บลจ.เปิดแผนธุรกิจรับปี2563ชู3กลยุทธ์หลักดันAUMโต12%เล็งรุกกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ

วันจันทร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2563

บลจ.เปิดแผนธุรกิจรับปี2563ชู3กลยุทธ์หลักดันAUMโต12%เล็งรุกกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ


บลจ.กรุงไทย กางแผนธุรกิจรับปีหนู เล็งรุกกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ  หลังเติบโตสองหลักเกือบทุกกองทุนในปี 62 ตั้งเป้าหมาย AUM เพิ่มขึ้น 100,000 ล้านบาท โต 12% จากปี 62 ที่อยู่ที่ 827,313 ล้านบาท วาง 3 กลยุทธ์หลักสร้างความเติบโต

นางชวินดา หาญรัตนกูล  กรรมการผู้จัดการ  บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงการบริหารงานในปี 2562 ที่ผ่านมาว่า KTAM มีจุดแข็งหลายด้านและสามารถคงผลการดำเนินงานที่ดีในระดับแนวหน้าของประเทศ โดยมี Market Share เป็นลำดับที่ 4 ของตลาดการลงทุน มีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) รวมสุทธิ ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2562 อยู่ที่ 827,313 ล้านบาท เป็นอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับปี 2561

นางชวินดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2563 นี้ บริษัทตั้งเป้าหมายมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้นประมาณ 1  แสนล้านบาท หรือประมาณ 12% โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ บริษัทมีแผนที่จะเปิดจำหน่ายกองทุนควบประกันสุขภาพ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการยื่นขออนุมัติจัดตั้งกองทุนกับก.ล.ต. และยังมีแผนที่จะเปิดจำหน่ายกองทุนอื่นๆอีกมากมาย  โดยบริษัทกำลังดูความเหมาะสมและจังหวะในการเปิดจำหน่าย ซึ่งบริษัทจะคำนึงถึงโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ลงทุน นอกจากนี้ บริษัทยังเน้นหลักกลยุทธ์เป็น 3 ส่วน อันได้แก่

1) ให้ความสำคัญในการกระจายพอร์ตการลงทุนและการบริหารจัดการกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ ที่ KTAM มองว่ายังเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจ มองเห็นโอกาสในการเติบโตไปในเชิงบวก ซึ่งในปี 2562 ที่ผ่านมาพบว่า กว่าร้อยละ 97 ของกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศของ KTAM มีการเติบโตเกือบทั้งหมด และส่วนใหญ่เติบโตระดับ 2 หลัก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และสถานการณ์เงินบาทแข็งค่า ในช่วงที่ผ่านมา KTAM ก็ยังคงสามารถบริหารจัดการกองทุน บริหารอัตราแลกเปลี่ยนของกองทุนได้อย่างมีศักยภาพสามารถสร้างผลตอบแทนแก่นักลงทุนเป็นอย่างดี ดังนั้น ในปีนี้ KTAM จะยังคงเดินหน้ารุกผลิตภัณฑ์กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ ซึ่ง KTAM ได้มีการคัดเลือกมาอย่างดีและกระจายไปหลาย Asset Class เพื่อรองรับการกระจายการลงทุนให้แก่ลูกค้า ด้วยความเชื่อที่ว่า ตลาดการลงทุนในปัจจุบันสามารถจะเชื่อมต่อกันโดยไร้ขอบเขต เพราะฉะนั้นเงินลงทุนก็สามารถไหลเวียนกันได้อย่างคล่องตัวเช่นกัน 

2) การผสานความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยเฉพาะในด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อให้บริการและนำเสนอผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งกลุ่มลูกค้ารายใหญ่และรายย่อย และรวมถึงความร่วมมือกับพันธมิตรตัวแทนสนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนด้วย ซึ่งในปี 2562 ที่ผ่านมาธุรกรรมกองทุนของ KTAM ที่เกิดขึ้นผ่านแอพพลิเคชั่น Next ของธนาคารกรุงไทย มียอดซื้อกว่า 14,000 ล้านบาท และธุรกรรมกองทุนของ KTAM ที่เกิดขึ้นผ่านแอพพลิเคชั่น KTAM Smart Trade มียอดซื้อกว่า 8,000 ล้านบาท และ KTAM จะยังคงเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีในการทำธุรกรรมให้ดียิ่งขึ้นตอบโจทย์ในความรวดเร็ว ง่าย และสะดวกสบายแก่ผู้ลงทุนทุกกลุ่มเป้าหมาย

3) การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อต่อยอดการให้บริการให้เป็น Best Investment Solutions เพื่อตอบโจทย์นักลงทุนในยุคดิจิตอลที่ต้องการความง่าย และสะดวกสบาย เพิ่มความสะดวกแก่นักลงทุนผ่านดิจิทัลแพลทฟอร์มที่มีให้ดีมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเข้าถึงอินเตอร์เน็ทของลูกค้า และเทรนด์ของนักลงทุนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ซึ่งในปี 2562 ที่ผ่านมา KTAM ได้เปิดตัว LINE@ เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการหาความรู้ บทความและเนื้อหาที่น่าสนใจเกี่ยวกับการลงทุน ตอบสนองในการเป็นเพื่อนคู่คิด ที่ปรึกษา และมีนักลงทุนที่สนใจเป็นผู้ติดตามมากถึง 235,625 ราย รวมถึง Facebook ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 180,000 ราย และสำหรับในปี 2563 นี้ KTAM จะมุ่งเน้นการนำเสนอคอนเทนท์ที่ง่ายและเข้าถึงผู้ลงทุนทั่วไปมากยิ่งขึ้น เพื่อให้คนเห็นความสำคัญของการออมผ่านกองทุนต่างๆ

ทั้งนี้ KTAM มีแผนเปิดจำหน่ายกองทุนควบประกันสุขภาพในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการยื่นขออนุมัติจัดตั้งกองทุนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และยังมีแผนที่จะเปิดจำหน่ายกองทุนอื่น ๆ  อีกหลายกอง โดยดูความเหมาะสมและจังหวะในการเปิดจำหน่าย และคำนึงถึงโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ลงทุนด้วย

ขณะเดียวกัน บริษัทมีความพยายามออกกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ให้ได้ในช่วงกลางปีนี้ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบ แต่การนำเสนอจะต้องมีความระมัดระวังอย่างมาก ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบ RMF2 และต้องมีกองทุนหลายกองทุนให้นักลงทุนได้เลือก อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกอาจจะเห็น 1-2 กองทุนก่อน

ด้านการลงทุนโดยรวมในปีนี้มองว่าตราสารหนี้ยังเติบโตได้ เพราะถือว่าเป็นทางเลือกอีกอันหนึ่ง ขณะที่ ตราสารทุนก็น่าจะเติบโตได้เช่นเดียวกัน จากสถานการณ์สำคัญ ๆ เริ่มคลี่คลายไปบ้างแล้ว ซึ่งทำให้เชื่อว่าตราสารทุนในตลาดต่างประเทศยังมีการเติบโตอยู่ ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นไทย ก็น่าจะมีการเติบโต จากกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ของบริษัทเติบโตดีขึ้นด้วย

                                                                ชวินดา หาญรัตนกูล

“ในปีที่ผ่านมา KTAM ถือว่าประสบความสำเร็จได้เป็นที่น่าพอใจ และ KTAM จะยังคงยึดมั่นในหลักการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและจะต่อยอดจากเดิมให้มีสีสันมากยิ่งขึ้น KTAM ต้องปรับตัวไปตามความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว พร้อมกับสร้างความโดดเด่นทั้งผลิตภัณฑ์และการให้บริการควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มและประโยชน์สูงสุดต่อผู้ลงทุน เพราะ KTAM เชื่อว่า การลงทุน คือ อนาคตของทุกคนในยามที่เติบโตขึ้น และในยามแก่ ดังนั้นการสร้างกองทุนที่มีความง่าย ให้นักลงทุนสามารถออมไปพร้อมกับการลงทุนได้ด้วยยิ่งดี และการส่งเสริมให้ผู้ลงทุนมีวินัยการออมที่ดี จะสามารถสร้างอนาคตที่มั่นคงอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง”นางชวินดา กล่าว

ขณะที่ นายวีระ วุฒิคงศิริกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การลงทุน กล่าวว่า ในส่วนของการจัดพอร์ตการลงทุน KTAM ยังคงแนะนำให้ผู้ลงทุนกระจายความเสี่ยง (Diversification) ไปในหลายสินทรัพย์และหลายภูมิภาค เนื่องจากตลาดการเงินมีความผันผวนมากขึ้นในระยะหลัง การจัดพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยในช่วงต้นปีเรายังคงมองว่าสินทรัพย์เสี่ยงน่าจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังนักลงทุนคลายความกังวลการเกิดภาวะถดถอย จึงเน้นให้ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยอาจเน้นการลงทุนมาในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (EM) ที่น่าจะเห็นการฟื้นตัวที่ชัดกว่า และ Valuation ไม่ได้ “แพง” มาก รวมถึงตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ยังมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ในระยะถัดไป นักลงทุนอาจต้องระวังแรงขายทำกำไร และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจพัฒนากลายเป็นปัจจัยกดดันการลงทุนในอนาคต

ด้าน นายสมชัย อมรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์   มองว่า ในปีที่ผ่านมา ตลาดการเงินเผชิญกับความท้าทายในหลายๆ ด้าน “สงครามการค้า” ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนถือเป็นปัจจัยกดดันที่สำคัญ นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการที่สหราชอาณาจักรจะถอนตัวจากสหภาพยุโรป, ความไม่สงบทางการเมืองในฮ่องกงและอีกหลายๆ ประเทศ รวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในหลายแห่ง แต่ตลาดการเงินได้รับแรงกระตุ้นที่สำคัญจากธนาคารกลางหลายแห่งที่หันมาดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น โดยเฉพาะเฟดที่ยุติการขึ้นดอกเบี้ยและกลับมาลดดอกเบี้ยลง รวมถึงมีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดอีกครั้ง ทำให้สินทรัพย์เสี่ยงให้ผลตอบแทนค่อนข้างดี โดยเฉพาะในฝั่งกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (DM) ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา (EM) ถูกกดดันจาก “สงครามการค้า” เป็นหลัก ในส่วนของตลาดหุ้นไทยในปีก่อนถือว่าให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีนัก แต่ยังคงเพิ่มขึ้น 1.02%YoY เป็นไปตามทิศทางตลาดในภูมิภาค, ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายและมาตรฐานทางบัญชีต่างๆ ที่เกิดขึ้น

สำหรับในปี 2563 บริษัทฯ ประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยอยู่ที่ระดับ 2.8 % ต่อปีดีขึ้นกว่าในปีก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.4% โดยแรงขับเคลื่อนหลักๆ มาจากงบประมาณปี 2563 ที่ผ่านสภาฯ นโยบายการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและโครงการ EEC รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่ภาวะดอกเบี้ยต่ำยังถือเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญอีกประการ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญความท้าทายในหลายๆ ด้าน ทั้งปัจจัยระยะยาวอย่างปัญหาประชากรสูงวัย และการเข้ามามีบทบาทสำคัญของเทคโนโลยี (Technology Disruption) และปัจจัยระยะสั้น อย่าง ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ความเสี่ยงของการขยายตัวเศรษฐกิจโลก และปัญหาปริมาณน้ำในเขื่อนต่ำ ทำให้เราคาดว่า กนง. อาจมีลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง ดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีน่าจะอยู่ที่ 1.00%

ส่วนแนวโน้มดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยในปีนี้ บริษัทประเมินกรอบดัชนีฯ ไว้ที่ 1,700 จุด โดยคาดว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนจะขยายตัวราว 6% และมีสัดส่วน P/E อยู่ที่ประมาณ 18 เท่าใกล้เคียงกับปีก่อน ซึ่งแม้ว่าจะสูงกว่าในอดีตแต่ก็เป็นตามภาวะดอกเบี้ยที่ต่ำ โดยภาวะการลงทุนยังคงเผชิญกับความผันผวนต่อเนื่อง โดยตลาดฯ ได้รับปัจจัยบวกจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มมีการฟื้นตัว การลงทุนภาครัฐและการเบิกจ่ายงบประมาณใหม่ ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนที่น่าจะดีขึ้น และสภาพคล่องที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยปัจจัยที่ต้องติดตามได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่อาจปะทุขึ้นใหม่ การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ พัฒนาการของ Brexit ท่าทีของธนาคารกลางต่างๆ ความอ่อนแอของเศรษฐกิจในประเทศ แรงกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ความไม่แน่นอนจากการเปลี่ยนแปลงกฏระเบียบต่างๆ ของภาครัฐ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการบัญชี เป็นต้น  สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในตราสารทุนในประเทศสำหรับปี 2563 เราเน้นลงทุนในหุ้นที่ได้รับผลดีจากแนวโน้มดอกเบี้ยต่ำ, หุ้นที่ได้รับผลดี การคลายความวิตกต่อ “สงครามการค้า”, หุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานและปรับตัวลงมาแรง, หุ้นที่ได้รับผลดีจากการย้ายฐานการผลิต เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน หรือหุ้นที่คาดผลประกอบการดีขึ้นในปีนี้



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ