ผู้เชี่ยวชาญสินทรัพย์ดิจิทัลฟันธง ไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางระดมทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ในอาเซียน

วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ผู้เชี่ยวชาญสินทรัพย์ดิจิทัลฟันธง ไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางระดมทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ในอาเซียน


ผู้ประกอบการและกูรูในแวดวงธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล รวมพลสร้างความเข้าใจด้านการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย นำเสนอทางเลือกใหม่ในการลงทุนที่เปิดกว้าง สร้างโอกาสแก่เอกชนและนักลงทุนในการระดมทุนผ่านการเสนอขายโทเคนดิจิทัล ‘ปริญญ์ พานิชภักดิ์’ ระบุ ภาครัฐนำระบบบล็อกเชนมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล แนะภาคเอกชนร่วมหารือสำนักงาน ก.ล.ต. วางกลไกระดมทุนด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลที่เอื้อต่อภาคธุรกิจ ใช้เป็นช่องทางระดมทุนได้ง่ายขึ้น ชี้ไทยมีความก้าวหน้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน จากการสร้างความชัดเจนต่อการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ภายใต้ พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่วางโครงสร้างระบบนิเวศที่ชัดเจน เชื่อประเทศไทยมีโอกาสเป็นศูนย์กลางการระดมทุนด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียนได้

          นายเจษฎาวัฒน์ เพรียบจริยวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสอี ดิจิทัล จำกัด ในเครือ บริษัทหลักทรัพย์ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลในประเทศไทย เปิดเผยว่า การจัดงานสัมมนาใหญ่ Thailand Digital Assets Forum 2019 ที่อาคารคิวเฮ้าส์ ลุมพินี เพื่อสร้างความเข้าใจในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย ได้รับความสนใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนที่อยู่ในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ตลอดจนผู้ประกอบการและนักลงทุนเข้ามาร่วมฟังสัมมนา แลกเปลี่ยนมุมมองการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคนี้

          นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในงานสัมมนาว่า ภาครัฐให้ความสนใจนำระบบบล็อกเชนมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นอย่างมาก เนื่องจากระบบดังกล่าวมีความปลอดภัยสูง สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ตลอด 24 ชั่วโมง และยากต่อการโจรกรรมข้อมูล ทำให้หน่วยงานราชการมีความเชื่อมั่นในการนำระบบบล็อกเชน มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมต่างๆ โดยต้องรอดูความชัดเจนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ว่าจะอนุญาตให้สินทรัพย์ประเภทใดบ้างที่สามารถนำมาระดมทุนได้

          ทั้งนี้นายปริญญ์มองว่า การระดมทุนผ่านกระบวนการ ICO ผ่านระบบบล็อกเชนช่วยสร้างความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงแหล่งระดมทุนให้แก่ผู้ประกอบการ โดยไม่จำเป็นต้องระดมทุนในตลาดทุนเท่านั้น อีกทั้งยังเปิดกว้างในการนำสินทรัพย์หรือบริการที่สามารถสร้างรายได้ที่ดีและสม่ำเสมอมาใช้ระดมทุน เช่น อสังหาริมทรัพย์แบบปล่อยเช่าที่มีรายได้มั่นคง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การระดมทุนด้วยกระบวนการ ICO ในประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ดังนั้น ภาคเอกชนที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ควรร่วมมือกันและหารือกับองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแนวทางการเข้าระดมทุนและลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างที่ทุกฝ่ายตั้งเป้าหมาย

          นายไรอัน แลคกี้ Chief Security Officer and Board Member, Tezos Foundation กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานทางเทคนิคที่สำคัญในการซื้อขายแลกเปลี่ยนโทเคนดิจิทัล ต้องมี 5 องค์ประกอบ ได้แก่ สินทรัพย์ที่ใช้ในการระดมทุน องค์กรธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ผู้กำกับดูแลและระเบียบข้อบังคับบล็อกเชนขั้นพื้นฐาน และตัวโทเคนดิจิทัลเอง ดังนั้นผู้ที่ดำเนินธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนี้ ต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นอย่างมาก และผู้กำกับดูแลต้องวางกฎระเบียบที่รัดกุม สร้างมาตรฐานที่ดีให้แก่การระดมทุนผ่านกระบวนการ ICO เพื่อให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น

          สอดคล้องกับความเห็นของ นายสตีเฟ่น อิง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท เอสอี ดิจิทัล จำกัด ซึ่งให้ความสำคัญกับหน่วยงานที่กำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งคือสำนักงาน ก.ล.ต. และองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ส่วนในตลาดหลัก ได้แก่ ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) กับ ผู้ระดมทุน (issuer) โดยหน้าที่หลักของ ICO Portal คือตรวจสอบแผนธุรกิจ รายละเอียดโครงการที่นำมาระดมทุนและตรวจสอบโครงการ (Due Diligence) ก่อนที่จะเสนอขายโทเคนดิจิทัลแก่นักลงทุน ดังนั้น การดำเนินงานของ ICO Portal จึงมีความสำคัญอย่างมากในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่การระดมทุนด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย

          นางสาวแจ็คเกอลีน คว็อก Director of Business Development – Asia Markets, Securitize กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่ได้ออกกฏระเบียบชัดเจนในการควบคุมการออกและการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นับได้ว่านำหน้าฮ่องกงและสิงคโปร์ด้วยซ้ำ โดยเชื่อว่าประเทศไทยมีสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากการมีกฎข้อบังคับมารองรับเพื่อคุ้มครองนักลงทุน

          ด้านนายปิ่นปราชญ์ จักกะพาก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ERX กล่าวว่าบล็อกเชนถือเป็นระบบที่ได้รับการยอมรับจากคนทั่วโลกในด้านความปลอดภัย ที่ทุกคนสามารถตรวจสอบประวัติและยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมต่างๆ ซึ่งเข้ามาช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนที่เข้าลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลแล้ว ยังมี Smart Contract ที่ต้องระบุข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ระดมทุน รายละเอียดสินทรัพย์ที่นำมาระดมทุนและผลประโยชน์หรือผลตอบแทนอื่นๆ ที่ผู้ลงทุนจะได้รับ ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับรูปแบบของสินทรัพย์ที่เปิดกว้างให้สามารถย่อยสินทรัพย์ (fractionization) เพื่อนำมาระดมทุนโดยไม่จำเป็นต้องระดมทุนทั้งโครงการ ทำให้มีสภาพคล่องที่มากขึ้นและเปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนได้ง่ายขึ้น

          นางสาวกุลรัตน์ พงศ์สถาพร Partner, Baker McKenzie กล่าวว่า พ.ร.ก. การธุรกิจประกอบสินทรัพย์ดิจิทัล ได้ออกแบบมาเพื่อส่งเสริมระบบนิเวศ สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนในการเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล และผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อน Digital Economy ในไทย โดย ICO Portal ทุกรายต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ส่วนผู้ที่ต้องการระดมทุนจะต้องดำเนินการผ่าน ICO Portal ที่มีหน้าที่ช่วยจัดเตรียม White Paper (หนังสือชี้ชวน) ที่ระบุประวัติและรายละเอียดของบริษัทที่ระดมทุน แผนธุรกิจ รายละเอียดโครงการ และกำหนดเงื่อนไขการให้ผลตอบแทนแก่นักลงทุน ซึ่ง ICO Portal จะเป็นผู้พิจารณาความน่าเชื่อถือและความเป็นไปได้ในเบื้องต้นของโครงการ ก่อนที่จะนำ White Paper ส่งให้ ก.ล.ต. พิจารณา และหากผ่านการพิจารณาแล้ว ICO Portal ยังต้องตรวจสอบนักลงทุนว่าเป็นนักลงทุนประเภทใด โดยหากเป็นรายย่อยจะลงทุนได้สูงสุดไม่เกินรายละ 3 แสนบาทต่อโครงการ

            นางเกศรา มัญชุศรี อดีตกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกให้การตื่นตัวกับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งประเทศไทยเองก็มีความตื่นตัวในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก จะเห็นได้จากการที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้มีการออกกฎหมายในการจัดการดูแลที่มีหลักการคล้ายกับการระดมทุนแบบ IPO ที่จะต้องมีตลาดรอง ดีลเลอร์ โบรกเกอร์ และมี ICO Portal ซึ่งทำหน้าที่คล้ายที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อให้นักลงทุนเข้าใจถึงกระบวนการระดมทุนด้วยโทเคนดิจิทัล ซึ่งนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนต้องศึกษารายละเอียดของ White Paper ตั้งแต่ความน่าเชื่อถือของผู้ระดมทุน และตัวโครงการที่ใช้ระดมทุน ผลตอบแทน วิธีการซื้อขายผ่านตลาดรอง ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับการลงทุนในตลาดทุน โดยการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลจะเป็นโอกาสให้นักลงทุนกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น และทำให้ผู้ที่ต้องการระดมทุนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกยิ่งขึ้นด้วย



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ