“ศักดิ์สยาม” ดันมอเตอร์เวย์ 5 สาย เร่งออกกฎขับช้าแช่ขวา โดนจับ ปรับ ตัดคะแนน

วันศุกร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2563

“ศักดิ์สยาม” ดันมอเตอร์เวย์ 5 สาย เร่งออกกฎขับช้าแช่ขวา โดนจับ ปรับ ตัดคะแนน


“ศักดิ์สยาม” บุกตรวจงานกรมทางหลวง สั่งเตรียมพร้อมโปรเจ็กต์งบปี 63 ตามกรอบ ก.ย.นี้ พร้อมเสนอ ครม. ดันมอเตอร์เวย์ 5 เส้นทาง 2.66 แสนล้าน สแกนเข้มสร้างจุดจอดพักรถต้องห่างจากถนนไม่ต่ำกว่า 1 กม. หวังแก้รถติด เล็งสร้างจุดจอดพักรถบรรทุกรอบกรุงฯ 4 ทิศ รับรถบรรทุกจอด 50,000 คัน สอดรับนโยบายจำกัดเวลารถบรรทุกวิ่ง จ่อ! ประกาศห้ามขับรถช้าต่ำกว่า 90 กม./ชม.วิ่งเลนขวาสุด ลุ้นไฟเขียว ก.พ.นี้ ฟากนโยบายความเร็ว 120 กม./ชม. เตรียมคลอดกฎกระทรวง ตาม พ.ร.บ.ทางหลวง มี.ค.63 นำร่อง 252 กม.

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายกรมทางหลวง (ทล.) โดยมอบหมายให้ ทล.เตรียมความพร้อมแปรแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 มาสู่การปฎิบัติที่เหลือเวลาอีกเพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น ซึ่งจะต้องเร่งการดำเนินการให้สำเร็จหรือแล้วเสร็จให้ได้ภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ โดย ทาง ทล.ได้มีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว หากมีการโปรดเกล้าฯ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ก็จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ทันที

นอกจากนี้ ได้กำชับ ทล.ให้ในปีงบประมาณ 2563 จะเร่งรัดให้แผนการดำเนินงานทุกอย่างเป็นไปตามแผน หรือเร็วกว่าแผนที่กำหนด เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในเรื่องของการดำเนินงานทั้งหมด เนื่องจากปีงบประมาณที่ผ่านมา ทล.มีปัญหาในเรื่องของประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่ขณะนี้ได้มีการแก้ไขทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2562 ทาง ทล.ได้รับจัดสรรงบประมาณฯ 115,888 ล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้ดำเนินแผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ จำนวน 67,287 ล้านบาท หรือ 58%ในส่วนของปีงบประมาณ 2564 นั้น มีกรอบเวลาที่จะต้องเสนอแผนการดำเนินงานให้ได้ภายในเร็วๆ นี้ โดยโครงการขนาดใหญ่ต้องวางแผนให้ชัดเจน หากยังไม่พร้อมดำเนินการไม่ควรขออนุมัติโครงการ และต้องวางแผนบริหารโครงการ 6 มิติ ตามรูปแบบของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในอนาคตต้องคำนวณค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินให้เป็นปัจจุบันก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ดันมอเตอร์เวย์ 5 สาย

ขณะที่โครงการที่มีความพร้อมที่จะนำเสนอ ครม.เพื่อขออนุมัตินั้น ได้แก่ 1.มอเตอร์เวย์สายนครปฐม - ชะอำ (M8) วงเงินลงทุน 79,006 ล้านบาท 2.มอเตอร์เวย์สายหาดใหญ่ - ชายแดนไทย/มาเลเซีย (M84) วงเงินลงทุน 42,620 ล้านบาท 3.ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต - บางปะอิน (M5) วงเงินลงทุน 29,400 ล้านบาท 4.สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก(M9) วงเงินลงทุน 78,000 ล้านบาท และ 5.สายศรีนครินทร์ - สุวรรณภูมิ (M7) วงเงินลงทุน 37,500 ล้านบาท

นอกจากนี้ ทล. มีแผนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงฯ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) จำนวน 21 สายทาง ระยะทางรวม 6,612 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างภูมิภาค ระหว่างเมืองหัวเมืองหลักและพื้นที่สำคัญตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ขณะนี้มีเส้นทางเปิดให้บริการแล้ว 4 เส้นทาง ได้แก่ ดอนเมืองโทลล์เวย์ มอเตอร์เวย์ สายกาญจนาภิเษก ช่วงบางขุนเทียน - พระประแดง ช่วงบางปะอิน - บางพลี และสายกรุงเทพฯ - ชลบุรี - พัทยา อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 4 เส้นทาง ได้แก่ มอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่ - กาญจนบุรี สายบางขุนเทียน - บ้านแพ้ว สายบางปะอิน - นครราชสีมา และสายพัทยา มาบตาพุด

จุดจอดรถต้องห่างจากถนน 1 กม.

สำหรับการสร้างจุดพักรถตามเส้นทางสำคัญต่างๆ นั้น ปัจจุบันจุดสถานีบริการต่างๆ อยู่ในจุดใกล้ถนนเกินไป ทำให้บางครั้งเมื่อมีรถเข้าไปใช้บริการจำนวนมากเกิดปัญหานำรถมาจอดริมถนน ส่งผลให้เกิดจราจรติดขัด ดังนั้นหากมีการสร้างจุดจอดพักรถต้องพิจารณาให้สร้างห่างจากถนนไม่ต่ำกว่า 1 กม. โดยใช้แนวทางดำเนินการเหมือนกับต่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนผู้ใช้ทางและไม่เกิดปัญหาด้านการจราจร

นอกจากนี้จะมีการสร้างจุดพักรถต้องอยู่รอบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สาย 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายจำกัดเวลาวิ่งของรถบรรทุก และรองรับรถบรรทุกมาใช้บริการ เบื้องต้นจะสร้างจุดจอดพักรถใน 4 ทิศทาง ได้แก่ ทิศเหนือ ตะวันออก ใต้ และตะวันตก หรืออาจมากกว่า 4 จุดได้ตามความเหมาะสม เพื่อรองรับรถบรรทุก 50,000 คันต่อวัน โดยต้องพิจาณาแนวทางดำเนินการอีกครั้ง ทั้งนี้จุดพักรถบรรทุกดังกล่าวต้องมีระยะห่างจากถนนไม่น้อยกว่า 1 กม. เช่นกัน ทั้งนี้อาจมีบริการสถานีน้ำมัน สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ห้องน้ำ และร้านอาหาร เพื่อมาใช้บริการได้ 

“เรื่องดังกล่าว ได้มอบหมายให้นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ทล. และสำนักงานนโยบายและแผนขนส่งและจราจร (สนข.) บูรณาการร่วมกัน ส่วนวิธีการดำเนินการถ้าไม่เป็นภาระงบประมาณ ให้เอกชนมาช่วยสร้างเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องพิจารณารูปแบบที่เอกชนจะดำเนินการด้วยว่ามีต้นทุนอย่างไร ไม่ว่าจะเป็น การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) หรือการดำเนินงาน และบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) รวมทั้งพิจารณามอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี และ สายบางปะอิน-นครราชสีมาด้วย โดยเรื่องนี้ต้องดำเนินการทันที”

อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวอาจจะเป็นการดำเนินการเพิ่มเติมจากแผนที่ ทล. มีแผนสร้างจุดจอดรถอยู่แล้ว แต่เป็นข้อมูลในอดีตก่อนหน้าหน้านี้เมื่อสร้างเสร็จแล้วไม่มีผู้ใช้บริการ เช่น ถนนศรีนครินทร์-ชลบุรี-พัทยา แต่ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก จนส่งผลให้เกิดปัญหารถติด ดังนั้นต้องปรับแผนให้สอดคล้องกับปัจจุบัน หากมีจุดที่เหมาะสมต้องดำเนินการ หากไม่เหมาะสมต้องปรับให้เข้ากับแผนให้ได้

เตรียมคลอดกฎวิ่งเร็ว 120 กม./ชม.

นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวถึงความคืบหน้านโยบายการขยายอัตราความเร็วบนถนน 4 ช่องจราจรขึ้นไป สามารถใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 120 กม./ชม.ว่า ตามที่เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา ได้ให้นโยบาย 120 กม./ชม.ฯ นั้น ล่าสุด เตรียมประชุมคณะทำงาน เพื่อพิจารณานโยบายดังกล่าวภายในเดือนนี้ พร้อมทั้งรอผลการทดสอบแผ่นยางกันชนครอบแบริเออร์คอนกรีต (Rubber Buffer Barrier) เพื่อเป็นหลักประกันด้านความปลอดภัย ก่อนที่จะมีการประกาศใช้ในเส้นทางที่เหมาะสมต่อไป

ขณะเดียวกัน ในการประชุมคณะทำงานดังกล่าว จะมีการพิจารณาบังคับให้ผู้ที่ขับรถในอัตราความเร็วไม่ถึง 90 กม./ชม. ห้ามใช้ช่องจราจรทางด้านขวาสุด ในเส้นทางที่มี 4 ช่องจราจรขึ้นไป ที่กำหนดให้ใช้ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 90 กม./ชม. ทั่วประเทศ โดยจะต้องมาพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ กฎหมายจราจร และกฎหมายทางหลวง ก่อนที่จะเสนอให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาในช่วง ก.พ. 2563 จากนั้นจะออกประกาศกฎกระทรวง ภายใต้ พ.ร.บ.จราจร และมีผลบังคับใช้ต่อไป

ขับช้าแช่ขวาโดนจับ ปรับ ตัดคะแนน

ในส่วนของบทลงโทษ กรณีหากผู้ที่ขับรถในช่องจราจรขวาสุด ด้วยความเร็วต่ำกว่า 90 กม./ชม.นั้น จะใช้บทลงโทษเดียวกันกับผู้ที่ขับรถเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการตัดคะแนนใบขับขี่ด้วย อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการออกประกาศฯ ดังกล่าวนั้น ได้เน้นย้ำรื่องของความปลอดภัยเป็นหลัก และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาจราจร

“การกำหนดความเร็วให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม.นั้น ปัจจุบันจากการสำรวจสามารถดำเนินการได้ ระยะทางรวม 252 กม. ได้แก่ ทางหลวงหมายเลข (ทล.) 32 ดำเนินการระยะแรก 45.9 กม. และดำเนินการในระยะถัดไป 100 กม., ทล.1 ดำเนินการระยะแรก 17.5 กม. และดำเนินการในระยะถัดไป 37 กม., ทล.2 ดำเนินการระยะแรก 6 กม. และดำเนินการในระยะถัดไป 19 กม., ทล.4 ดำเนินการระยะแรก 9.5 กม. และดำเนินการในระยะถัดไป 18 กม. และอยู่ระหว่างการสำรวจเพิ่มเติม”

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ ต้องออกประกาศกฎกระทรวงรองรับการใช้ความเร็วดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ทางหลวง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน มี.ค. 2563 นอกจากนี้ ทล. ต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขสภาพพื้นที่ในภาพรวม เช่น ติดตั้งป้ายจราจร เส้นจราจรเพื่อควบคุมการเดินรถ อุปกรณ์กั้นให้มีความสมบูรณ์และเหมาะสม เป็นต้น รวมถึงให้สำรวจสายทางที่มีความพร้อม โดยต้องมีความปลอดภัย และอธิบายให้ประชาชนเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับการก่อสร้างทางหลวงในอนาคต ให้พิจารณาไม่ใช้เกาะกลางแบบหญ้า ตามความเหมาะสมของพื้นที่ รวมทั้งให้จัดทำแผนการปลูกต้นไม้ริมทางหลวง ตามนโยบาย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ขับช้าเลนขวาอุบัติเหตุอันดับ 2

ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า การใช้ความเร็วรถยนต์ที่ต่ำกว่า 90 กม./ชม. ในช่องทางขวาสุดของถนนทางหลวง 4 ช่องทาง เป็นสาเหตุสำคัญของการอุบัติเหตุอันดับที่ 2 หรือคิดเป็นสัดส่วน 30 % ของการเกิดอุบัติเหตุทั้งหมด รองจากการเสียหลักตกข้างทาง ซึ่งมีสัดส่วนที่ 45% นำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้รถใช้ถนน ดังนั้น ผู้ขับขี่ควรใช้ความเร็วที่เหมาะสมตามแต่ละช่องจราจรกำหนดเพื่อลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว

ทั้งนี้ การกำหนดความเร็วที่เหมาะสมสำหรับในแต่ละช่องจราจร กำหนดให้ช่องขวาสุดเป็นช่องทางที่ให้รถยนต์ใช้ความเร็วได้สูงสุด และจะให้รถยนต์ที่วิ่งด้วยความเร็วต่ำกว่า 90 กม./ชม.อยู่ในช่องทางอื่นๆ ทางด้านซ้ายโดยกำหนดความเร็วลดหลั่นลงมาตามลำดับ การกำหนดในลักษณะนี้จะช่วยให้รถยนต์ที่วิ่งช้าไม่ทำให้ความเร็วเฉลี่ยของการจราจรในภาพรวมของถนนลดลงมากนัก และไม่เกิดการสะสมชะลอตัวนอกจากนั้น วิธีการดังกล่าวจะช่วยลดการเปลี่ยนช่องจราจรที่ไม่จำเป็นลงได้ด้วย ซึ่งจะเป็นการช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุการเฉี่ยวชนและการแซงในระยะกระชั้นชิดได้ เนื่องจากช่องทางขวาสุดมีไว้สำหรับรถยนต์ที่วิ่งมาด้วยความเร็วสูง ดั้งนั้น เมื่อมีการขับขี่ด้วยความเร็วต่ำกว่า 90 กม./ชม. ในช่องทางดังกล่าว จังหวะที่รถยนต์คันที่ตามหลังมามีการเบี่ยงแซงไปช่องทางซ้ายจะเกิดจุดบอดที่คนขับรถยนต์ซึ่งอยู่ในตำแหน่งขวามองไม่เห็น จึงมีโอกาสสูงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุพุ่งชนกับรถยนต์ที่วิ่งมาในช่องทางซ้ายด้านหน้า

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ