“มะพร้าวอินทรีย์”...ความท้าทายชาวสวนภาคใต้

วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

“มะพร้าวอินทรีย์”...ความท้าทายชาวสวนภาคใต้


ประเทศไทย มีพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์อยู่ลำดับที่ 7 ของเอเชีย และมีการขยายพื้นที่ผลิตอินทรีย์อย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน ซึ่งจากการเก็บข้อมูลตั้งแต่ ปี 2543 พบว่า ไทยมีพื้นที่ผลิตอินทรีย์ 10,524 ไร่ และเพิ่มขึ้นเรื่อยมาจนปี 2560 มีพื้นที่ผลิตอินทรีย์ 570,409ไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 ต่อปี) โดยส่วนใหญ่เป็นการผลิตข้าวอินทรีย์ร้อยละ 59 พืชไร่ ร้อยละ 15 และผัก/ผลไม้ผสมผสาน ร้อยละ 13 ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าจากการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้ 1,817 ล้านบาท/ปี

อย่างไรก็ตาม แม้เกษตรอินทรีย์จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเทียบกับพื้นที่เกษตรทั้งหมดของไทยยังคงเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก หรือมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.41 เท่านั้น เนื่องจากการทำเกษตรอินทรีย์จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการปรับเปลี่ยนจึงจะได้รับการรับรองมาตรฐาน การสร้างความรู้ความเข้าใจด้านเกษตรอินทรีย์ให้แก่เกษตรกร การสร้างแรงจูงใจที่ทำให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งอุปสรรคที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศ สภาพแวดล้อม และภัยพิบัติต่างๆ ล้วนยังส่งผลให้เกษตรกรยังคงตัดสินใจผลิตสินค้าแบบทั่วไป

นายชาญชัย ศศิธร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี (สศท.8) กล่าวว่า หากพิจารณาถึงทิศทางการผลิตเกษตรอินทรีย์ พบว่า ยังประสบปัญหาในด้านโลจิสติกส์เป็นปัญหาสำคัญ ซึ่งทำให้คุณภาพของสินค้า ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดปลายทาง ดังนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1-12 ในส่วนภูมิภาค จึงได้จัดสนทนากลุ่ม (focus group) โดยร่วมกับเกษตรกรผู้ผลิต ผู้แทนจากสถาบันเกษตรกร/ผู้รวบรวมผลผลิต พ่อค้าคนกลาง จำนวนกว่า 30 ราย เพื่อศึกษาแนวทางการจัดการโลจิสติกส์สินค้าอินทรีย์ในพื้นที่ โดย สศท. 8 ได้เน้นสินค้า มะพร้าวอินทรีย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญของภาคใต้ พบว่า ด้านมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรยังประสบปัญหาเรื่องระยะเวลาการขอมาตรฐานซึ่งต้องใช้ระยะเวลานาน ทั้งมาตรฐาน Organic Thailand รวมถึงการพัฒนาไปสู่มาตรฐาน USDA IFOAM ของต่างประเทศ และค่าใช้จ่ายในการขอรับรองมาตรฐาน

นอกจากนี้ เกษตรกรบางส่วนยังขาดความรู้ความเข้าใจในการยื่นขออนุมัติมาตรฐานทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงมาตรฐาน ในการแปรรูปสินค้า ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องส่งเสริมการให้ความรู้ในการขอใบรับรองมาตรฐานสินค้าแต่ละชนิด อีกทั้งภาครัฐควรสนับสนุนด้านงบประมาณในการขอรับมาตรฐานของสินค้าเกษตรอินทรีย์ของต่างประเทศสำหรับผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์

การจัดการด้านคลังสินค้า พบว่า เกษตรกรบางส่วนยังขาดองค์ความรู้ในเรื่อง know how ด้านการบริหารเงินทุน (ไม่กล้านำเงินทุนมาหมุนเวียน) รวมทั้งโรงงานในพื้นที่ขาดเงินทุนหมุนเวียน ทำให้เกษตรกรขายผลผลิตให้กับแหล่งขายทั่วไปซึ่งเป็นเจ้าประจำ ดังนั้น ควรส่งเสริมโดยให้ความรู้เรื่องการบริหารเงินทุนหมุนเวียน การทำแผนการใช้เงิน และการกำหนดเป้าหมาย การหาช่องทางการตลาดในพื้นที่ เช่น โรงงานแปรรูปในชุมชน และการสร้างเครือข่าย เช่น กลุ่มมะพร้าวอินทรีย์ในพื้นที่ เป็นต้น

ด้านการขนส่ง พบว่า สินค้าเกษตรอินทรีย์ยังมีค่าใช้จ่ายในเรื่องการขนส่งที่ค่อนข้างสูง จึงต้องพัฒนาระบบการขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพ หรือสินค้าอินทรีย์ควรได้รับการลดหย่อนในเรื่องค่าขนส่ง

ด้านการสูญเสีย พบว่า การแปรรูปยังเป็นลักษณะแบบเดิม ไม่มีการเพิ่มมูลค่าผลผลิตสินค้าจากส่วนที่เหลือ จึงควรสร้างองค์ความรู้เพื่อพัฒนาต่อยอด และความร่วมมือของทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย เพื่อให้ทุกส่วนของมะพร้าวแปรรูปและสามารถเพิ่มมูลค่าได้ต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การสร้างฐานการผลิตในต่างประเทศ โดยพัฒนาร่วมกับคู่ค้าในแต่ละประเทศเป็นสิ่งสำคัญ ประกอบกับการขึ้นทะเบียน เกษตรกร ผู้ประกอบการ ที่ดำเนินการเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ จะเป็นฐานข้อมูลในการเชื่อมโยงในเรื่องการจัดหา การขนส่ง และการตลาด เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันสินค้าอินทรีย์ของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้จากการจัด focus group สศก. จะนำไปใช้เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการบริหารจัดการโลจิสติกส์สินค้าอินทรีย์ต่อไป สำหรับท่านที่สนใจข้อมูล สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สศท.8 โทร. 037 311 373 หรือ อีเมล zone8@oae.go.th



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ