ชาวประมง “เกาะพะงัน” อ้าแขนรับแท่นปะการังเทียม

วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ชาวประมง “เกาะพะงัน” อ้าแขนรับแท่นปะการังเทียม


นับถอยหลังอีกไม่กี่ปีบริเวณอ่าวไทยที่มีสิ่งติดตั้งที่ใช้ประกอบกิจการปิโตรเลียมในทะเลเป็นจำนวนมาก ถึง 464 แท่น บางส่วนจะเริ่มทยอยสิ้นสุดอายุลง และจะต้องได้รับการรื้อถอน

และจากการพิจารณาสิ่งติดตั้งต่างๆ ทั้งด้านรูปทรง คุณสมบัติ รวมทั้งแผนงานการรื้อถอน พบว่า สิ่งติดตั้งที่มีความเป็นไปได้ในการนำมาทำเป็นปะการังเทียมในปัจจุบัน คือ เฉพาะส่วนของ “ขาแท่นของแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม” สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จึงได้ริเริ่มโครงการ “การศึกษาความเป็นไปได้ในการแปลงขาแท่นผลิตปิโตรเลียมเป็นปะการังเทียม”

โดยริเริ่มจากการสร้างศูนย์การเรียนรู้ทางทะเล ที่โรงเรียนบ้านโฉลกหลำ อำเภอเกาะพะงัน เป็นโครงการความร่วมมือที่ริเริ่มโดยสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ในประเทศไทย 8 บริษัท ได้แก่ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด, บริษัท มิตซุยออยล์เอ็กซ์โปลเรชั่น จำกัด, บริษัท เอ็กซอนโมบิล เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์ จำกัด, บริษัท ซีอีซี อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด (สาขาประเทศไทย) หรือ โคสตัล เอนเนอยี่ จ ากัด, บริษัท ซาลามานเดอร์ เอนเนอร์ยี่ (บัวหลวง) ลิมิเต็ด จำกัด, บริษัท เฮสส์ (ไทยแลนด์) จำกัด และ บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2555 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ครู นักเรียน และชุมชน มีสถานที่เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นแหล่งค้นหาความรู้ในด้านการอนุรักษ์ทะเลและพัฒนาพลังงานทางเลือก และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาคการศึกษา ชุมชน และภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการปลูกปะการัง เป็นต้น

จากนั้นเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2556 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือดำเนินโครงการศึกษาทดลองจัดสร้างปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็ก ในพื้นที่เกาะพะงัน จังหวัด สุราษฎร์ธานี เพื่อศึกษาวิจัยทดลองการจัดสร้างปะการังเทียมที่ทำจากโครงสร้างเหล็กเพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และทรัพยากรสัตว์น้ำ ลดปัญหาการรุกล้ำชายฝั่งของเรือประมงผิดกฎหมาย การจัดทำและจัดวางปะการังเทียม มีความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนที่จะเจริญเติบโตเป็นสัตว์เศรษฐกิจในอนาคต และปะการังเทียมยังเป็นแนวป้องกันการลักลอบทำการประมงด้วย เครื่องมือทำลายล้าง อวนลาก อวนรุน ในระบบนิเวศชายฝั่งทะเล

สำหรับโครงเหล็กจำลองขาแท่นปิโตรเลียมที่นำลงไปเป็นปะการังเทียม ทำมาจากวัสดุที่ใช้เป็น carbon steel เช่นเดียวกับขาแท่นผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย มีขนาด 12x12 เมตร สูง 8 เมตร จำนวน 4 แท่น น้ำหนักประมาณ 50-75 ตัน จัดวาง 2 จุดๆ ละ 2 แท่น บริเวณอ่าวโฉลกหลำ โดยมีระยะทางในแนวตั้งฉากจากชายหาดประมาณ 1 กิโลเมตร ที่ระดับความลึก 18-20 เมตร

ล่าสุด สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้นำคณะสื่อมวลชนไปติดตามผลการทดลองจัดสร้างปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็กขาแท่นปิโตรเลียมบริเวณอ่าวโฉลกหลำ รวมทั้งชาวประมงต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ตลอดระยะเวลา  5 ปีที่ผ่านมาการติดตามการดำเนินงานดังกล่าวไม่พบผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและ สิ่งแวดล้อม แต่กลับแสดงให้เห็นว่าโครงการดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งแล้ว ยังเป็นแหล่งประกอบอาชีพประมงและแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำที่สำคัญ เป็นการช่วยลดจำนวนนักดำน้ำออกจากพื้นที่ปะการังธรรมชาติได้ ทั้งยังช่วยสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ชายฝั่งทะเล อันเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งระหว่างชุมชนกับอุตสาหกรรมให้อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนได้อีกทางหนึ่งด้วย

โดย นายพงศักดิ์  หาญกล้า ผู้ใหญ่บ้านโฉลกหลำ เปิดเผยว่า หลังจากมีการวางปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็กขาแท่นปิโตรเลียมบริเวณอ่าวโฉลกหลำ จำนวน 4 แท่น ได้กลายเป็นที่อาศัยของปะการัง และมีทรัพยากรทางทะเลต่างๆ ตามมา วันนี้มีปลามาอาศัยเยอะมาก มีตัวใหญ่เพิ่มขึ้นจากเดิม ชาวประมงไม่ต้องออกไปหาปลาไกลๆ เหมือนที่ผ่านมา

ประการสำคัญชาวบ้านไม่ได้รับผลกระทบจากการวางปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็กแต่อย่างใด และยังมั่นใจด้วยว่าไม่มีสารปนเปื้อนจากขาแท่นปิโตรเลียมจำลองด้วย ดังนั้น จึงมีความต้องการให้ภาครัฐนำขาแท่นปิโตรเลียมขนาดใหญ่ 8 แท่นที่จะมาวางใหม่ห่างจากหินใบออกไปประมาณ 14 กิโลเมตรนั้น ควรตัดซอยออกเป็นตัวเล็กๆ แล้วนำมาวางเป็นแนวกันชนลักลอบทำการประมงพาณิชย์ระยะทางไม่เกิน 2 ไมล์ห่างจากชายฝั่ง เพื่อจะได้เป็นบ้านปลา เป็นแหล่งจับปลาของประมงพื้นบ้าน และแหล่งอาหารของชาวบ้านในอนาคตด้วย

“ถ้าจะมีการนำขาแท่นจริงมาวางเป็นปะการังเทียมในบริเวณนี้ ก็ยินดีเพื่อจะได้เป็นบ้านขนาดใหญ่ของปลา ของสัตว์น้ำต่างๆ เพราะจากการติดตามการวางปะการังเทียมที่ผ่านมาพบว่า โครงสร้างเหล็กขาแท่นปิโตรเลียมมีความเหมาะสมมากกว่าคอนกรีตที่มักจะแตกหัก ส่วนยางรถยนต์ พลาสติก ท่อพีวีซี ที่เคยใช้กัน ทางเราไม่รับมาสร้างเป็นปะการังเทียมแล้ว”

ด้าน นายประเสริฐ คงขน ประมงอำเภอเกาะพะงัน กล่าวว่า ชาวบ้านบนเกาะพะงันส่วนใหญ่มีอาชีพทำประมงพื้นบ้าน ทำสวน โดยมีเรือทำประมงพื้นบ้าน ประมาณ 300 ลำ เรือประมงพาณิชย์ 10 ลำ จากการวางปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็กขาแท่นปิโตรเลียมบริเวณอ่าวโฉลกหลำ 4 แท่น ได้ช่วยให้ชาวประมงพื้นบ้านหาปลาได้ง่ายมากขึ้น เวลาตกปลามีปลามากินเบ็ดมากขึ้น เมื่อได้ปลามากขึ้นเหลือกินก็เอาไปขายสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน อีกทั้งการวางปะการังเทียมยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวดึงดูดนักดำน้ำมาดำน้ำดูปะการัง ซึ่งแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเกาะพะงันมากถึงปีละ 1 ล้านคน

Mr. Stefan follows สถาบันคอร์ซี (Core Sea) ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ซึ่งมีที่ทำการอยู่บนบริเวณอ่าวโฉลกหลำ เกาะพะงัน กล่าวว่าหลังจากวางปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็กบริเวณอ่าวโฉลกหลำ คอร์ซีได้เข้าไปติดตามพบว่า มีปะการังอ่อนมาเกาะเต็มไปหมด มีแพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ ลูกสัตว์น้ำวัยอ่อน และลูกปลาวัยอ่อน ถือว่ามีความหลากหลายของสัตว์น้ำชนิดต่างๆ เข้ามาอาศัยอยู่บริเวณบางปะการังเทียม ปลาที่เคยหายไปก็กลับมา โดยปีที่ผ่านมาพบปลามาอาศัยอยู่มากถึง 24 ชนิดด้วยกัน

สอดคล้องกับนายภัทรชัย เรืองศรี ประธานกลุ่มดอกไม้ทะเลเพื่อการอนุรักษ์เกาะพะงัน เห็นว่า ตั้งแต่ปี 2556 มีการวางปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็กจากการติดตามการดำเนินงานช่วง 7 ปีที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จ และเห็นว่าเกาะพะงันมีความเหมาะสมสำหรับการจัดวางปะการังเทียมกลายเป็นบ้านปลา เป็นแหล่งหลบภัยและอนุบาลสัตว์น้ำ คืนความสมบูรณ์ให้กับท้องทะเล ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลังจากวางปะการังเทียมแล้วพบหอยแมลงภู่ขนาดใหญ่เข้ามาอาศัยอยู่ด้วย รวมถึงสัตว์ทะเลที่ไม่เคยเห็นก็เข้ามาอาศัยอย่างเช่น วาฬบลูด้า ฉลามวาฬ เป็นต้น

นายไพฑูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า การวางปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็กขาแท่นปิโตรเลียมนอกจากจะเป็นทำให้เกิดแหล่งอาหารของชาวบ้านแล้ว ยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ที่สำคัญขาแท่นปิโตรเลียมยังเป็นแนวป้องกันการลักลอบทำการประมงผิดกฎหมาย ป้องกันการทำลายระบบนิเวศชายฝั่งทะเลได้เป็นอย่างดี

ขณะที่นายจันทร์โชติ  พิริยะสถิตย์ ผู้จัดการ บริษัท โลตัสไดว์วิ่ง จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาการวางปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็กขาแท่นปิโตรเลียม ทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำที่สำคัญ และยังช่วยลดจำนวนนักดำน้ำออกจากพื้นที่ปะการังธรรมชาติได้อีกทางหนึ่งด้วย เพราะนักท่องเที่ยวเดินทางมาเกาะพะงันส่วนใหญ่มาดำน้ำดูปะการังใต้ท้องทะเลที่สวยงาม

“ในฐานะที่เราเป็นนักดำน้ำก็เห็นความสำคัญในการสร้างปะการังเทียมขนาดใหญ่จากแท่นปิโตรเลียม เพราะจะเป็นการสร้างแหล่งดำน้ำและแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ แห่งแรกของประเทศไทย แต่จุดที่วางควรดูความเหมาะสมสามารถบังคลื่นลมได้ และควรห่างฝั่งใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้นักดำน้ำจากเกาะพะงัน เกาะเต่า และเกาะสมุย ได้ใช้ประโยชน์ได้เต็มที่” นายจันทร์โชติ กล่าวทิ้งท้าย



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ