คมนาคม อัพเกรดสนามบินภูธร ปั้นเป็น SMART AIRPORT เชื่อมไทย-โลก

วันศุกร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2563

คมนาคม อัพเกรดสนามบินภูธร ปั้นเป็น SMART AIRPORT เชื่อมไทย-โลก


คมนาคมเดินหน้าอัพเกรดสนามบินภูมิภาค ยกระดับท่าอากาศยานให้เป็น SMART AIRPORT เชื่อมไทย เชื่อมโลก ลุยบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้เกิดผลกำไร ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายในการดำเนินงานให้แก่ผู้บริหารกรมท่าอากาศยาน โดยได้มอบนโยบายการดำเนินงานของกรมท่าอากาศยาน ภายใต้นโยบายหลักคือ เชื่อมไทย เชื่อมโลก มุ่งเน้นให้กรมท่าอากาศยานดำเนินงานและให้บริการผู้โดยสารให้ดีที่สุด และเน้นให้ท่าอากาศยานในสังกัดเป็นศูนย์กลางการเดินทางท่องเที่ยวสู่ภูมิภาค เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนในท้องถิ่นต่อไป ตามนโยบาย 6 ข้อ ประกอบด้วย 1.ยกระดับท่าอากาศยานให้เป็น SMART AIRPORT ด้วยระบบเช็คอินด้วยตนเองโดยอัตโนมัติ ระบบออกบัตรโดยสารด้วยตนเอง จุดวางกระเป๋าสัมภาระแบบบริการตัวเอง ระบบตรวจสอบScan ความปลอดภัยแบบ Laser Molecular Body Scanner การตรวจหนังสือเดินทางด้วยช่องทางอัตโนมัติการให้บริการ Mobile Application ที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร และสามารถเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ การบริหารการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การบริหารตัวชี้วัดความรวดเร็วในการเดินทางของผู้โดยสารจากจุดเช็คอินจนถึงจุดขึ้นเครื่องให้รวดเร็วกว่าเดิม ต้องไม่ช้า คิวไม่ยาว โดยใช้ระบบ IT (Information Technology) เข้ามาบริหารจัดการเพื่อความแม่นยำ รวดเร็ว ลดค่าใช้จ่าย และให้ได้ประโยชน์สูงสุด พร้อมยกระดับท่าอากาศยานกระบี่ให้เป็นท่าอากาศยานต้นแบบ Smart Airport

2.ยกระดับท่าอากาศยานให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจการบินและเป็นมาตรฐานสากล ด้านการบริการ มุ่งเน้นการให้บริการ เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องมีความพร้อมและมีการต้อนรับที่ดี การจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และคนตาบอด ด้านความปลอดภัย ท่าอากาศยานทุกแห่งต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐาน ICAO/IATA รวมถึงระบบติดตามโรคระบาดจากคน พืช สัตว์ ประมง และจัดตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง การจัดระบบเพื่อเชื่อมโครงข่ายกับสนามบินอื่น ๆ ให้เป็นศูนย์กลางการให้บริการในภูมิภาค ส่งเสริมและเพิ่มโอกาสให้แก่ท่าอากาศยาน การจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้ได้มาตรฐาน

3.การกำหนดแผนการดำเนินงานของทุกท่าอากาศยาน โดยต้องมีประสิทธิภาพ และเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน เช่น แผนอำนวยความสะดวกผู้โดยสารในช่วงเทศกาล ทั้งในด้านการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย โดยให้มีการบริการที่ดีและมีความปลอดภัยอย่างสูงสุด และต้องมีการเตรียมพร้อมและฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ ในด้านการบริหารจัดการกองทุนหมุนเวียน ต้องสอดคล้องกับประสิทธิภาพการให้บริการผู้โดยสาร การพัฒนาบริหารสินทรัพย์และจัดการที่ดินว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงคัดเลือกท่าอากาศยานที่เหมาะสมให้เป็นศูนย์กระจายสินค้า

4.การบริหารจัดการงบประมาณให้หน่วยงานจัดทำแผนปฏิบัติงาน (Action Plan) การใช้จ่ายงบประมาณปี 2563 ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด พร้อมทั้งสรุปแผนการของบประมาณปี 2564 ให้สนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายรัฐบาล กระทรวงคมนาคม ในด้านของการจัดซื้อจัดจ้างต้องมีประสิทธิภาพและดำเนินการถูกต้องตามสัญญา 5.การบริหารจัดการและการพัฒนาท่าอากาศยานติดตามการดำเนินงานเพื่อเตรียมการเปิดใช้ท่าอากาศยานเบตง จังหวัดยะลา ภายในเดือนมิถุนายน 2563 การจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำ เช่น แผนป้องกันน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก, แผนแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง พัฒนาท่าอากาศยานให้เป็น Green Airport เน้นการดำเนินงานท่าอากาศยานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์พลังงานอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเร่งหาข้อสรุปเรื่องท่าอากาศยานนครปฐม และท่าอากาศยานพัทลุง ด้านการบริหารจัดการบุคลากร ต้องเตรียมบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ มีใบรับรองผู้จัดการสนามบินสาธารณะ เพื่อเข้าสู่การสรรหาผู้อำนวยการท่าอากาศยาน รวมถึงการวางแผนเพื่อรองรับในอนาคตที่จะมีผู้เกษียณอายุ

และ6.การบริหารจัดการท่าอากาศยานที่มีผลประกอบการไม่เป็นกำไร ให้หน่วยงานทำการศึกษาถึงโอกาสในการเพิ่มรายได้ให้ท่าอากาศยานแต่ละพื้นที่ โดยมุ่งเน้นการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น จัดการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการที่ดินที่ว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์ ประสานกับหน่วยงานการท่องเที่ยว หน่วยงานท้องถิ่น สายการบิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีผู้โดยสารมาใช้บริการสนามบินมากขึ้น

               

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ