‘เกษตรฯ’ จูบ ‘พาณิชย์’ ผุด..บิ๊กดาต้า หนุน! ออนไลน์ 3 ล้านล้าน

วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2562

‘เกษตรฯ’ จูบ ‘พาณิชย์’  ผุด..บิ๊กดาต้า หนุน! ออนไลน์ 3 ล้านล้าน


กระทรวงเกษตรฯเปิดมิติใหม่บูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ จัดประชุมทูตเกษตร-ทูตพาณิชย์ทั่วโลก ผนึกกำลังพาสินค้าเกษตรไทยตีตลาดต่างแดน ผุด บิ๊กดาต้าดึงข้อมูลจากทุกกรมฯรวมในแอพฯเดียว หวังเกษตรกรเข้าถึงข้อมูลแบบง่ายๆชี้เกษตรยุคใหม่ต้องใช้โซเชียลเปลี่ยนระบบความคิด ปลูกพืชตามแนวโน้มความต้องการของตลาดโลกในอนาคตไม่ใช่ปลูกตามกระแสเหมือนในอดีตต้องยอมรับว่าปัจจุบันโซเชียลเน็ต-เวิร์กได้เข้ามามีบทบาทต่อธุรกิจ อุตสาห-กรรมรวมถึงในภาคการเกษตร

จากข้อมูลในปี 2560 ประเทศไทยมีมูลค่า e-Commerce เป็นจำนวนทั้งสิ้น 2,762,503.22ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้าสูงถึง 7.91% และถือเป็นประเทศที่มีมูลค่า e-Commerce สูงสุดอันดับ 1ในอาเซียน ขณะที่ปี 2561 มูลค่า e-Commerce สามารถแตะที่ 3 ล้านล้านบาท ได้เป็นครั้งแรก เพิ่มขึ้น 14.04% จากปี 2560 ด้วยปัจจัยบวกหลายๆ ด้าน ทั้งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เข้าสู่การเป็น Online User มากขึ้น ประกอบกับความหลากหลายของแพลตฟอร์ม e-Commerce ที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เกิดการแข่งขันของผู้ประกอบการแต่ละแพลต ฟอร์มในการพัฒนาระบบการบริการและความปลอดภัยนำมาซึ่งประโยชน์และความหลากหลายที่ผู้บริโภคจะได้รับโซเชียลเทรนด์เพิ่มโอกาสสินค้าเกษตร

นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐ มนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษการทำการเกษตรยุคใหม่ให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนในงานสัมมนา เกษตรออนไลน์ รวยได้ง่ายนิดเดียวจัดโดยหนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ ณ โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่า การนำสื่อสารยุคใหม่มาใช้ในวงการเกษตรจะทำให้พี่น้องเกษตรกรมีโอกาสและการเติบโตมากขึ้นนอกจากจะเป็นช่องทางการค้าแล้ว ยังเปิดช่องให้ศึกษาเทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่อีกด้วย ยกตัวอย่างอาจารย์ท่านหนึ่งเป็นนักวิจัย เอาเทรนด์โลกมาดูรู้ว่าวันนี้เทรนด์โลกไม่บริโภคน้ำตาล ห่วงสุขภาพไม่บริโภคแป้ง บริโภคอาหารอินทรีย์ ไม่มีสารเคมี ท่านก็ไปทำข้าวซึ่งท่านศึกษามาแล้วว่าข้าวถ้าเก็บเกี่ยวก่อนที่จะสุกเล็กน้อย แป้งจะน้อย ให้เกี่ยวตอนนั้น แล้วทำเป็นข้าวเขียว ซึ่งน้ำนมจะเยอะกว่า ปริมาณแป้งจะต่ำกว่า ตรงตามเทรนด์ความต้องการในตลาดสามารถเพิ่มมูลค่าการขายได้สูงขึ้น นี่คือหนึ่งตัวอย่างการใช้เครื่องมือยุคใหม่มาประยุกต์ใช้ในการทำการเกษตรปรับระบบบิ๊กดาต้าเข้าถึงข้อมูลแบบง่ายๆ

นายนราพัฒน์ กล่าวอีกว่า วันนี้กระทรวงเกษตรกำลังปรับเปลี่ยนโครง-สร้างบางอย่างในกระทรวงเพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น เราประชุมร่วมกันเรียกหน่วยงานมาทั้งหมดว่ากระทรวงเกษตรต่อไปนี้จะต้องทำในเรื่องของข้อมูลข่าวสารและจะต้องทำให้การใช้บิ๊กดาต้าเกิดประโยชน์มากที่สุด วันนี้บิ๊กดาต้าหรือข้อมูลถูกเก็บไว้ในแต่ละกรมฯทุกกรมฯจะมีแพลตฟอร์ม ทุกกรมฯจะมีข้อมูล แต่ไม่เคยนำมาบูรณาการร่วมกันแต่วันนี้เราจะตั้งจุดศูนย์กลางเพื่อนำข้อมูลจากทุกกรมฯมาบูรณาการร่วมกัน ถามว่าเกษตรกรจะได้อะไรท่านจะรู้ข้อมูล ผลผลิตรวม แนวนโยบาย ข้อมูลเชิงวิชาการต่างๆ ข้อมูลเรื่องน้ำ ภูมิอากาศ อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตรมีข้อมูลบอกได้เลยว่าปีนี้ฝนจะมาล่าช้า แจ้งไปยังเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดให้ชะลอการปลูกไปสักหนึ่งเดือนอย่างนี้เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้พี่น้องเกษตร-กรเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ เกษตรตำบลจะต้องทำการบ้านดูแลเกษตรกรอย่างทั่วถึง

*** บูรณาการเกษตร-พาณิชย์

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรฯ กล่าวต่อว่า จะต้องทำอย่างไรก็ตามให้พืชผลเกษตรทุกชนิดอยู่ได้ ทำแล้วไม่ขาดทุนซึ่งจะเป็นฝีมือของรัฐมนตรีแต่ละท่านในการบริหารทำยังไงจะให้ข้าวราคาเกินหมื่นเพื่อรัฐจะไม่ต้องชดเชยส่วนต่าง ทำยังไงจะให้ผลไม้ราคาดี ส่งออกได้ดีถ้าใครติดตามข่าวจะเห็นว่ารัฐมนตรีกระทรวง เกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์ยุคนี้ ทำงานหนักมากต้องเดินทางไปเปิดตลาดในหลายพื้นที่ เมื่อ 2 อาทิตย์ก่อนเรามีการจัดประชุมโดยเชิญอัครราชทูตฝ่ายการ เกษตรอัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการเกษตร ประชุมร่วมกับอัครราชทูตฝ่ายการพาณิชย์อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์ ซึ่งประจำอยู่ทั่วโลก ซึ่งไม่เคยประชุมร่วมกันเลย ที่ผ่านมาพาณิชย์ก็พาณิชย์เกษตร ก็เกษตร และหลายครั้งเกษตรกับพาณิชย์ก็มักจะโยนกันไปโยนกันมา ขายไม่ได้ราคาไม่ดีก็โทษพาณิชย์ เปิดตลาดไม่ได้ ส่งออกไม่ได้ ก็โทษเกษตรคุณภาพไม่ดี มีสารเจือปนแต่วันนี้เป็นนิมิตหมายที่ดีที่กระทรวงเกษตรและกระทรวงพาณิชย์ภายใต้รัฐมนตรีที่มาจากพรรคการเมืองเดียวกัน ทูตเกษตรและทูตพาณิชย์มาประชุมร่วมกัน ขอให้ทำงานร่วมกันเปิดตลาดให้มากขึ้น เกษตรต้องควบคุมคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรให้ดีเป็นที่ยอมรับ พาณิชยก็ต้องเปิดตลาดเป็นเซลส์แมนขายของ ซึ่งจะทำให้โอกาสและราคามีเสถียรภาพมากขึ้น

*** นาแปลงใหญ่ตอบรับเทคโนโลยี

นายนราพัฒน์ ยังกล่าวถึงโครงการเกษตรแปลงใหญ่ว่า เป็นหนึ่งในหัวใจการเปลี่ยนตัวเองเป็นสมาร์ทฟาร์เมอร์ถามว่าทำไมเราต้องเปลี่ยน เนื่องจากแต่ละประเทศมีมาตรฐานสูงขึ้นการจะทำการเกษตรเหมือนเมื่อก่อนก็คงจะทำได้ยาก เราต้องพัฒนาตัวเองและเปลี่ยนตัวเอง เกษตรแปลงใหญ่ 300ไร่ 30 คนจับมือร่วมกันลดต้นทุน มีเครื่องมือเครื่องจักรเอามาใช้งานได้ คุ้มกับการใช้เทคโนโลยี เช่นตอนนี้มีโดรนทางการเกษตร แต่ถ้าทำกันแค่ 10 ไร่ 20 ไร่ 50 ไร่ ใช้โดรนไม่คุ้ม แต่ถ้าเป็นเกษตรแปลงใหญ่ 300 ไร่ 400 ไร่ 500 ไร่ เทคโนโลยีอย่างนี้คุ้มกับการ ที่จะลงทุน วันนี้เกษตรกรรุ่นใหม่สั่งการผ่านมือถือเรากำลังปลุกคนรุ่นใหม่ที่เมื่อก่อนไม่ได้สนใจการเกษตรให้เข้ามาสู่ภาคการเกษตรเมื่อก่อนเกษตรต้องขายผ่านพ่อค้าคนกลาง แต่วันนี้เกษตรกรเป็นผู้หาตลาดเอง เปิดตลาดเองเราสามารถขายออนไลน์ได้ เราสามารถหาข้อมูลแมตชิ่งระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายได้ด้วยระบบ โซเชียลสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นการพัฒนาเกษตรกรในยุคถัดไปซึ่งจะไม่เหมือนเดิม และผมเชื่อว่าในอนาคตข้างหน้า 80-90%จะต้องทำเรื่องเหล่านี้ เป็นทั้งเกษตรและพาณิชย์อยูในคนเดียวกัน คือเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ขายในคนเดียวกันสมาร์ทฟาร์เมอร์ต้องเปลี่ยนแนวคิด

นายนราพัฒน์ กล่าวปิดท้ายว่า ความสำคัญอีกอย่างคือเราต้องย้อนแนวความคิดเมื่อก่อนกระแสอะไรมาแรงก็ปลูกสิ่งนั้น แต่วันนี้เราต้องวิเคราะห์ว่าประเทศนั้นประเทศนี้ขาดอะไรอะไรน่าจะเป็นตัวที่สามารถขายได้มากที่สุด ตอนนี้หลายประเทศในยุโรปต้องการใบกะเพราที่เยอรมนีกิโลละเป็นพันบาท ผมคุยกับภาคอุตสาหกรรมผู้ส่งออก เขาบอกว่าหากะเพราส่งออกไม่ได้ต้องการเป็นหมื่นๆตัน สุดท้ายได้แค่บางส่วน เพราะเรามีสารปนเปื้อน สารตกค้าง มีแมลงศัตรูพืช ไม่ผ่านเกณฑ์ไม่สามารถส่งออกไปประเทศเยอมนีได้ ทั้งที่ตลาดยังเปิดกว้างให้กับพวกเราเยอะแยะ ที่ผ่านมาเราขายจีนแต่วันนี้จะทะลุจีนไปอีก ไปรัสเซีย ฮัมบรูกส์ ถามว่าต้องทำอย่างไร ก็อยู่ที่เทคโนโลยีในการเก็บรักษาทางโน้นต้องการมาก แต่ปัญหาของเราคือผลไม้เราอยู่ได้ไม่นานเพียงพอหรือถ้าอยู่ได้นานแต่มีสารตกค้างเขาก็ไม่ รับเพราะฉะนั้นตอนนี้กระทรวงเกษตรพยายามหาข้อมูลวิจัยว่าทำอย่างไรจะสามารถขยายอายุผลไม้ใส่ตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นส่งไปรัสเซียออกไปฮัมบรูกส์ไปยุโรปได้มากขึ้น ถ้าเรามองแบบนี้จะไม่มีปัญหาล้นตลาดแต่ถ้าเรายังคิดเหมือนเดิม ราคายางดีโค่นต้นทุเรียนปลูกยางพอยางราคาตกโค่นยางปลูกทุเรียนมันก็จะวนไปวนมาไม่จบ แต่เราต้องมองจากทั่วโลก ซึ่งวันนี้ข้อมูลหาง่ายมากกระทรวงเกษตรจะทำข้อมูลเหล่านี้ให้กับท่าน ถ้าเรารู้ตรงนั้น เรารู้ตลาดและเรามาคิดว่าจะทำอะไรก็จะสามารถเป็นผู้กำหนดราคาได้ ไม่ใช่ให้คนซื้อมากำหนดและบีบเราเหมือนในอดีต

ผมยกตัวอย่างที่จันทบุรีมีการปลูกลำไย ถ้าเทียบกับทางภาคเหนืออาจไม่ได้แต่เชื่อไหมว่าลำไยทางภาคเหนือราคาสู้ที่จันทบุรีไม่ได้เพราะคนภาคเหนือยังปลูกลำไย แบบเดิมคือปลูกไปเลยออกมายิ่งมาก ยิ่งดี แต่เมื่อผลผลิตมากคุณภาพก็ไม่ดี ลำไยเม็ดเล็ก ในขณะที่จันทบุรี ตัดแต่งกิ่ง ตัดช่อนั้นออกเอาช่อนี้ไว้ ด้วยการใช้เทคโน- โลยีการตัดแต่งกิ่ง ทำให้ได้ลำไยเม็ดใหญ่ ราคาสูงขายได้มูลค่าสูงกว่าลำไยทางภาคเหนือเพราะฉะนั้นวันนี้จึงต้องพยายามไปพูดกับเกษตรกรที่ปลูกลำไยในภาคเหนือให้พยายามใช้การเรียนรู้ในเรื่องของวิชาการเกษตรเข้าไปช่วย นี่คือสิ่งที่เรากำลังเปลี่ยนโลกของเกษตรกรให้เป็นเกษตรกร 4.0

*** ‘กรุงเก่าหนุนเต็มที่

ด้าน นายศุกร์วิบูลย์ ปิ่นนิกร ปลัดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวปาฐกถาพิเศษจังหวัดพระนครศรีอยุธยากับการสนับสนุนเกษตรยุคใหม่ว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญ เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศเป็นเมืองหลวงเก่ามีความเป็นมาที่ยาวนานโดยเฉพาะในเรื่องการค้าสมัยกรุงศรีอยุธยามีชาวต่างชาติเข้ามาเป็นจำนวนมากและหลายชนชาติบางกลุ่มมาตั้งรกรากอยู่จนถึงปัจจุบัน เช่น หมู่บ้านโปรตุเกส หมู่บ้านฮอลันดา หมู่บ้านญี่ปุ่นการค้าที่เจริญรุ่งเรืองย่อมหมายถึงสินค้าเกษตรด้วย เพราะอยุธยาปลูกข้าวเป็นหลักมาถึงรุ่นปัจจุบันลูกหลานก็ยังทำเกษตรกันอยู่เพราะเป็นเรื่องสำคัญ เป็นความมั่นคงด้านอาหารเรามีพื้นที่การเกษตรประมาณ 9 แสนไร่ ทำการเกษตรประมาณ 7 แสนไร่ มีทุ่งรับน้ำประมาณ 7ทุ่งเพื่อรองรับน้ำหลากที่มาจากทางเหนือพอพื้นที่นาว่างน้ำเหนือหลากมาก็เอาน้ำเข้าทุ่งปล่อยปลาเลี้ยงเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรคือโครงการปล่อยน้ำเข้านา ปล่อยปลาเข้าทุ่ง

ปลัดจังหวัดพระนครศรีอยุธยากล่าวอีกว่า ตอนนี้เราสนับสนุนการทำนาแปลงใหญ่เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มการจำหน่าย ด้วยการใช้ระบบตลาดนำการผลิต เป็นสมาร์ทฟาร์เมอร์ขายทั้งช่องทางปกติและออนไลน์ และยังมีโครงการต่างๆ ที่จะพัฒนาเกษตรกรให้ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกระแสการค้าออนไลน์ ที่กลายเป็นเทรนด์ใหม่ขยายไปทั่วโลกเนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาเจรจาซื้อขาย ไม่ต้องกังวลกับปัญหาต่างๆสามารถสั่งซื้อได้ในปริมาณตามความ เหมาะสม

งานสัมมนาในวันนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรเป็นอย่างยิ่งการทำธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ ช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้ง่ายไม่จำกัดอยู่เพียงประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังสามารถได้กลุ่มลูกค้าจากทั่วทุกมุมโลกเกษตรกรไทยจึงควรเตรียมพร้อมและเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้อย่างรอบด้านซึ่งถ้าเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ก็สามารถทำสิ่งเหล่านี้โดยง่ายซึ่งอยุธยาก็ได้ดำเนินการสนับสนุนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในจังหวัด อาทิ เกษตรจังหวัดสหกรณ์จังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด ธ.ก.ส. เป็นต้น

ในฐานะที่ผมเคยเป็นผู้บริโภคและซื้อสินค้าออนไลน์การที่จะทำให้คนสนใจซื้อสินค้าออนไลน์คือต้องสร้างจุดสนใจ เช่น ข้าวอินทรีย์ ผักอินทรีย์ถ้าคนที่ชอบเกษตรอินทรีย์เขาก็จะสนใจสั่งซื้ออยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการการทำสินค้าออนไลน์ให้สมบูรณ์แบบคือถ้าเป็นระบบซื้อขายออนไลน์ทั่วไปเข้าระบบแล้ว สั่งซื้อแล้ว สำเร็จ 100%ของสินค้าเกษตรก็อยากให้เป็นแบนนี้ มีความเป็นมาตรฐานเหมือนการค้าออนไลน์ทั่วไป นายศุกร์วิบูลย์ กล่าว

*** ข้าวญี่ปุ่นตันละ 2 ล้านบาท

ดร.สุทธิภัทร อัศววิชัยโรจน์ อาจารย์คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ดกล่าวถึงการทำเกษตรยุคใหม่ว่า ต้องมีเรื่องราวในการนำเสนอต่อผู้บริโภคมากกว่าการผลิตแบบเดิมๆแต่เพียงอย่างเดียว เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ในผลิตภัณฑ์ต่อผู้บริโภคให้เกิดการจดจำในตัวสินค้าจนนำไปสู่การซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โดยยกตัวอย่างเกษตรกรในประเทศญี่ปุ่นที่ทำการผลิตข้าวขึ้นมาในฟาร์มEchigo ซึ่งสามารถขายได้ถึงกิโลกรัมละ 2 พันบาท หรือตันละ 2 ล้านบาท เนื่องจากใช้จุดเด่นของพื้นที่มาเป็นจุดขาย คืออธิบายถึงน้ำที่นำมาทำนาว่าไม่ใช่น้ำทั่วไปแต่เป็นน้ำที่ละลายไหลลงมาจากยอดบนภูเขาหิมะ นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสร้างความแตกต่างจากฟาร์มข้าวออร์แกนิคอื่นๆ การเก็บบ่มเมล็ดข้าวในยุ้งฉางได้ใช้วิธีการเก็บรักษาโดยใช้หิมะปกคลุมเพื่อเป็นการรักษาความชื้นให้กับเมล็ดข้าว ส่งผลให้เมล็ดข้าวไม่แห้งจนเกินไปแม้ว่าข้าวที่เขาขายจะมีราคาแพงถึงกิโลกรัมละ 2 พันบาท แต่ขายดีจนต้องจองล่วงหน้าบางคนมีเงินก็ไม่สามารถซื้อได้เพราะข้าวไม่พอขาย และมีจำนวนจำกัด นี่คืออิทธิพลของสตอรี่และการสร้างความแตกต่างที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร และเอาชนะใจผู้บริโภคอย่างคาดไม่ถึง

*** ใครไม่ปรับตัวไปไม่รอด

นายสุทธีร์ สัปปริสสกุล นักวิชาการพาณิชย์ปฏิบัติการณ์ สำนักตลาดพาณิชย์ดิจิทัล กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า คุณสมบัติของอินเตอร์เน็ตทำให้ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าชนิดไหนภายในไม่เกิน 10 ปีถ้าไม่มีการค้าขายบนโลกออนไลน์ จะสู้คู่แข่งไม่ได้เลย เพราะผู้ซื้อจะไม่บินมาโรงงานแล้วจะหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตเป็นหลัก ยกตัวอย่างบริษัทระดับโลกหลายแห่งไม่ได้ปรับตัวก็เหลือแต่ชื่ออินเตอร์เน็ตทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนแคบเข้า เพราะใครก็เข้าถึงได้ใครปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงก็ต้องเหลือแต่ชื่อ นี่คืออิทธิพลของอินเตอร์เน็ต

การขายสินค้าออนไลน์นับเป็นแนวโน้มที่สดใส ช่วยเพิ่มยอดขายได้อย่างดีเนื่องจากความต้องการของลูกค้าแต่ละคนไม่เหมือนกัน แตกต่างจากการวางสินค้าขายหน้าร้านที่ตำแหน่งดีๆอาจจะวางได้แค่เฉพาะสินค้าที่ขายดีเท่านั้น แต่ในโลกออนไลน์ลูกค้ามีโอกาสและเวลาเลือกสินค้าได้มากกว่าเมื่อผู้ขายมีความกระตือรือร้นที่จะขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ต ในขณะที่ผู้ซื้อมีความต้องการท่องอินเตอร์เน็ตการค้าขายออนไลน์จึงสร้างโอกาสได้มากมาย

การสัมมนาเกษตรออนไลน์ รวยได้ ง่ายนิดเดียว ยังมีเรื่องน่าสนใจที่นำเสนอผ่านเวทีอีกมากมายประกอบด้วย หนึ่งก้าวสู่ตลาดโลกด้วย Alibaba โดย ฐิติอร ศาลิคุปต Service and E-commerce Consultant บริษัทอีทัช จำกัด ภายใต้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, เกษตร IoT เพิ่มมูลค่าผลผลิตด้วยเทคโนโลยี โดย ปรกชลพรมกังวาล ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีอากาศยาน และจตุพงศ์ โตวรรธกวณิชย์ผู้อำนวยการฝ่ายบริการและการจัดการ บริษัท เอส.เอ.ที.ไอ. แพลตฟอร์ม จำกัด ผู้ผลิต ‘โดรนปัญญา’, การเสวนาSMART FARMER เกษตรยุคใหม่ ทำน้อย..ได้มาก โดย ฝนธิป ศรีวรัญญู กรรมการบริหาร บริษัท ไอออนิค จำกัด ณัฐ มั่นคง เจ้าของสวนเมล่อน Coco Melon Farm เกษตรกรในโครงการ dtac Smart Farmer และ นิอร ปฏิทิน เจ้าของสวนดาวเรือง จ.ปทุม ธานี สามารถชมย้อนหลังได้ทางเฟซบุ๊กสยามธุรกิจออนไลน์



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ