“ศักดิ์สยาม” ฉายภาพ “อนาคตคมนาคมไทย กับยุคของการเปลี่ยนแปลง”

วันอังคารที่ 03 ธันวาคม พ.ศ. 2562

“ศักดิ์สยาม” ฉายภาพ “อนาคตคมนาคมไทย กับยุคของการเปลี่ยนแปลง”


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานงาน Executive Talk By Transport Journal หัวข้อ Next Transport … Next Thailand “คมนาคมแห่งอนาคต ... จุดเปลี่ยนประเทศไทย” และปาฐกถาพิเศษเรื่อง “อนาคตคมนาคมไทย กับยุคของการเปลี่ยนแปลง” เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ณ โรงแรม แมริออทกรุงเทพ สุขุมวิท โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และสมาคมผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับด้านคมนาคมขนส่ง เข้าร่วม

การจัดงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้ทราบถึงความเคลื่อนไหวและความสำคัญของการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม และลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)  พร้อมกับระดมความเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อนำมาประยุกต์ในการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีภารกิจในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบบริการด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ตลอดจนการเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทั้งทางบก-น้ำ-ราง-อากาศ ด้วยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศ ควบคู่ไปกับการนำเทคโนโลยีมาใช้และการลดภาระค่าครองชีพประชาชน ภายใต้การดำเนินงานที่โปร่งใสตรวจสอบได้ ทั้งนี้ จากการเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยดังกล่าว จะสามารถสร้างประโยชน์เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต่อภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ภายใต้โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ปั้นไทยเป็นฮับอาเซียน

สำหรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น เป็นสิ่งที่ตนจะขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งของอาเซียน (ASEAN transportation hub) เป็นการขยายโครงสร้างพื้นฐานออกไปทั้ง 4 ภาคเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านการลงทุนมากกว่า 1 ล้านล้านบาท พร้อมกับสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนว่าจะไม่มีการยกเลิกแผนลงทุนขนาดใหญ่แน่นอนทั่วประเทศ เพราะรัฐบาลใช้เครื่องมือแบบร่วมทุนภาครัฐ-เอกชน (PPP) เป็นข้อผูกมัดเสถียรภาพการพัฒนาทุกโครงการให้ก่อสร้างตามกำหนดการ ยืนยันว่าวันนี้ไทยยังมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี ดังนั้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยดึงเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติได้มากขึ้นแบบระยะยาว 30-50 ปี แต่ถ้าหากในวันนี้ประเทศไทยยังไม่เริ่มพัฒนาอาจเสียศักยภาพศูนย์กลางอาเซียนให้กับประเทศเวียดนาม ซึ่งถือว่ามีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่รวดเร็วมาก โดยจะเน้นเพิ่มสัดส่วนขนส่งสินค้าทางรางให้เป็น 30% ของทั้งหมด

หนุนเส้นทางสายไหมใหม่เชื่อมไทย-ลาว-จีน

สำหรับแผนลงทุนในขณะนี้นั้น เริ่มจากเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน (Belt and Road Initiative) ได้เริ่มก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-นครราชสีมา-หนองคาย ลงทุนเฟส 1 และ 2 ไม่ต่ำกว่า 3.75 แสนล้านบาท เพื่อเชื่อมต่อการขนส่ง ไทย-สปป.ลาว-จีน โดยรัฐบาลจะผลักดันการทำวีซ่าอิเล็คทรอนิกส์ (E-Visa) เพื่อให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาได้ง่ายขึ้น ตอนนี้อยู่ระหว่างเตรียมรอประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน (Joint Committee หรือ JC) ครั้งที่ 28 เพื่อกำหนดสกุลเงินในการชำระเงินกู้ของโครงการรถไฟไทย-จีน โดยเบี้องต้นทางจีนต้องการให้ชำระเงินคืนเป็นสกุลดอลล่าร์ เนื่องจากเงินบาทมีค่าเงินที่แกว่งตัวและขณะนี้ค่าเงินบาทแข็งค่า ขณะที่ด้านตะวันออกในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) นั้นมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่จำนวนมากซึ่งจะไม่มีการยกเลิกแน่นอน เริ่มตั้งแต่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท ขณะนี้เริ่มวางแผนก่อสร้างแล้วใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี โครงการที่อยู่ระหว่างรอลงนามสัญญา มีทั้ง เมืองการบินอู่ตะเภาและท่าเรืออู่ตะเภา 2 แสนล้านบาท โครงการท่าเรือแหลมฉบัง วงเงิน 8.4 หมื่นล้านบาท และโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO)

เร่งผลักดันแผนก่อสร้างมอเตอร์เวย์

ขณะที่ฝั่งเขตเศรษฐกิจภาคตะวันตก (WEC) ขณะนี้กระทรวงเร่งผลักดันแผนก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงิน 5.5 หมื่นล้านบาท เป็นเส้นทางเชื่อมเศรษฐกิจไทย-เมียนมา ระหว่างชายแดนไทยและเขตเศรษฐกิจทวาย ซึ่งมีท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่สามารถเชื่อมการขนส่งสินค้ากับมหาสมุทรอินเดียและกลุ่มประเทศ BIMSTEC ส่วนด้านการเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและตะวันตกของภูมิภาค หรือ East – West Economic Corridor (EWEC) สามารถเชื่อมต่อไปยังสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐประชาชนจีน ตอนใต้จึง ขณะนี้ประเทศไทยได้พัฒนาถนน 4 ช่องจราจรเพื่อสนับสนุนการขนส่งเส้นทางดังกล่าวผ่านประเทศไทย ควบคู่ไปกับการพัฒนารถไฟทางคู่ EWEC ระหว่างอ.แม่สอด จ.ตากไปจนถึงชายแดน จ.มุกดาหารเพื่อเชื่อมต่อการค้ากับกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง(GMS)



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ