เปิด 6 โรงไฟฟ้าชุมชนนำร่องเร่งด่วน ชาวบ้านเฮ ! ได้ถือหุ้นเป็นเจ้าของ10-30%

วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2562

เปิด 6 โรงไฟฟ้าชุมชนนำร่องเร่งด่วน  ชาวบ้านเฮ ! ได้ถือหุ้นเป็นเจ้าของ10-30%


เปิด 6 โรงไฟฟ้าชุมชนนำร่องแบบเร่งด่วน Quick Win จากทั้งหมด 250 โรงทั่วประเทศ เผยเจ้าของโรงไฟฟ้าขานรับนโยบายกระทรวงพลังงานไฟเขียวชาวบ้านถือหุ้น 10-30% โดยจะมีรายได้จากส่วนแบ่งอย่างน้อย 0.25 บาทต่อหน่วย

การประชุมรับฟังความคิดเห็นการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เพื่อนำไปสู่การจัดทำกรอบการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)ได้เสนอรูปแบบการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่ พพ.นำเสนอมี 7 รูปแบบหลัก ได้แก่ 1.โรงไฟฟ้าชุมชนก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) 2. ไฮบริดก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน-พลังงานแสงอาทิตย์) 3.ชีวมวล 4. ไฮบริดชีวมวล-พลังงานแสงอาทิตย์ 5.ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 6.ไฮบริดก๊าซชีวภาพ(น้ำเสีย/ของเสีย)-พลังงานแสงอาทิตย์ 7.พลังงานแสงอาทิตย์

โดยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า หลังจากได้เปิดรับความคิดเห็นแล้วจะสรุปแนวทางที่ชัดเจนภายใน 1 เดือน เสร็จแล้วจะประกาศเป็นนโยบายรัฐบาลต่อไป โดยเบื้องต้นคาดว่าจะพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนได้จำนวน 250 โรง แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนแบบเร่งด่วนนำร่องขึ้นก่อน 10-20 โรง ภายในกลางปี 2563 ส่วนการเข้าไปถือหุ้นโรงไฟฟ้าของชุมชนแต่ละแห่งน่าจะอยู่ราว 10-30% ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ และโรงไฟฟ้าชุมชนจะแบ่งรายได้กลับคืนไปสู่ชุมชนอย่างน้อย 0.25 บาทต่อหน่วย

ด้านนายผจญ ศรีบุญเรือง นายกสมาคมการค้าก๊าซชีวภาพไทย เปิดเผยว่า ทางสมาคมฯ เห็นด้วยกับรูปแบบการผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อจะได้กลับไปปัดฝุ่นโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ ชีวมวล จำนวน 50 โรง กำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ที่ได้หยุดก่อสร้างไปก่อนหน้านี้ หลังจากรัฐบาลมีการปรับเปลี่ยนนโยบาย อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีโรงไฟฟ้าที่มีความพร้อมกลับมาปรับโฉมใหม่เป็นโรงไฟฟ้าชุมชนในรูปแบบเร่งด่วน Quick win จำนวน 20 โรง รวมกำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่กระจายอยู่ทางภาคใต้และภาคอีสาน

อย่างไรก็ดี โรงไฟฟ้าชุมชนรูปแบบเร่งด่วน จำนวน 20 โรง มีจำนวน 6 แห่งที่เป็นโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพพร้อมจะเป็นโครงการนำร่อง ได้แก่ 1.บริษัท ยูเอซี โกลบอลฯ จำนวน 2 โรง รวมกำลังการผลิต 3 เมกะวัตต์ ที่ จ. ขอนแก่น 2.บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER จำนวน 2 โรง รวมกำลังการผลิต 4 เมกะวัตต์ ที่ จ. บุรีรัมย์ 3.บริษัท ไบโอเอนเนอร์ยี่ จำกัด 1 โรง กำลังการผลิต 2 เมกะวัตต์ จ.สตูล 4.บริษัท พีพีแอล เพาเวอร์ จำกัด 1 โรง กำลังการผลิต 3 เมกะวัตต์ จ. กระบี่

ส่วนนายกิตติ ชีวะเกตุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพของยูเอซีที่ จ.ขอนแก่น บริษัทฯ เตรียมเสนอโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ (ไบโอแก๊ส) จำนวน 2 โรง คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 3 เมกะวัตต์ที่ขอนแก่น อยู่ในข่ายโรงไฟฟ้าชุมชนแบบ Quick Win เพราะก่อสร้างเสร็จแล้ว แต่ตอนนั้นติดปัญหาสายส่ง ซึ่งตอนนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ขยายสายส่งแล้ว

“โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ 2 แห่งที่ จ.ขอนแก่น ใช้เงินลงทุนรวม 300 ล้านบาท ใช้หญ้าเนเปียร์ที่ซื้อจากเกษตรกรตันละ 500 บาทเป็นวัตถุดิบ แต่ทางบริษัทก็พร้อมปรับเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนไฮบริด และลงทุนเพิ่มอีก 10 แห่งในภาคเหนือและภาคอีสาน ส่วนการเข้ามาถือหุ้นของชุมชนอยู่ในสัดส่วน 10% ในรูปแบบวิสาหกิจชุมชนน่าจะมีความเหมาะสมที่สุด”

ขณะที่นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NER กล่าวว่า ตนมองว่าราคาที่ภาครัฐรับซื้อไฟโรงไฟฟ้าชุมชนควรอยู่ที่ระดับ 4.50-5.50 บาทต่อหน่วยมีความเหมาะสม เพราะว่าจะต้องแบ่งรายได้กลับคืนไปสู่ชุมชนส่วนหนึ่ง 25 สตางค์ต่อหน่วย ตามที่กระทรวงพลังงานกำหนดไว้ด้วย



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ