคนไทยทั่วไปกลับโตช้าหรือหดตัว เช่น อาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า และรถยนต์

ขณะที่ภาคเอกชนกำลังมีปัญหา ภาครัฐก็เผชิญความท้าทายจากงบประมาณที่ล่าช้า และอาจไม่สามารถนำเงินมากระตุ้นการลงทุนและบรรเทาปัญหาการตกต่ำของกำลังซื้อในช่วงนี้ได้ การบริโภคภาครัฐและการลงทุนภาครัฐเสี่ยงหดตัวต่อเนื่องอย่างน้อยก็ช่วงไตรมาสแรกนี้ 

ในภาวะเช่นนี้คงเหลือเพียงมาตรการทางการเงินในการพยุงเศรษฐกิจ โดยทางคณะกรรมการทางการเงิน (กนง.) ได้เห็นแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยและได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.00% ต่อปีในเดือนก.พ.63 สำนักวิจัยฯคาดว่า กนง. มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้งสู่ระดับ0.75% ต่อปี ภายใน 3 เดือนข้างหน้า เร็วที่สุดอาจเป็นการประชุมรอบหน้าวันที่ 25 มี.ค. 63 เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ตลาดการเงิน และลดต้นทุนผู้ประกอบการ อีกทั้งคงพยายามให้เงินบาทอ่อนค่าเทียบสกุลอื่นเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก เราเชื่อว่าการลดดอกเบี้ยช่วยประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัวแรง แต่ยากที่จะเปลี่ยนทิศเศรษฐกิจขาลงในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จึงมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะการถดถอยทางเทคนิคในช่วงครึ่งปีแรกนี้ แต่ภาวะนี้ไม่ใช่วิกฤติเศรษฐกิจที่ GDP หดตัวแรงจนเกิดปัญหาต่อสถาบันการเงินหรือภาคธุรกิจจริง เพราะยังเชื่อว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีจากงบประมาณที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและจากการคลี่คลายของปัญหาไวรัสโควิด-19 ที่นักท่องเที่ยวและการส่งออกจะกลับมาเติบโตได้ดีในช่วงครึ่งปีหลัง 

ฟื้นเป็นรูปตัว V

ในภาวะความไม่แน่นอนเช่นนี้ประกอบกับยังไม่มีตัวเลขเศรษฐกิจที่ชี้ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากไวรัสโควิด-19 ได้ชัดเจน ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ต้องอาศัยสมมติฐาน การสัมภาษณ์และการสังเกตภาวะตลาดโดยรวมในการประเมินทิศทางเศรษฐกิจ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการคาดการณ์ตัวเลข GDP ปีนี้ได้บ่อยครั้ง

สำนักวิจัยฯปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ลงอีกครั้งจาก 2.3% เหลือ 1.7% จากปัจจัยกดดันเพิ่มเติมคือผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่กระทบการท่องเที่ยวและจะลามมาสู่ภาคการผลิตที่จะหดตัวจากการขาดวัตถุดิบจากจีนอีกทอด

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะการถดถอยทางเทคนิคช่วงครึ่งปีแรก แต่จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเป็นรูปตัว V ในช่วงครึ่งปีหลัง การฟื้นตัวในมุมที่เรามองนี้ ไม่สามารถรอฟ้าฝนให้เป็นใจ จีนหายป่วย การส่งออกและท่องเที่ยวขยายตัวแล้วจะฟื้นได้ แต่ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องสามัคคีกันหาหนทางกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบที่แตกต่างจากเดิม หาไม่แล้ว เศรษฐกิจไทยอาจฟื้นตัวในรูปตัว U หรือเติบโตทั้งปีนี้ได้เพียง 0.7%

ถึงเวลาฉีดวัคซีนเศรษฐกิจ – วัคซีนโนมิกส์

เมื่อเศรษฐกิจชะลอจากปัจจัยรุมเร้า ในมุมของนักเศรษฐศาสตร์จะช่วยหาทางปรุงวัคซีนเพื่อมาฟื้นฟูและช่วยให้เศรษฐกิจสามารถเลี่ยงภาวะวิกฤติที่อาจจะเกิดได้อย่างไรบ้าง เราขอเสนอวัคซีนวินส์ (WINS)

1. งานแลกเงิน (Workfare) - ภาครัฐอาจเพิ่มเงินโอนด้านสวัสดิการแห่งรัฐหรือการแจกเงินผู้มีรายได้น้อยชั่วคราว ซึ่งจำเป็นในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มภาคเกษตรโดนผลกระทบจากภัยแล้ง คนมีรายได้น้อยกำลังซื้อต่ำ แต่เงินดังกล่าวอาจได้รับการส่งเสริมให้คนเหล่านี้มีความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว เช่น การจ้างงานคนในพื้นที่เพื่อสร้างสาธารณูปโภคเพื่อพัฒนาท้องถิ่น โดยให้ค่าจ้างรายวันแลกกับการทำงานเพื่อจะเป็นประโยชน์กับพื้นที่ในระยะยาว เช่น การขุดบ่อในหมู่บ้านเพื่อรับมือภัยแล้งและน้ำท่วม การสร้างถนนเข้าหมู่บ้านเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง หรือ การร่วมกันของคนในหมู่บ้านในการผลิตสินค้าชุมชนเพื่อรัฐจะได้ส่งเสริมช่องทางในการจำหน่าย หรือการต่อยอดสินค้าโอทอป

2. ประคองให้ผ่านวิกฤติ (Inject liquidity) – ในช่วงที่นักท่องเที่ยวหาย ยอดขายตก ผู้ประกอบการมีปัญหาสภาพคล่อง ลูกจ้างถูกลดชั่วโมงทำงานหรือให้พักงานชั่วคราวโดยไม่จ่ายค่าจ้าง ทางภาครัฐอาจจะหามาตรการช่วยบรรเทาผลกระทบ ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำไปบ้างแล้ว เช่น การให้สินเชื่อพิเศษในลักษณะเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้และมีเงินจ่ายค่าจ้างพนักงาน และอาจครอบคลุมถึงการเสริมสินเชื่อพิเศษให้แก่พนักงานหรือธุรกิจค้าขายอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ นอกจากสินเชื่อ รัฐอาจเพิ่มมาตรการช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนนอกกลุ่มบัตรคนจนด้วย

3. ท่องเที่ยวพลิกโฉม (New Tourism) - ไทยยังพึ่งการท่องเที่ยวได้อยู่ แต่ต้องปรับตัว ที่ผ่านมาประเทศไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวเพียงไม่กี่จังหวัด และเน้นนักท่องเที่ยวจีนมากราว 30% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ส่วนชาติยุโรปก็มาเป็นฤดูกาลซึ่งทำให้ธุรกิจเงียบเหงาในช่วงอื่น เราน่าจะใช้โอกาสนี้ปรับตัวสร้างแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ ในแต่ละภูมิภาค สร้างตลาดคนไทยให้ท่องเที่ยวในประเทศ ทุกพื้นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ใช้จุดแข็งดึงดูดการท่องเที่ยวเป็นตัวเสริมเพิ่มรายได้ชุมชนนอกจากภาคเกษตร แต่อุปสรรคสำคัญคือความลำบากในการเดินทาง ซึ่งหากพื้นที่แต่ละแห่งสามารถอำนวยความสะดวกในการเดินทาง จัดรูปแบบการท่องเที่ยวแบบกลุ่มให้สะดวก ผมเชื่อว่าจะช่วยฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวและช่วยกระจายรายได้ลงพื้นที่ต่างๆ ได้

4. หวังพึ่งมนุษย์เงินเดือน (Salaryman) - เวลานี้เหลือกำลังซื้อระดับกลาง-กลางบน โดยเฉพาะกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ยิ่งดูดีๆ อาจมีเพียง 3-4 ล้านคนที่มีกำลังซื้อมากพอจะหวังพึ่งเขาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กลุ่มนี้คือผู้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมร่วม 15 ล้านคน (คนที่เหลือในระบบมีรายได้พึงประเมินไม่มากพอจะต้องเสียภาษี) น่าใช้โอกาสนี้ดึงเขามาใช้เงินด้วยการลดอัตราภาษี ไม่ใช่เพียงเพิ่มค่าลดหย่อนในการซื้อสินค้าหรือท่องเที่ยว และอาจทำชั่วคราวในปีนี้

นอกจากตัวยาทั้ง 4 เพื่อผลิตวัคซีนต้านไวรัสแล้ว เราต้องปฏิรูปตัวเอง ผู้ประกอบการหรือผู้ลงทุนควรเตรียมทำอะไรใหม่ๆ ใช้จังหวะนี้มองหาโอกาสในการเพิ่มมูลค่าสินค้า และถึงเวลาเพิ่มประสิทธิภาพตัวเอง เมื่อรายได้หดหาย ก็ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ถึงเวลาที่คนไทยต้องเรียนรู้วินัยทางการเงิน นอกจากนี้ เราน่าจะหาโอกาสเรียนรู้ใช้เครื่องจักร หรือเทคโนโลยีในการทำงาน เพราะนี่คือแนวโน้มการปรับตัวของโลกในระยะยาวอยู่ดี คิดเสียว่าไวรัสทำให้เราต้องปรับตัวเร็วขึ้น อีกทั้งภาวะการชะลอตัวหรือการถดถอยทางเทคนิคก็เป็นสภาวะชั่วคราว ไม่ใช่วิกฤติเศรษฐกิจ อีกสักพักก็จะผ่านพ้นไปได้ ขอเพียงเราใช้เวลานี้รับมือให้ดีแล้วเราจะวิ่งทะยานไปข้างหน้าพร้อมกันในวันที่เศรษฐกิจฟื้นตัว 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ