‘เกาะเกร็ด’ อัญมณีริมเจ้าพระยา ต้นแบบหมู่บ้าน CIV

วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2562

‘เกาะเกร็ด’ อัญมณีริมเจ้าพระยา ต้นแบบหมู่บ้าน CIV


กสอ. นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมความสำเร็จต้นแบบหมู่บ้าน CIV เกาะเกร็ด จ.นนทบุรี สัมผัสวิถีชุมชนมอญ อัตลักษณ์ท้องถิ่น อัญมณีริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ปลื้มนักท่องเที่ยวเพิ่มร้อยละ 70 พร้อมพัฒนาต่อยอดสร้างมาตรฐาน ท่องเที่ยวโฮมสเตย์ จัดแพคเกจกระจายรายได้ให้ชุมชน

นายจารุพันธุ์ จารโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) ที่ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งมีประมาณ 3 ล้านรายทั่วประเทศ โดยหนึ่งในโครงการ ที่ กสอ. ได้ดำเนินการ คือโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village: CIV) หรือ “หมู่บ้าน CIV”

สำหรับชุมชนเกาะเกร็ด เป็น 1 ใน 9 ชุมชนพื้นที่นำร่องต้นแบบหมู่บ้าน CIV ระยะแรกที่มีความพร้อม ทั้งด้านศักยภาพ มีสภาพภูมิประเทศที่ดี มีทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว อยู่ในเส้นทางการท่องเที่ยวและการคมนาคมสะดวก นอกจากนี้ยังมีประเพณีวัฒนธรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ มีการประกอบการชีพ วิถีชีวิตและภูมิปัญญาที่คนภายนอกสามารถเข้าไปเรียนรู้กับคนในชุมชนได้ และมีการบริหารจัดการที่ดี

เดิมมีนักท่องเที่ยวในพื้นที่เกาะเกร็ดร้อยละ 40 แต่เมื่อ กสอ. ได้เข้ามาดำเนินโครงการหมู่บ้าน CIV พบว่านักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 70 ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน และเพื่อให้การท่องเที่ยว เกาะเกร็ดมีความน่าสนใจมากขึ้น จึงมีการจัดระบบการท่องเที่ยวใหม่ เช่น การกำหนดปฏิทินการท่องเที่ยว การทำแพ็คเกจท่องเที่ยว 2 วัน 1 คืน รวมถึงการสร้างกิจกรรมของชุมชน โดยเฉพาะการแสดงที่เน้นชูอัตลักษณ์ ชาวมอญ ซึ่งเกาะเกร็ดมีคนไทยเชื้อสายมอญอยู่มากถึงร้อยละ 40 อีกร้อยละ 15 เป็นชาวไทยมุสลิม นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ เช่น พัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็น มัคคุเทศก์น้อย นำนักท่องเที่ยวเที่ยวชมในพื้นที่ ส่วนผู้สูงอายุ นำมาอบรม พัฒนาความรู้ เพื่อสร้างสรรค์ และพัฒนาสินค้าหรือกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวสนใจเป็นเสน่ห์ของชุมชน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวขึ้นเป็นร้อยละ 90 แน่นอน

พร้อมยืนยันว่า กสอ. จะยังคงเป็นพี่เลี้ยงในการประคับประคองชุมชนเกาะเกร็ด ให้ก้าวต่อไปในเรื่องที่ต้องพัฒนา เพราะต้นทุนของที่นี่มีแล้วหากปล่อยทิ้งไปไม่พัฒนาจะทำให้เสียหาย กลายเป็นว่าทำแค่เสร็จแต่ไม่เคยสำเร็จ ซึ่งนโยบายของ กสอ. ในการทำโครงการหมู่บ้าน CIV เราไม่เน้นจำนวนหมู่บ้าน แต่เน้นความยั่งยืนและการทำให้ชุมชนมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดี นายจารุพันธุ์ กล่าวทิ้งท้าย

ด้านนายสุรัตน์ บัวหิรัญ ประธานกลุ่มหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา กล่าวว่า ชุมชนเกาะเกร็ดเกิดขึ้นจากการขุดคลองลัดบริเวณที่เป็นแหลมตัดขาดออกจากแผ่นดินใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2265 โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน มีเนื้อที่โดยประมาณ 2,600 ไร่ หรือ 4.2 ตารางกิโลเมตร ต่อมาชาวมอญที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่เกาะเกร็ดเมื่อปี 2317 ในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชและสมัยรัชกาลที่ 2 มาพบแหล่งดินที่พอเหมาะในการทำเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งจะทำกันในหมู่ที่ 17 และ 6 ซึ่งมีคนไทยเชื้อสายมอญร้อยละ 40 ของคนในพื้นที่ ส่วนริมน้ำบริเวณหมู่ที่ 2,3 จะเป็นชุมชนมุสลิมซึ่งข้ามมาจากฝั่งตำบลท่าอิฐประมาณร้อยละ 15 ของคนในพื้นที่ มีอาชีพทำสวน ทำงานหัตถกรรมด้านต่าง ๆ ส่วนที่เหลือจะเป็นคนไทย คนไทยเชื้อสายจีน จะทำนาและทำสวน ซึ่งในปี 2559 มีผู้เข้าร่วมโครงการหมู่บ้าน CIV 13 ราย และในปี 2561 มีผู้เข้าร่วมโครงการ 17 ราย รวมเป็น 30 ราย โดย กสอ. ได้เข้ามาช่วยเหลือด้านการอบรม ให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ ซึ่งมีหลายรายที่นำมาปรับใช้และประสบผลสำเร็จ มียอดขายเพิ่มขึ้น



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ