ภาษีน้ำตาล ‘อ้อย’ 3 แสนล้าน หวาน..สะเทือน!

วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ภาษีน้ำตาล ‘อ้อย’ 3 แสนล้าน หวาน..สะเทือน!


1 ต.ค. ที่ผ่านมา ดีเดย์ สรรพสามิตปรับเพิ่มภาษีความหวานรอบใหม่ สะเทือนอุตสาหกรรม อ้อย-น้ำตาลเหตุผู้ผลิตเปลี่ยนสูตรสินค้าใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลทราย ส่งผลต่อความต้องการอ้อยที่นำมาผลิตน้ำตาลลดลงตามไปด้วย สอน.จับตาใกล้ชิด พร้อมตั้งความหวังอุตฯชีวภาพหนุนอ้อยรุ่งโรจน์กว่าเดิม

จากข้อมูลของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยมากกว่า 20 ช้อนชาต่อวัน ทั้งๆที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้รับประทานได้เพียง 6 ช้อนชาต่อวันเท่านั้น ซึ่งเครื่องดื่มประเภทน้ำหวาน เช่น น้ำอัดลม ชาเขียว ล้วนแล้วแต่มีส่วนผสมของน้ำตาลในปริมาณมาก จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่รัฐบาลจะนำมาคิดคำนวณเป็นภาษีโดยเป็นอัตราก้าวหน้าคือยิ่งน้ำตาลมากยิ่งเสียภาษีมาก

โดยวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมาจะเป็นการเก็บภาษีความหวานรอบที่ 2 โดยก่อนหน้านี้มีผลไปแล้วหลังคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการปรับภาษีที่เกี่ยวข้องกับภาษีสรรพสามิต ปรับเกณฑ์การเสียภาษีสินค้าทุกชนิดที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต รวมถึงภาษีความหวานโดยมีผลตั้งแต่ 16 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา

*** ยิ่งหวานมากยิ่งจ่ายแพง

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมฯขอย้ำเตือนว่าในวันที่ 1 ต.ค.62 นี้ จะมีการปรับภาษีความหวานเพิ่มขึ้นอีกรอบ หากผู้ผลิตยังไม่สามารถลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มได้จะต้องเสียภาษีอีกเท่าตัว โดยอัตราภาษีความหวานตั้งแต่ 1 ต.ค.62 ถึง 30 ก.ย.64 มีดังนี้ เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลไม่เกิน 10 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เก็บภาษีเท่าเดิมที่ 0.30 บาทต่อลิตร เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 กรัม แต่ไม่เกิน 14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาทต่อลิตรจากเดิมเสียภาษี 0.50 บาทต่อลิตร เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 14 กรัม แต่ไม่เกิน 18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 3 บาทต่อลิตร จากเดิม 1 บาท และ เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 5 บาทต่อลิตร และจะมีการปรับภาษีแบบขั้นบันไดแบบเท่าตัวอีกครั้งในช่วง 1 ต.ค.64-30 ก.ย.66 และ 1 ต.ค.66 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าที่ผ่านมาราคาเครื่องดื่มที่ปรับตัวสูงขึ้นไม่ได้มาจากการขึ้นภาษี แต่สาเหตุที่ขึ้นมาจากต้นทุนอื่นที่เปลี่ยนแปลง

*** ผู้ประกอบการเร่งปรับตัว

การปรับขึ้นภาษีดังกล่าว ทำให้กลุ่มผู้ผลิตเครื่องดื่มที่มีความหวานเกินกำหนดจะต้องเสียภาษีมากขึ้น เช่น น้ำอัดลม ชาเขียว เครื่องดื่มบำรุงกำลัง กาแฟกระป๋อง น้ำผลไม้ เครื่องดื่มปรุงแต่งต่าง ๆ ตัวอย่างเช่นน้ำอัดลมกระป๋องขนาด 250 ซี.ซี. จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 10 สตางค์ ส่วนผู้ประกอบการจะเพิ่มราคากับผู้บริโภคหรือไม่ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ทางการตลาดของผู้ผลิต ซึ่งผู้ประกอบการบางส่วนก็มีการปรับสูตรการผลิต ลดน้ำตาลจาก 14 กรัมต่อลิตร เหลือ 12 กรัมต่อลิตร เพื่อเสียภาษีให้ต่ำลง อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มน้ำอัดลมส่วนใหญ่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงสูตร เพราะเป็นตลาดใหญ่ของผู้บริโภค ผู้ประกอบการจึงเกรงว่าหากมีการปรับเปลียนรสชาติอาจกระทบต่อยอดขายได้

*** จับตาผลกระทบอ้อยและน้ำตาล

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยถึงกรณีการขึ้นภาษีความหวานว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) อยู่ระหว่างติดตามภาวะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอย่างใกล้ชิด หลังรัฐบาลประกาศปรับขึ้นภาษีความหวานที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค. 2562 เนื่องจากมีความกังวลว่าอาจทำให้ภาคเอกชนหลายรายเปลี่ยนสูตรการผลิตสินค้าบริโภคมาใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลทราย ส่งผลต่อความต้องการอ้อยที่นำมาผลิตน้ำตาลลดลงตามไปด้วย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาพรวมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในระยะข้างหน้า

นางวรวรรณกล่าวอีกว่า การขึ้นภาษีความหวานอาจเป็นเพียงสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สต๊อกน้ำตาลสูงขึ้น เพราะยังต้องขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาลเป็นอีกปัจจัยด้วย เพราะปัจจุบันกระแสรักสุขภาพลดการบริโภคน้ำตาลมาแรง เห็นได้จากการจำหน่ายน้ำตาลให้ผู้บริโภคทางอ้อม เช่น ผู้ผลิตเครื่องดื่มและขนมลดลง 1 หมื่นตัน อยู่ที่ 5.7 แสนตัน จากปีก่อนอยู่ที่ 5.8 แสนตัน

สำหรับในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค. 2562) ไทยมีปริมาณบริโภคน้ำตาลทรายแล้ว 1.46 ล้านตัน จากคาดการณ์ความต้องการบริโภคปีนี้ทั้งปีประมาณ 2.6 ล้านตัน ใกล้เคียงกับปี 2560 อยู่ที่ 2.6 ล้านตัน และปี 2561 อยู่ที่ 2.5 ล้านตัน ขณะที่ภาพรวมการบริโภคน้ำตาลในประเทศและการส่งออกมีอัตราการขยายตัวค่อนข้างคงที่ประมาณ 5-6% ต่อปี ส่งผลให้ปริมาณสต๊อกน้ำตาลทรายเพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่สถานการณ์อ้อยและน้ำตาลทรายของไทยในช่วงที่ผ่านมาพบว่าพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น ทำให้มีปริมาณอ้อยเข้าหีบและผลผลิตน้ำตาลสูงขึ้นเฉลี่ย 12-14% ส่วนการนำอ้อยและผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลไปต่อยอดในอุตสาหกรรมชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มตามนโยบายรัฐบาลนั้น ถือเป็นแนวทางที่ดี ทั้งยังช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ซึ่งสอน. จะดำเนินอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งดูแลระบบแบ่งปันผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลให้เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

*** Bioeconomy อนาคตใหม่ชาวไร่อ้อย

จากปัญหาทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายทั่วโลก ส่งผลให้โลกร้อนกลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในทุกประเทศ ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมาได้มีการกล่าวถึงเศรษฐกิจลดโลกร้อน เป็นกระแสที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด เศรษฐกิจที่ว่านี้คือไบโออีโคโนมีหรือเศรษฐกิจชีวภาพนั่นเอง ไบโออีโคโนมีเป็นการนำ 2 ตัวแปรสำคัญ ได้แก่ เกษตรกรรมสมัยใหม่ และ Biorefinery มาบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยี และ การวิจัยและพัฒนา เพื่อให้เกิดคุณค่าสร้างมูลค่าเพิ่มซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนจากเศรษฐกิจฐานเกษตรกรรมไปเป็นเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม โดยไบโออีโคโนมีจะใช้สินค้าเกษตรจากอ้อยและมันสำปะหลังเป็นหลัก ที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาพลังงานชีวภาพ เช่น เอทานอล พลังงานไฟฟ้าชีวมวล เป็นต้น ขณะที่ในด้านอุตสาหกรรมได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวเคมี ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ตลอดจนอุตสาหกรรมทางชีวเภสัชภัณฑ์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่และมีอนาคต และต้องมีการลงทุนทางด้านการวิจัยและพัฒนาจำนวนมาก

*** เปิดแผน 10 ปี Bio Hub

สำหรับแผนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาไบโออีโคโนมีในระยะเวลา 10 ปี มีกรอบการลงทุนคิดเป็นมูลค่าประมาณ 4 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปี 2560-2561 เงินลงทุนประมาณ 51,000 ล้านบาท เพื่อต่อยอดการพัฒนาพลังงานชีวภาพ เคมีชีวภาพ อาหาร และชีวเภสัชภัณฑ์ ผลักดันการสร้างอุปสงค์และตลาด ระยะที่ 2 ปี 2562-2564 เงินลงทุนประมาณ 182,000 ล้านบาท เพื่อสร้าง Biorefinery Complexes ที่ครบวงจร และเมืองใหม่บนเศรษฐกิจชีวภาพและนวัตกรรมอย่างครบวงจร หรือ Biopolis และระยะที่ 3 ปี 2565-2569 เม็ดเงินลงทุนประมาณ 132,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับสู่ Regional Hub เป็นต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ตั้งแต่ห้องแลปไปจนถึงโรงงานต้นแบบซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน ผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็น Bio Hub ทั้งการผลิตอาหารแห่งอนาคตและศูนย์กลางนวัตกรรมด้านไบโออีโคโนมีในภูมิภาค

*** สร้างงาน สร้างเงิน เพิ่มรายได้

คาดว่าภายใน 10 ปีมูลค่าการลงทุนไบโออีโคโนมีในเมืองไทยตลอด Value Chain จะมากกว่า 4 แสนล้านบาท และในปีที่ 10 จะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับอ้อยได้มากกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี มันสำปะหลังกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี โดยเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มเป็น 75,000 บาทต่อคนต่อปี มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นทั้งในโรงงานผลิตและการวิจัยที่เกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 20,000 ตำแหน่ง และที่สำคัญยังเป็นการลดคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการใช้ฟอสซิลได้มากถึง 70 ล้านตัน

*** ทั่วโลกตอบรับผลิตภัณฑ์ชีวภาพ

ข้อมูลจากศูนย์ EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ความต้องการผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะส่งผลให้มีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพมากขึ้น เช่น หลายประเทศได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มการใช้ไบโอพลาสติกเพื่อสร้างตลาดและความต้องการในประเทศ เช่น ญี่ปุ่นที่มีเป้าหมายเพิ่มการใช้ไบโอพลาสติกจากราว 70,000 ตัน ในปี 2013 เป็น 2 ล้านตันภายในปี 2030 สหรัฐที่มีมาตรการบังคับให้หน่วยงานภาครัฐซื้อสินค้าจากอุตสาหกรรมชีวภาพ และสหภาพยุโรปที่มีการเสนอให้บรรจุภัณฑ์มีการใช้วัตถุดิบที่ทำจากวัสดุชีวภาพ 10% ภายในปี 2030 โดย European Bioplastics คาดการณ์ว่ากำลังการผลิตพลาสติกชีวภาพโลกจะเพิ่มราว 24% จาก 2.11 ล้านตันในปี 2018 เป็น 2.62 ล้านตันในปี 2023

*** มูลค่าสะพัดทั่วโลก 7.5 ล้านล้าน

World Economic Forum ได้ประมาณการศักยภาพของห่วงโซ่คุณค่าของเศรษฐกิจชีวภาพของโลกจะมีมูลค่าสูงกว่า 2 แสนล้านยูโร หรือ 7.5 ล้านล้านบาท ภายในปี 2563 ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง ได้แก่พลาสติกย่อยสลายได้ที่ผลิตจากวัตถุดิบชีวภาพ อาทิ อ้อย มันสำปะหลัง อาหารแห่งอนาคตที่ผลิตพิเศษตรงตามความต้องการเฉพาะบุคคล ยารักษาโรคที่ผลิตขึ้นสอดคล้องกับ DNA ของคนไข้แต่ละราย (Personalized medicines) และพลังงานไฮโดรเจน (พลังงานแห่งอนาคต) ที่ผลิตจากกลูโคส เป็นต้น ไบโออีโคโนมีจึงเป็นทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งอนาคตของทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย และเป็นอนาคตใหม่ของชาวไร่อ้อย



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ