ที่ดิน ‘อีอีซี’ บูมไร่ละ 80 ล้าน รับ ‘ไฮสปีดเทรน’ ทุน ‘จีน-ฮ่องกง’ ปักหมุด

วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ที่ดิน ‘อีอีซี’ บูมไร่ละ 80 ล้าน รับ ‘ไฮสปีดเทรน’ ทุน ‘จีน-ฮ่องกง’ ปักหมุด


เปิดหวูดรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซีพีเซ็นสัญญา ร.ฟ.ท.เดินหน้าโครงการอภิมหาโปรเจ็กต์มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท สัมปทาน 50 ปี ดันภาพรวมเศรษฐกิจคึกคัก ที่ดิน 3 จังหวัดชลบุรี-ระยอง-ฉะเชิงเทรา พุ่งรับกระแสลงทุน อสังหาฯเดินหน้าผุดมิกซ์ยูส-บ้านเดี่ยว-ทาวน์โฮม ยอดเปิดโรงงานใหม่ 9 เดือนเท 8 หมื่นล้าน ทุน ‘จีน-ฮ่องกง’ แห่ปักหมุด

เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 62 ที่ผ่านมาถือเป็นประวัติศาสตร์วงการรถไฟไทยอีกครั้ง เนื่องจากมีการลงนามสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. มูลค่าโครง-การ 224,544.36 ล้านบาท ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน การลงนามสัญญาดังกล่าวเป็น การประกาศว่าโครงการอภิมหาเมกะโปร-เจกต์แรกในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีได้เริ่มต้นแล้ว

*** ซีพีคว้าชัยเหนือคู่แข่ ***

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา มูลค่ากว่า 224,544 ล้านบาทประกอบด้วย ค่าลงทุนระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 168,718 ล้านบาท ค่าลงทุนในระบบการเดินรถของแอร์พอร์ตลิงค์ 10,671 ล้านบาท ค่าพัฒนาที่ดินมักกะสันและศรีราชาประมาณ 45,155 ล้านบาท โดยกลุ่มซีพีและพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ประกอบด้วย บจ.เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ชนะการประมูล ด้วยการขอรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐเพียง 119,000 ล้านบาท ต่ำกว่าวงเงินสนับสนุนที่รัฐบาลตั้งไว้ 119,425.75 ล้านบาท และต่ำกว่าคู่แข่งคือกลุ่มบีเอสอาร์ที่เสนอ 169,934 ล้านบาท ถึง 50,934 ล้านบาท

*** จรดปากกาลงนาม ***

เพจ We are CP รายงานว่าช่วงเช้าวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะผู้แทนกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร นำทีมผู้บริหารเครือฯ กราบสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ณ พระลานหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ก่อตั้งกรมรถไฟหลวง เมื่อ 123 ปีก่อน ซึ่งนับตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา สามารถขยายการเดินรถไฟในประเทศจนเจริญก้าวหน้าเป็นลำดับ

โดยในช่วงบ่ายวันเดียวกัน นาย ศุภชัย พร้อมคณะผู้บริหารเครือฯ และกลุ่มบริษัทพันธมิตรได้ร่วมในพิธีลงนามสัญญาร่วมทุน Public-Private- Partnership หรือ PPP เพื่อดำเนินการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอน เมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มูลค่าลงทุน2.2 แสนล้านบาทกับการรถไฟแห่งประเทศ ไทย หรือ ร.ฟ.ท.ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และระบบขนส่ง (รถไฟ) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยบนเวทีโลก

*** เร่งส่งมอบพื้นที่ตามกำหนด ***

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า พิธีลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณ ภูมิ-อู่ตะเภา) และบันทึกความเข้าใจเพื่อสนับสนุนโครงการว่า หลังจากลงนามแล้วทุกอย่างจะเป็นไปตามกระบวนการ หลังจากนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะต้องไปจ้างที่ปรึกษาโครงการ โดยยังมีหลายขั้นตอน เช่น การออกแบบการก่อสร้าง สั่งซื้อรถไฟ การดำเนินการย้ายสาธารณูปโภคที่เป็นสิ่งกีดขวางเส้นทางการก่อสร้าง ซึ่งทุกฝ่ายมีหน้าที่ต้องทำตามสัญญา และเป็นไปตามกำหนดเวลา คาดต้องใช้เวลาในการรื้อย้ายสิ่งกีดขวางหรือกว่าจะส่งมอบพื้นที่ได้ร้อยละ 100 คงใช้เวลาเกือบ 2 ปี ส่วนตัวเชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาในเรื่องของการทำงาน อย่างไรก็ตามจะต้องมุ่งหวังให้งานสำเร็จ ไม่ใช่มัวแต่ดูที่ข้อได้เปรียบเสียเปรียบของสัญญา เพราะงานก่อสร้างจะต้องเป็นวิศวกรที่ดำเนินการ ไม่ใช่ดำเนินการโดยนักกฎหมาย

*** พลิกโฉมขนส่งภาคตะวันออก ***

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเป็นโครงการที่ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถ ไฟฟ้าขนส่งมวลชนแอร์พอร์ต ลิงค์ (Airport Rail Link) ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ส่วนต่อขยาย 2 ช่วงจากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมืองและจากสถานีลาดกระบัง ไปยังสนามบินอู่ตะเภา พร้อมเชื่อมเข้าออกสนามบินโดยใช้เขตทางเดิมของการรถไฟฯเป็นส่วนใหญ่ รวมระยะทาง 220 กม. มีผู้เดินรถรายเดียวกัน ซึ่งรถไฟความเร็วสูงมีความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง (สำหรับช่วงการเดินทางระหว่างเมือง คือ สถานีสุวรรณ ภูมิ ถึงสถานีอู่ตะเภา) และความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง (สำหรับช่วงการเดินทางในเมืองคือสถานีดอนเมืองถึงสถานีสุวรรณภูมิ) ประกอบไปด้วยสถานีรถไฟความเร็วสูงจำนวน 9 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีอู่ตะเภา

โครงสร้างทางวิ่งของโครงการประ-กอบไปด้วยทางวิ่งโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ปัจจุบัน (ARL) ระยะทางประมาณ 29 กิโลเมตร และทางวิ่งที่ต้องก่อสร้างใหม่ประมาณ 191 กิโลเมตร โดยเบื้องต้นจำแนกลักษณะรูปแบบโครงสร้างทางวิ่งทั้งโครงการเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) ทางวิ่งยกระดับระยะทางประมาณ 181 กิโลเมตร 2) ทางวิ่งระดับดินระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร และ 3) ทางวิ่งใต้ดินระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟในพื้นที่มักกะสันของ ร.ฟ.ท. ประมาณ 150 ไร่ ต้องเป็นการพัฒนาร่วมไปกับการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการสนับสนุนบริการรถไฟและบริการผู้โดยสาร รวมทั้งพื้นที่โดยรอบสถานีศรีราชา ประมาณ 25 ไร่ ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ร่วมกับโครงการได้ทันที ขณะที่แนวเส้นทางโครงการผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุง เทพมหานคร จ.สมุทรปราการ จ.ฉะเชิง เทรา จ.ชลบุรี และจ.ระยอง

*** จ้างงานพุ่ง เหล็ก-ปูนรับอานิสงส์ ***

สำหรับผลประโยชน์ที่ประเทศและประชาชนได้รับจากโครงการนี้ ประกอบด้วย 1.ทรัพย์สินทั้งหมดตกเป็นของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา 2.การจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกว่า 100,000 อัตราใน 5 ปี 3.การจ้างงานระหว่างก่อสร้าง 16,000 อัตรา 4.ใช้วัสดุก่อสร้างภายในประเทศ (เหล็ก 1 ล้านตัน ปูน 8 ล้านลูกบาศก์เมตร) 5.การถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ประเทศ

ขณะที่ผลตอบแทนต่อเศรษฐกิจตลอดอายุโครงการ 652,152 ล้านบาท ผลตอบแทนทางการเงิน 127,985 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน คิดจากอัตราคิดลดของเอกชนร้อยละ 6.06 ใน 1-50 ปี และคิดลดด้วยอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 2.5 ระหว่างปีที่ 51-100) มูลค่าเพิ่มการพัฒนาเศรษฐกิจ (รัศมี 2 กม.ตามเส้นทางรถไฟ) 214,621 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบันคิดจากอัตราคิดลดทางด้านเศรษฐกิจร้อยละ 3) ภาษีเข้ารัฐเพิ่ม 30,905 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบันคิดจากอัตราคิดลดทางด้านเศรษฐกิจร้อยละ 3) มูลค่าเพิ่มการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกประมาณ 150,000 ล้านบาท ลดการใช้น้ำมัน เวลา อุบัติเหตุ และสิ่งแวดล้อม 128,641 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบันคิดจากอัตราคิดลดทางด้านเศรษฐกิจร้อยละ 3)

*** ราคาที่ดินชลบุรีพุ่งไร่ละ 80 ล้าน ***

ขณะที่ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินของกรมธนารักษ์ ปี 2559-2562 พบว่าราคาที่ดินจังหวัดชลบุรี อำเภอบางละมุง ถนนเลียบหาดพัทยา ถนนพัทยาสาย 1 ราคาตารางวาละ 200,000 บาท หรือ ไร่ละ 80 ล้านบาท ถนนพัทยาใต้ ราคาตารางวาละ 17,000-180,000 บาท หรือไร่ละ 6-72 ล้านบาท ถนนเลียบหาดนาจอมเทียน (จอมเทียนสาย 1) ตารางวาละ 65,000-85,000 บาท ไร่ละ 26-34 ล้านบาท อำเภอเมือง ถนนสุขุมวิท ตารางวาละ 7,000-90,000 บาท ไร่ละ 2.8-36 ล้านบาท ถนนพัทยาสาย 2 ตารางวาละ 20,500-90,000 บาท 8.2-36 ล้านบาท อำเภอศรีราชา ถนนเจิมจอมพล ตารางวาละ 15,000-70,000 บาท ไร่ละ 6-28 ล้านบาท

จังหวัดระยอง อำเภอเมือง ถนนตากสินมหาราช ราคาประเมินตารางวาละ 35,000-60,000 บาท ไร่ละ 14-24 ล้านบาท ถนนจันทอุดม ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3138 (ระยอง-บ้านค่าย) ตารางวาละ 40,000-50,000 บาท ไร่ละ 16-20 ล้านบาท ถนนหลักเมือง ตารางวาละ 40,000-43,000 บาท ไร่ละ 16-17 ล้านบาท ถนนราชภักดี ตารางวาละ 40,000-43,000 บาท ไร่ละ 16-17 ล้านบาท ถนนราชวิมล 1 ตารางวาละ 35,000-40,000 บาท ไร่ละ 14-16 ล้านบาท ถนนนพจกร ตารางวาละ 32,000-40,000 บาท ไร่ละ 12.8-16 ล้านบาท ถนนภักดีบริรักษ์ ตารางวาละ 20,000-35,000 บาท ไร่ละ 8-14 ล้านบาท

จังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอเมือง ถนนมหาจักรพรรดิ์ ตารางวาละ 45,000 บาท ไร่ละ 18 ล้านบาท ถนนชุมพล ตารางวาละ 40,000 บาท ไร่ละ 16 ล้านบาท ถนนมรุพงษ์ ตารางวาละ 20,000-40,000 บาท ไร่ละ 8-16 ล้านบาท ถนนเทพคุณากร ตารางวาละ 10,000-40,000 บาท ไร่ละ 4-16 ล้านบาท อำเภอบางคล้า ถนนระเบียบกิจอนุสรณ์ ตารางวาละ 22,500 บาท ไร่ละ 9 ล้านบาท ถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3121 ตารางวาละ 6,000-17,500 บาท ไร่ละ 2.4-7 ล้านบาท ถนนราษฎรอุทิศ ตารางวาละ 2,500-10,500 บาท ไร่ละ 1-4.2 ล้านบาท อำเภอบางปะกง ถนนแผ่นดินหมายเลข 314 ตารางวาละ 8,000 บาท ไร่ละ 3.2 ล้านบาท ถนนแผ่นดินหมายเลข 3 ตารางวาละ 6,000-8,000 บาท ไร่ละ 2.4-3.2 ล้านบาท ถนนสุขุมวิท ตารางวาละ 6,000-8,000 บาท ไร่ละ 2.4-3.2 ล้านบาท

*** อสังหาฯ คึกคัก ออริจิ้นผุดมิกซ์ยูส ***

นายอรุช ช่างทอง กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจ EEC บริษัท ออริจิ้น พร็อพ เพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานเสวนา “แหลมฉบังในอนาคต กับการพัฒนาแบบก้าวกระโดดจากนโยบาย EEC” เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน โดยมีผู้บริหารจากหลากหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบการพัฒนาพื้นที่ EEC ร่วมเสวนาว่าการพัฒนาพื้นที่ EEC ประกอบด้วยการพัฒนาเมกะโปรเจกต์หลากหลายโครงการ เช่น รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ท่าเรือน้ำลึกระดับท็อปเทนของโลก สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ซึ่งจะเป็นทั้งสนามบินและศูนย์ซ่อมเครื่องบินในอนาคต ภาพรวมการพัฒนาพื้นที่ยังคงเดินไปตามโรดแมป มีการเจรจาและสรรหาภาคเอกชนเข้ามาพัฒนาในโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โครงการด้านดิจิทัลซึ่งถือเป็นหนึ่งในไฮไลต์หลักของพื้นที่ ก็จะมารวมกันอยู่ที่ EEC เช่น สนามทดสอบ 5G แห่งแรกของไทย

โดย ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ได้เข้ามาเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาที่อยู่อาศัยในพื้นที่ EEC เพื่อรองรับ ความต้องการอยู่อาศัยที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล เริ่มต้นจากการพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสในพื้นที่แหลมฉบังภายใต้ชื่อ “Origin District” เป็นโครงการที่รวบรวมทั้งคอนโดมิเนียมแบรนด์นอตติ้ง ฮิลล์ เคนซิงตัน และคอมมูนิตี้มอลล์ภายใต้ชื่อ Porto Bello เข้ามาไว้ในพื้นที่เดียวกัน ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่แหลมฉบังเดิม และผู้ที่กำลังจะเข้ามาเพราะสนใจลงทุนใน EEC และภายในปีนี้ออริจิ้นยังมีแผนจะเปิดตัวโครงการมิกซ์ยูส Origin Smart District Rayong รวมมูลค่าโครงการทุกประเภทกว่า 10,000 ล้านบาทใน จ.ระยอง เพื่อรองรับการเติบโตของเมือง

ด้าน ดร.วงกต วิจักขณ์สังข์สิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า หนึ่งในโครงการสำคัญของ EEC คือ Digital Park Thailand ที่กำลังจะพัฒนาขึ้นในพื้นที่แหลมฉบัง เป็นเขตส่งเสริมการลงทุนด้านดิจิทัลโดยเฉพาะ การลงทุนในพื้นที่จะไม่ได้มีหน้าตาเป็นโรงงานเหมือนนิคมอุตสาหกรรม เน้นการลงทุนด้านดิจิทัล ทำให้บรรยากาศคล้าย “แคมปัส” หรือมหาวิทยาลัย มีออฟฟิศ ห้องแล็บ Data Center ศูนย์เก็บเซิร์ฟเวอร์ เข้ามาอยู่ รวมกัน กลุ่มคนที่เข้ามาทำงานก็จะมีตั้งแต่บริษัทขนาดใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับด้านเทคโนโลยี ไปจนถึงเหล่าสตาร์ตอัพ มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยตัวพื้นที่โครงการยังถูกออกแบบให้เชื่อมโยงกับชุมชนรอบข้าง ทำให้ที่นี่จะเป็นเสมือนโชว์เคสของเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City

“ภายใน Digital Park Thailand นั้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้สิทธิพิเศษ ยกเว้นภาษีนิติบุคคลแก่ผู้เข้ามาลงทุนนาน 8-13 ปี สูงกว่าผู้ที่มาลงทุนด้านดิจิทัลในบริเวณอื่นซึ่งได้สิทธิ์ 5-8 ปี สิทธิประโยชน์นี้จะเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ดึงดูดให้คนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC อย่าง Digital Park Thailand” ดร.วงกต กล่าว

นอกจากนี้ ดร.มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม ผู้อำนวยการ สถาบันไอโอทีและนวัต กรรมดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่า อุตสาหกรรมดิจิทัล เป็นอุตสาหกรรมที่ลงทุนน้อยแต่ได้รับผลตอบแทนสูง จึงเป็นสาเหตุให้รัฐมาส่งเสริมด้านดิจิทัล เพราะใช้สมองเป็นหลัก ดังนั้นคนต้องมีความสามารถ จึงเป็นเหตุผลที่ดึงต่างชาติมาพร้อมกับเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดทักษะซึ่งกันและกัน และพัฒนาคนไทยได้อีกทางหนึ่ง

*** พฤกษาลุยบ้านเดี่ยว-ทาวน์โฮม ***

นายธีรเดช เกิดสำอางค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจทาวน์เฮาส์ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหา-ชน) เปิดเผยว่า “ในปีนี้บริษัทมีแผนรุกตลาดต่างจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขต EEC ที่เป็นหัวเมืองท่องเที่ยวและ นิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สำหรับตลาดในจังหวัดชลบุรี นับว่าเป็นจังหวัดที่น่าจับตามองอีกแห่งหนึ่ง โดยภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเขตจังหวัดชลบุรี ในไตรมาส 1 ปี 2562 มีมูลค่าตลาดราว 13,180 ล้านบาท เติบโตขึ้น 24% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2561 ล่าสุดพฤกษาจึงเตรียมเปิด 2 โครงการใหม่ ทั้งทาวน์โฮม และบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ในสังคมคุณภาพ 2 โครงการ ได้แก่ บ้านพฤกษา หนองมน-ชลบุรี (3) และ เดอะแพลนท์ หนองมน-ชลบุรี รวมมูลค่า 2 โครงการกว่า 2,167 ล้านบาท บนพื้นที่ “พฤกษา อเวนิว หนองมน-ชลบุรี” ซึ่งนำคอนเซปต์ พฤกษา อเวนิว ที่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากกรุงเทพฯ โดยพัฒนาพื้นที่ขนาด 90 ไร่ ให้มีบ้านหลากหลายรูปแบบเพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่กลุ่มครอบ-ครัวเริ่มต้น ไปจนถึงที่ครอบครัวขยาย และยกคอนเซปต์พื้นที่นี้มาตั้งที่ใจกลางเมืองบางแสน ซึ่งอยู่ในโซนที่มีศักยภาพสูงมาก ติดถนนเส้นหลักของตัวเมือง อยู่ใกล้แหล่งงาน นิคมอุตสาหกรรม ศูนย์การค้า แหล่งพักผ่อนหย่อนใจอย่างหาดบางแสน และมีสินค้าให้เลือกตรงตามความต้องการของลูกค้าในทุกระดับ นอกจากนี้ ในอนาคตมีแผนเปิดโครงการอาคารพาณิชย์ ติดถนนเส้นหลักหน้าโครงการอีกด้วย”

*** ยอดตั้งรง.ใหม่ 9 เดือน 8 หมื่นล้าน ***

ขณะที่การเปิดโรงงานใหม่และ ขยายโรงงานในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีการขอใบอนุญาตประกอบกิจการ รง.4 และขยายกิจการ 402 โรงงาน ลดลง 10.46% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี 449 โรงงาน แต่มูลค่าลงทุนกลับสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 94.63% คือ มีมูลค่าการลงทุน 8.35 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 4.29 หมื่นล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ จ.ชลบุรี มีการขอใบอนุญาตประกอบกิจการ รง.4 และขยายกิจการมากที่สุด 212 โรงงาน มูลค่าลงทุน 4.82 หมื่นล้านบาท มีการจ้างงาน 6.71 พันคน จ.ระยอง 106 โรงงาน มูลค่าลงทุน 2.19 หมื่นล้านบาท มีการจ้างงาน 8.66 พันคน จ.ฉะเชิงเทรา 84 โรงงาน มูลค่าลงทุน 1.33 หมื่นล้านบาท มีการจ้างงาน 3.95 พันคน

*** ‘จีน-ฮ่องกง’ ปักหมุด ***

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยระหว่างเดินทางไปโรดโชว์ดึงดูดการลงทุน นครกว่างโจว ประเทศจีน ว่า ในการเดินทางมาจีนครั้งนี้ เพื่อต่อยอดเชื่อมโยงและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของไทยกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ Greater Bay Area (GBA) มณฑลกวางตุ้งและ เขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า ซึ่งก่อนหน้านี้มีการติดต่อหารือในหลายระดับและหลายหน่วยงาน โดยในวันที่ 22 ตุลาคมได้พบกับบริษัท Primax บริษัทไต้หวัน ชำนาญด้านเทคโนโลยีเสียงมีฐานผลิตในกวางตุ้ง ซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า จึงได้สำรวจการย้ายฐานใน 8 ประเทศ สุดท้ายเหลือไทยกับเวียดนาม ซึ่งมีความเป็นไปได้มาประเทศไทย ทั้งสร้างโรงงาน ดึงซัพพลายเชน โดยระบุให้เขาเห็นว่าไทยพร้อมทั้งด้านบุคลากร สิ่งแวด-ล้อมทางธุรกิจ และทำเลที่ตั้งอยู่กลางกลุ่มประเทศ CLMVT รวมถึงนโยบายด้านต่างๆ เอื้อต่อการลงทุนไม่เปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ ยังได้พบกับบริษัท Quantum Hi-Tech (china) Biological อุตสาหกรรมชีวภาพก็จะเข้าลงทุนในไทยด้วย ซึ่งเป็นผลดีต่อเกษตรแปรรูปของไทย รวมถึงได้คุยกับผู้บริหารหัวเว่ยในการขับเคลื่อนระบบ 5 จีในไทย เท่ากับว่า 2 วันได้พบบริษัท 4-5 บริษัท ในจำนวนนี้ 2-3 รายกำลังเข้าลงทุนในไทย มูลค่าลงทุน 5-7 พันล้าน และในวันที่ 23 ตุลาคมได้ร่วมงานเสวนา “Strategic Partnership through the Belt and Road Initiative and the EEC” จัดโดย สกพอ. เพื่อเชิญชวนนักลง ทุนจีนเข้าไทยและเดินทางเข้าเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เพื่อหารือบริษัทในฮ่องกงที่มีแผนลงทุนนอกจีนเพิ่มขึ้นอีกด้วย

โดยปัจจุบันมีบริษัทในฮ่องกงเข้า ไปตั้งโรงงานในพื้นที่ GBA สนใจย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย เนื่องมาจากกรณีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จึงทำให้รัฐบาลของฮ่องกงต้องการนำผู้ลงทุนย้ายฐานการผลิต เพื่อให้บริษัทยังสามารถส่งสินค้าไปแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ ได้ ขณะที่รัฐบาลฮ่องกงมีนโยบายให้เงินสนับสนุน ผู้ประกอบการรายละ 1 ล้านเหรียญฮ่องกงในการที่จะมาลงทุนในอาเซียน ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่นักลงทุนฮ่องกงให้ความสนใจ โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ