ดึง ผู้ว่าฯ 77 จังหวัด ปั้นสินค้า ‘เอกลักษณ์’ ประจำท้องถิ่น

วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ดึง ผู้ว่าฯ 77 จังหวัด ปั้นสินค้า ‘เอกลักษณ์’ ประจำท้องถิ่น


น.ส.วันเพ็ญ นิโครวนจำรัส รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ จะทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อขอความร่วมมือในการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดเพื่อร่วมกันค้นหาสินค้ารายการใหม่ๆ ที่จะสนับสนุนให้เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้เพิ่มจำนวนสินค้า GI ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายของรัฐบาล

สำหรับการคณะกรรมการระดับจังหวัดที่ให้ผู้ว่าฯแต่งตั้ง ประกอบด้วย พาณิชย์จังหวัด เกษตรจังหวัด พัฒนาชุมชนจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด ประมงจังหวัด เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และผู้ผลิตสินค้าเข้ามาเป็นกรรมการ เพื่อร่วมกันค้นหา คัดเลือกสินค้ารายการใหม่ๆ เพื่อขึ้นทะเบียน GI คิดง่ายๆ ถ้าเพิ่มอีกแค่จังหวัดละ 1 รายการ ก็จะมีสินค้า GI เพิ่มขึ้นอีก 77 รายการ แต่กรมฯ คิดว่าน่าจะเพิ่มถึง 100 รายการ

น.ส.วันเพ็ญกล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าการขึ้นทะเบียนสินค้า GI ล่าสุดได้มีการขึ้นทะเบียน GI แล้ว 111 รายการ จาก 71 จังหวัด ยังเหลืออีกแค่ 6 จังหวัด ก็จะมีสินค้า GI ครบทุกจังหวัด โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประกาศโฆษณา 6 สินค้า เป็นของไทย 5 สินค้า คือ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองบางคล้า ฉะเชิงเทรา ผ้าไหมเก็บบ้านเมืองหลวง ศรีสะเกษ ปลาช่อนแม่ลา สิงห์บุรี ทุเรียนในวงระนอง แปจ่อเขียวแม่สอด ซึ่งในจำนวนนี้เป็นสินค้า GI ในจังหวัดที่ไม่เคยมี GI เลย 4 จังหวัด และเป็นของต่างประเทศ 1 สินค้า คือ กรานา พาดาโน อิตาลี ซึ่งหากไม่มีใครคัดค้าน น่าจะขึ้นทะเบียนได้ภายในเดือนก.ย.2562 นี้

ทั้งนี้ หากขึ้นทะเบียนเพิ่มอีก 5 สินค้า จะทำให้มีสินค้า GI เพิ่มเป็น 116 รายการ ใน 75 จังหวัด ทำให้เหลือเพียงแค่ 2 จังหวัด ที่ยังไม่มีสินค้า GI คือ ปทุมธานี ที่กำลังยื่นจดกล้วยหอมทองปทุม กับอ่างทองที่ยื่นจดกลองเอกราช โดยไม่น่าจะขึ้นทะเบียนทันในปีนี้ คาดว่าน่าจะขึ้นทะเบียนได้ในช่วงต้นปี 2563 เลยเป้าหมายการผลักดันโครงการ 1 จังหวัด 1 สินค้า GI ไปนิดหน่อย

น.ส.วันเพ็ญกล่าวอีกว่า กรมฯ ยังได้เดินหน้าขึ้นทะเบียน GI ในตลาดต่างประเทศ โดยได้เน้นในตลาดเป้าหมายที่นิยมสินค้า GI ของไทย ล่าสุดได้ยื่นจดทะเบียนในจีนเพิ่มอีก 2 สินค้าคือ มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี และทุเรียนปราจีนบุรี ในมาเลเซีย 3 สินค้าคือ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง และข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ เพื่อให้ความคุ้มครองสินค้าของไทย เพราะเป็นสินค้าที่ชาวจีนและชาวมาเลเซียนิยม

 

ปัจจุบันสินค้า GI ไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนในต่างประเทศแล้วมี 6 รายการ คือ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กาแฟดอยช้าง กาแฟดอยตุง และข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงในสหภาพยุโรป เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสานในเวียดนาม และผ้าไหมยกดอกลำพูนในอินโดนีเซียและอินเดีย และกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอในต่างประเทศ 8 รายการ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง มะขามหวานเพชรบูรณ์ในจีน กาแฟดอยตุงในกัมพูชาและญี่ปุ่น มะขามหวานเพชรบูรณ์ ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูนในเวียดนาม กาแฟดอยช้าง สับปะรดห้วยมุ่นในญี่ปุ่น

สำหรับมูลค่าตลาดสินค้า GI ของไทยในปัจจุบันมีประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งเป้าไว้จะผลักดันให้มีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 ล้านบาทต่อปี



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ