พิษสงคราม !! ทางการค้า ค่าเงินบาท และปัญหาในตะวันออกกลาง กระทบ “ส่งออก” ไทย ..ไม่ถึงฝัน เร่งเครื่องโค้งสุดท้าย

วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2562

พิษสงคราม !! ทางการค้า ค่าเงินบาท และปัญหาในตะวันออกกลาง กระทบ “ส่งออก” ไทย ..ไม่ถึงฝัน เร่งเครื่องโค้งสุดท้าย


พิษสงครามทางการค้า ค่าเงินบาท และปัญหาในตะวันออกกลางฉุดตัวเลขส่งออกเดือนส.ค.หดตัว 4 % พาณิชย์เร่งขยายตลาดเก่า-ใหม่ดันยอดให้ได้เดือนละ 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หวังยอดรวมทั้งปีไม่ติดลบ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกไทยในเดือนส.ค. มีมูลค่า 21,915 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 19,862 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 14.6% ส่งผลให้การค้าเกินดุล 2,053 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ส่งออก 8 เดือนมีมูลค่า 166,091 ล้านเหรียญสหรัฐลดลง 0.3% นำเข้ามูลค่า 159,984 ล้านเหรียญสหรัฐลดลง 3.6 % และการค้าเกินดุล 6,106 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นผลมาจากปัญหาของสงครามการค้าที่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่กลับมาหดตัวมากขึ้น ประกอบกับการส่งออกสินค้าเกษตรชะลอตัวลงตามอุปทานในตลาดโลกและค่าเงินบาทที่แข็งค่า นอกจากนี้ยังปัญหาในตะวันออกกลางส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและทำให้คำสั่งซื้อลดลง

สำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัว 4.4 % โดยสินค้าสำคัญที่ยังส่งออกได้ดี เช่น ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 26.8% น้ำตาลทราย 15.3% ไก่สดแช่เย็นและแปรรูป 5.6% ขณะที่สินค้าเกษตรที่หดตัวได้แก่ข้าว หดตัว 44.7% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว 25.3% ยางพารา หดตัว 7.2% กุ้งสดแช่แข็งและกุ้งแปรรูป เครื่องดื่มหดตัว 8.9% เป็นต้น ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาหดตัว 1.9 % สินค้าอุตสาหกรรมยังที่ขยายตัวดี เช่น อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ 51.1% ทองคำ 377.5% รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ 9.2% ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวได้แก่สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันหดตัว 27.7% รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว 12.6% เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 10.5% เป็นต้น

ภาพรวมของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัยหลักส่งผลให้ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าจนราคาสินค้าเกษตรสำคัญบางชนิดถูกกระทบ เช่น ข้าว โดยหลายประเทศหันไปซื้อข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งเวียดนามและเมียนมาแทน จึงคาดการณ์ว่าจะส่งออกข้าวไทยไม่ถึง 10 ล้านตันแน่นอน ดังนั้น จะหารือกับผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์เร่งปรับเปลี่ยนวิธีการทำตลาดข้าวไทยและเตรียมนำคณะเยือนประเทศคู่ค้า เพื่อเร่งเชิญชวนหันกลับมาซื้อข้าวไทยเช่นเดิม รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า และความไม่มั่นคงสถานการณ์ในตะวันออกกลางส่งผลให้เกิดความผันผวนราคาน้ำมันตลาดโลกก็ส่งผลต่อการส่งออกของไทยกลับมาติดลบ”

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯต้องเร่งขยายตลาดเพื่อการส่งออกให้มากขึ้น ซึ่งในช่วงที่เหลือของปีนี้หากส่งออกต่อเดือนอยู่ที่ 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐจะทำให้การส่งออกทั้งปีอยู่ที่ 0% `โดยจะเน้นตลาดใหม่และตลาดเก่า จากเดิมคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 3% หรือจะต้องผลักดันส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนถึง 23,600 ล้านเหรียญสหรัฐคงทำได้ยาก เพราะหลายปัจจัยที่ยังไม่ค่อยดีนัก แต่เชื่อว่าการร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชนจะทำให้การส่งออกของไทย แม้จะไม่เป็นบวกมากนัก แต่สามารถรักษาฐานการส่งออกไว้ได้

รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามการค้า ตลอดจนค่าเงินบาทที่แข็งค่ายังเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 62 ทำให้การส่งออกของไทยในปีนี้มีแนวโน้มหดตัวเข้าหากรอบล่างของประมาณการส่งออกไทยที่ -2.0 ถึง 1.0 แม้การส่งออกทองคำจะขยายตัวในระดับที่สูงต่อเนื่อง แต่คงไม่เพียงพอที่ชดเชยผลกระทบทางลบจากปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่มีผลกระทบต่อปริมาณการค้าโลก และการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี

นอกจากนี้ประเมินว่า หากต้องการให้ภาพรวมการส่งออกของไทยไม่หดตัวในปีนี้ มูลค่าส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีอีก 4 เดือนจะต้องขยายตัวเฉลี่ย 4.5% ต่อปี หรือมีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยราวอีกเดือนละ 21,720 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งภายใต้บรรยากาศความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกดังกล่าว นับเป็นความท้าทายอย่างมาก

*** หมายเหตุ ***

มูลค่าการค้าเดือน ส.ค.62  มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐ) อัตราการขยายตัว (%)

การส่งออก 21,915 -4

การนำเข้ามีมูลค่า 19,862 -14.6

มูลค่าการค้า 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.62)  มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐ) อัตราการขยายตัว (%)

การส่งออก 166,091 -0.3

การนำเข้ามูล 159,984 - 3.6

ที่มา : กระทรวงพาณิชย์



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ