‘สมคิด’ถอนตัวหน.ทีมเศรษฐกิจ ซ้ำเติมความเชื่อมั่นรัฐบาลยิ่งดิ่งเหว

วันเสาร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2562

‘สมคิด’ถอนตัวหน.ทีมเศรษฐกิจ  ซ้ำเติมความเชื่อมั่นรัฐบาลยิ่งดิ่งเหว


รัฐบาลผสม 19 พรรคของ พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามา บริหารประเทศเป็นเวลากว่า 2 เดือนที่ผ่านมาต้องถือว่า “ยังไม่เข้าที่เข้าทาง” ทั้งการบริหารจัดการด้านการเมือง และการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ

ในแง่การเมือง รัฐบาลผสม 19 พรรค ทำให้นักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ ไม่มั่นใจว่ารัฐบาลนี้จะบริหารเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมีเสถียรภาพ ประเด็นนี้จึงกลายเป็น จุดอ่อน ของรัฐบาลที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

สำหรับด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลประยุทธ์2/1” ได้รับการคาดหวังจากประชาชนและนักลงทุนว่าจะเข้ามา บริหารเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะชะลอตัวรุนแรง จากผลกระทบสงครามการค้าและความผันผวนของเศรษฐกิจต่างประเทศ ให้ฟื้นตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็วอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาปากท้องของประชาชนที่นับวันจะแย่ลงเรื่อยๆ

ล่าสุด ในการแถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์ มวลรวมประเทศ หรือ จีดีพี ประจำไตร-มาส 2/2562 ของสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เมื่อ 19 ส.ค.62 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าจีดีพีเติบโตเพียง 2.3% เท่านั้น นับว่า ต่ำสุดในรอบ 4 ปีครึ่ง หรือเกือบจะพอๆ กับอายุของรัฐบาล คสช. ที่เข้ามาบริหารประเทศ แปลว่า ห้วงเวลาเกือบๆ 5 ปีของรัฐบาล คสช.แทบไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศเลยก็ว่าได้

เฉพาะอย่างยิ่งตัวเลขการส่งออก ที่มีสัดส่วนถึง 70% ของจีดีพี ได้หดตัว -4.2% นั่นเท่ากับว่าส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ทำให้การลงทุนของภาคเอกชนชะลอตัวลงตามอย่างมาก สิ่งที่ตามมาคือเมื่อการส่งออกเริ่มลดลงส่งผลกระทบ รายได้ของประชาชน ทำให้การบริโภคเริ่มชะลอลง 

ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชน โตน้อยลงไปกว่าเดิมมาก จาก 4.4% ในไตรมาสแรกมาเหลือเพียง 2.2% เพราะเมื่อมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น ผู้ประกอบการต่างระมัดระวัง ซึ่งอาจส่งผลกระทบเกิดกับตัวเศรษฐกิจจริง หรือที่เรียกว่า เรียล เซ็กเตอร์

แม้ว่าการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ที่ 4.4% แต่ก็ชะลอตัวลงต่อเนื่องจากที่เคยเติบโต 4.9% ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ภาคบริการและการท่องเที่ยวเริ่มส่งสัญญาณที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจนจาก 4.9% ในไตรมาสก่อนหน้าเหลือเพียง 3.7% ในไตรมาสนี้

แทบไม่ต้องพูดถึงภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความแห้งแล้ง ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงทั้งหมดเช่นกัน เรียกว่า เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทุกตัวเกือบจะเรียกว่า ดับสนิทก็ว่าได้ 

สำหรับปัจจัยเสี่ยงในอนาคต ยังคงเป็นความเสี่ยงที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวต่ำ ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกรวมถึงสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา การแยกตัวของอังกฤษออกจากอียู ความขัดแย้งของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ รวมทั้งภาวะฝนแล้ง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้

ทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นภาพโดยรวมของประเทศ แต่หากมองลึกเข้าไป “เนื้อใน” ของสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ แล้วยิ่งน่าเป็นห่วงกว่านี้หลายเท่า แม้ตัวเลขการบริโภคจะขยายตัวได้ 4.4% เป็น การขยายตัวในอัตราลดลง แต่ภาระหนี้ภาคครัวเรือนกลับสูงถึง 13 ล้านล้านบาท

ปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำลงเรื่อยๆ ตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรากหญ้าไม่มีกำลังซื้อ กระทั่งรัฐบาลต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบลด แลก แจกแถม มีโปรโมชั่นต่อเนื่อง แต่เศรษฐกิจฐานรากก็ยังไม่กระเตื้อง ล่าสุดรัฐบาลใหม่อัดเม็ดเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานรากอีกกว่า 3 แสนล้านบาทก็คงแค่ผ่อนหนักเป็นเบาในระยะสั้นๆ เท่านั้น

สิ่งที่น่ากังวลอย่างมากสำหรับประเทศไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเมื่อประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว นั่นแปลว่า คนแก่ที่ทำงานไม่ได้จะมากกว่า คนหนุ่มคนสาวในวัยทำงาน ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากสำหรับการพัฒนาประเทศ เพราะจะกลายเป็นว่า คนหนุ่มคนสาวซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยของประเทศจะต้องแบกรับ ภาระเลี้ยงดูคนแก่ที่ทำงานไม่ได้ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ สังคมไทยในยุคถัดจากนี้        ไม่กี่ปีจะเป็นสังคมแก่ก่อนรวย เป็นสังคมที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก

ทำให้บรรดากูรูเศรษฐศาสตร์ต่าง ฟันธง ชนิดที่ไม่ต้องกลัวธงหัก เศรษฐกิจไทยที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่แค่ชะลอตัว แต่อยู่ในภาวะที่แย่กว่าที่นึกลึกกว่าที่คิด

เมื่อหันมามอง ทีมเศรษฐกิจ รัฐบาลประยุทธ์ 2/1 ที่มาจากพรรคร่วมรัฐบาลที่ต่างก็มีนโยบายหาเสียงเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นแกนนำรัฐบาลอย่าง พรรคพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย กลับทำงานแบบ “เล่นดนตรีกันคนละคีย์” ต่างคนต่างทำเพื่อรักษาฐานเสียงของตัวเอง

แม้ว่ารัฐบาลพยายาม อุดจุดอ่อน-เสริมจุดแข็ง เรื่องทีมเศรษฐกิจโดยการตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ โดยให้ บิ๊กตู่-พล..ประยุทธ์ จันทร์-โอชา นั่งหัวโต๊ะหรือเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจไปในตัว เพื่อขับเคลื่อนมาตร-การและโครงการต่างๆ ของกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญที่อยู่ในมือของพรรค การเมืองร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงคมนาคม พาณิชย์, อุตสาหกรรม หรือ กระทรวงเกษตรฯให้เดินหน้าเป็น กอบเป็นกำ

แต่การณ์กลับไม่เป็นอย่างที่คาด ครม.เศรษฐกิจ กลับเปิดตัวไม่สวย โดยเห็นจากประชุมครั้งแรกเมื่อ 16 ส.ค.  62 ที่ผ่านมาก็เห็น รอยร้าวไม่เป็นเนื้อเดียวกัน แม้ว่า ครม.เศรษฐกิจจะเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วน 3.16 แสนล้านบาท เพื่อพยุงให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวไม่ได้น้อยกว่า 3% แต่เมื่อ ไปพิจารณารายละเอียดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะพบว่า มีการไม่ยอมกันระหว่างรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงต่างพรรคกันจนถึงนาทีสุดท้าย

ล่าสุด ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์รองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่าไม่ได้เป็นรองนายกฯ ที่คุมด้านเศรษฐกิจแล้ว หรือเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเป็นแค่รองนายกฯที่คุมกระทรวงเศรษฐกิจเพียง 4 กระทรวงเท่านั้น ต่างจากยุครัฐบาลทหารที่ดร.สมคิดกุมอำนาจการบริหารด้านเศรษฐกิจแบบเบ็ดเสร็จ ทำให้การดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจ ไม่มีเอกภาพ

ขณะที่ผลโพลที่ทำการสอบถามความคิดเห็นประชาชน โดยส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลสอบตกด้านนโยบายเศรษฐกิจ ผสานเข้ากับการประกาศไม่ได้เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลอีกแล้วของดร.สมคิดครั้งนี้

เชื่อว่าจะเป็นการซ้ำเติมความเชื่อมั่นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ประชาชนมีต่อรัฐบาล ยิ่งดิ่งเหวลงไปเรื่อยๆ..!?!



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ