ผ่าสมรภูมิธุรกิจ 4 แสนล้าน ธุรกิจอาหารจาน..เดือด!!! ในไทยจะเป็นอย่าง ?

วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ผ่าสมรภูมิธุรกิจ 4 แสนล้าน ธุรกิจอาหารจาน..เดือด!!! ในไทยจะเป็นอย่าง ?


*** อาหารจาน..เดือด!***

ตั้งแต่ต้นปี 2562 ตลาดร้านอาหารมูลค่ากว่า 4 แสนล้านเต็มไปด้วยความคึกคัก แม้เศรษฐกิจโลกจะซบเซาจากปัญหาสงครามการค้าและค่าเงิน แต่ธุรกิจร้านอาหารยังคงเติบโตได้ 3-4% โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เริ่มขยายกิจการทั้งการจับมือกับพันธมิตรเปิดร้านอาหารเชนใหม่ การเข้าไปซื้อหุ้นธุรกิจอาหารที่มีความน่าสนใจเข้าไปลงทุน เนื่องจากมองว่าแม้เทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่การบริโภคอาหารยังคงได้รับความนิยม ทั้งการบริโภคในร้านหรือสั่งไปรับประทานที่บ้าน หลายร้านมีคนเข้าคิวยาวเหยียด จนทำให้ธุรกิจนี้กลายเป็นทำเลทองของยักษ์ใหญ่ยักษ์เล็กพาเหรดเข้ามาจำนวนมาก

*** สิงห์ซื้อหุ้นซานตาเฟ่ สเต็ก ***

ข่าวที่สร้างความฮือฮามากที่สุดในช่วงสัปดาห์นี้น่าจะเป็นรายงานข่าวจากดีลสตรีทเอเชีย (Dealstreetasia) ระบุว่า เลคชอร์ แคปปิตอล ซึ่งเป็นกองทุน Private Equity เน้นลงทุนในบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ขายหุ้นของ “ซานตาเฟ่ สเต็ก” ที่บริษัทถืออยู่ทั้งหมดให้กับ “สิงห์ คอร์เปอเรชั่น” คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.5 พันล้านบาท โดยดีลสตรีทเอเชียอ้างว่าได้รับการยืนยันจากผู้บริหารระดับสูงของเลคชอร์ แคปปิตอล ถึงการขายหุ้นในครั้งนี้

สำหรับเลคชอร์ แคปปิตอล ได้เข้าซื้อหุ้นในธุรกิจของซานตาเฟ่ สเต็กเมื่อปี 2558 โดย “เคที เรสทัวรองท์” ผู้บริหารร้านซานตาเฟ่ สเต็ก ได้เปิดทางให้เลคชอร์ แคปปิตอล เข้ามาลงทุนโดยการถือหุ้นบริษัทในสัดส่วน 26% ในขณะที่ “สุรชัย ชาญอนุเดช” ซีอีโอบริษัทและผู้ก่อตั้งยังคงถือหุ้นใหญ่ คิดเป็นสัดส่วน 74% เพื่อเสริมแกร่งการลงทุนโดยเฉพาะการขยายสาขาทั้งในและต่างประเทศ

จากข้อมูลล่าสุดในปี 2561 ที่ผ่านมา ซานตาเฟ่มีสาขาอยู่มากกว่า 120 แห่งในไทย และมีการขยายสาขาไปในต่างประเทศเช่นกัมพูชาด้วยการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ท้องถิ่น และยังมีแผนที่จะขยายไปยังอีกหลายๆประเทศในอาเซียน มีรายได้ในปีที่ผ่านมาประมาณ 1,900 ล้านบาท ครองส่วนแบ่งอันดับ 2 ในตลาดที่มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท

ขณะที่ “สิงห์ คอร์เปอเรชั่น” ได้วางทิศทางของกลุ่มธุรกิจอาหารในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาด้วยการตั้งบริษัท ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส จำกัด ขึ้นมาเพื่อดูแลธุรกิจอาหารในเครือทั้งหมด อาทิ บริษัท เอสคอมพานี จำกัด พัฒนาแบรนด์ร้านอาหารอย่าง Est.33, Farm Design, Kitaochi เป็นต้น โดย “ปิติ ภิรมย์ภักดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้เตรียมงบสำหรับลงทุนในธุรกิจนี้เอาไว้ประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจให้เติบโตในทุกๆ รูปแบบ

*** เอ็มเค ลงทุน 'แหลมเจริญ ซีฟู้ด' ***

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้เพียงหนึ่งเดือนคือในเดือนกันยายน 2562 คณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ M ก็ได้อนุมัติให้บริษัท คาตาพัลท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยเข้าลงทุน 65% ในบริษัท แหลมเจริญ

ซีฟู้ด จำกัด มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 2,060 ล้านบาท โดยแหลมเจริญ ซีฟู้ดประกอบธุรกิจจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นการขยายธุรกิจร้านอาหาร ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการลงทุนในกิจการแหลมเจริญครั้งนี้เนื่องจากร้านสุกี้ MK และ ร้านแหลมเจริญซีฟู้ดมีกลุ่มลูกค้าที่ใกล้เคียงกันมาก ลักษณะเป็นลูกค้าแบบครอบครัวที่ค่อนข้างมีกำลังซื้อ ทำให้เห็นว่าโอกาสที่ทั้งสองแบรนด์จะเติบโตไปด้วยกันมีสูงมาก

สำหรับ “MK สุกี้” เป็นร้านอาหารยอดนิยมของคนไทยมานานกว่า 50 ปี เริ่มต้นจากร้านอาหารเล็กๆ ย่านสยามแสควร์ ก่อนจะขยายธุรกิจเปิดเป็นร้านสุกี้สาขาแรกในชื่อ MK สุกี้ เมื่อปี 2529 ในห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว ประสบความสำเร็จอย่างมากจนมีสาขาเติบโตมากกว่า 400 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงต่อยอดความสำเร็จไปยังต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เวียดนาม สิงคโปร์ และลาว ปี 2561 เอ็มเคมีรายได้ 17,233 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,573 ล้านบาท เติบโต 6% ขยายธุรกิจไปสู่ร้านอาหารไทยและอาหารญี่ปุ่นซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างดงามเช่นเดียวกัน

*** ซีพีผุดภัตตาคาร ฮาเบอร์ ***

ในปีเดียวกันนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แวดวงอาหารก็มีข่าวฮือฮาอย่างมากกับการร่วมทุนของกลุ่มซีพีกับไห่หลายกรุ๊ป จากไต้หวัน จัดตั้งบริษัทในเครือชื่อ บริษัท ซีพี ไห่หลาย ฮาร์เบอร์ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 130 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจภัตตาคารฮาร์เบอร์ (Harbour Restaurant) เปิดสาขาแรกที่ไอคอนสยาม บนพื้นที่ถึง 2,000 ตารางเมตร รองรับลูกค้า 1,000 ที่นั่งต่อวัน หรือ 450 ที่นั่งต่อรอบ เป็นบุฟเฟ่ต์ภัตตาคารที่มีราคาขายในมื้อกลางวัน 799 บาท มื้อเย็น 899 บาท ตั้งเป้ายอดขายปีแรกไว้ที่ 240 ล้านบาท พร้อมกับเตรียมขยายสู่หัวเมืองใหญ่หลายแห่งในไทย เช่น พัทยา ภูเก็ต เป้าหมายคือขยายให้ได้ 5 สาขาภายใน 5 ปี เงื่อนไขของการพิจารณาเลือกโลเกชั่นคือความหนาแน่นของประชากรในละแวกสาขาตั้งอยู่ และต้องมีขนาดพื้นที่ใหญ่เพียงพอที่จะรองรับการเปิดร้านขนาด 2,000 ตารางเมตร

ฮาร์เบอร์ นับเป็นก้าวสำคัญของกลุ่มซีพีในการทำตลาดเชนร้านอาหารที่คงไม่ใช่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการก้าวสู่กลุ่มประเทศอาเซียนที่มีเทรนด์การเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากแบรนด์ฮาร์เบอร์แล้วซีพียังมองถึงการร่วมทุนกับไห่หลายกรุ๊ปในการนำแบรนด์อื่นๆ เข้ามาทำตลาดเมืองไทย อาทิ ร้านอาหารมังสวิรัติระดับ 5 ดาว รับกับเทรนด์สุขภาพ ซึ่งไห่หลายมีแบรนด์ Hi-Lai Vegetarian ที่โด่งดังในไต้หวันอยู่แล้ว

*** มูลค่าตลาดร้านอาหารขยายตัวต่อเนื่อง ***

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ปัจจุบันมีผู้ประกอบการร้านอาหารประกอบธุรกิจในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกขนาดใหญ่มากขึ้น โดยการขยายสาขาของห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกขนาดใหญ่และการเพิ่มสัดส่วนพื้นที่ร้านอาหารเป็นการเปิดพื้นที่สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร ทั้งเชนร้านอาหาร ผู้ประกอบการรายใหญ่ และผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไป โดยการเริ่มต้นธุรกิจหรือขยายสาขาของผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อยทั่วไป เป็นการเพิ่มทางเลือกในการรับประทานอาหารในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ให้มีความหลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นการใช้บริการเชนร้านอาหารเป็นหลัก

อย่างไรก็ดี การเพิ่มสัดส่วนพื้นที่ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการร้านอาหารรายใหม่สามารถเข้าไปประกอบธุรกิจ น่าจะส่งผลต่อเนื่องให้การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกขนาดใหญ่เป็นไปอย่างรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ต้นทุนการประกอบธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร ทั้งค่าเช่าพื้นที่ในทำเลศักยภาพที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลต่อผู้ประกอบการร้านอาหารทุกกลุ่ม แต่มูลค่าตลาดธุรกิจร้านอาหารกว่า 4 แสนล้านบาทก็ส่งผลให้การขยายสาขาร้านอาหารยังเป็นกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการร้านอาหารให้ความสำคัญ โดยอาจเป็นการขยายสาขาไปยังพื้นที่ใหม่ๆ ที่การแข่งขันยังไม่รุนแรง รวมถึงอัตราค่าเช่ายังไม่สูงมากนัก ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังมีโอกาสขยายสาขาไปยังสถานที่ใหม่ๆ ที่มีการเปิดพื้นที่สำหรับร้านอาหาร อย่างสถานีบริการน้ำมันที่มุ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เข้ามาเติมน้ำมันได้อย่างครบวงจร อาคารสำนักงานในพื้นที่ใจกลางเมืองที่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้มีกำลังซื้อ รวมถึงโรงพยาบาลที่มีบริการต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้ป่วยและผู้มาเยี่ยม

*** แอปพลิเคชั่นดัน Food Delivery ***

จากมูลค่าในธุรกิจร้านอาหารที่มีมากกว่า 4 แสนล้าน และยังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องนั้น ทำให้ธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังแหล่งที่พัก หรือ Food Delivery พลอยได้รับความนิยมไปด้วย ประกอบกับแอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร (Food Delivery Application) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงจากทางด้านเทคโนโลยีหรือที่เรียกว่า Digital Disruption ไม่เพียงแต่ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป แต่ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่ธุรกิจร้านอาหาร รวมไปถึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจการ Food Delivery มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีการขยายตัวเฉลี่ยต่อปีในช่วงปี 2557 – 2561 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 สูงกว่าการขยายตัวของธุรกิจร้านอาหารโดยรวมที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3-4 ต่อปี

ความนิยมของผู้บริโภคต่อธุรกิจการจัดส่งอาหารไปยังแหล่งที่พัก (Food Delivery) สะท้อนให้เห็นได้จากผลสำรวจโดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 63 คิดว่าการมีบริการสั่งอาหารผ่าน Application ประเภทต่างๆ ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคของตน โดยทำให้เปลี่ยนมาสั่งอาหารผ่าน Application มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การขยายตัวของธุรกิจ Food Delivery และแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารยังเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้แก่ผู้เล่นที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจร้านอาหาร อาทิ ร้านอาหารรวมถึงร้านอาหารขนาดกลางและเล็กที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้ารายใหม่ๆเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจมีส่วนแบ่งของรายได้มูลค่าประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาทหรือกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่สามารถเพิ่มรายได้โดยการรับงานผ่าน Application ต่างๆ ที่น่าจะมีส่วนแบ่งรายได้มูลค่าประมาณ 3.9 พันล้านบาท ในขณะเดียวกันการแข่งขันที่มากขึ้นก็ผลักดันให้ผู้ประกอบการในเครือร้านอาหารต่างๆจำเป็นต้องมีการปรับแผนธุรกิจเพื่อให้รักษาขีดความสามารถในการแข่งขันและรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดที่มีอยู่ได้ โดยการเพิ่มช่องทางการสั่งซื้ออาหารและความหลากหลายของประเภทอาหาร รวมไปถึงการใช้บรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังแหล่งที่พัก (Food Delivery) ในปี 2562 จะมีมูลค่าอยู่ที่ 33,000 – 35,000 ล้านบาท เติบโตต่อเนื่องราวร้อยละ 14 จากปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8 ของมูลค่าธุรกิจร้านอาหารของประเทศไทยในปี 2562



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ